xs
xsm
sm
md
lg

“นาฬิกาวันสิ้นโลก” : ความเป็นมาและความเข้าใกล้หายนะ

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

เราทราบกันดีแล้วว่าระหว่างนักวิทยาศาสตร์กับสังคมทั่วไป มักจะมีปัญหาในการสื่อสารตลอดมา จะเรียกว่าพูดกันคนละภาษาก็ว่าได้ ทั้งๆ ที่อยู่ร่วมในสังคมเดียวกัน จะเป็นเพราะความยากของสาระที่จะสื่อหรือขาดทักษะในการสื่อสารของนักวิทยาศาสตร์ หรือความไม่ค่อยสนใจของสังคมโลกก็สุดแล้วแต่ ด้วยเหตุนี้นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งจึงได้ใช้สัญลักษณ์อย่างง่ายในการสื่อสารคือ “นาฬิกาวันสิ้นโลก (Doomsday Clock)” ซึ่งได้ทำมานานถึงเกือบ 70 ปีแล้ว แต่เชื่อว่าสังคมโลกยังไม่ค่อยรับรู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมไทย

ประเด็นสำคัญที่พวกนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งต้องการจะสื่อสารกับชาวโลกทั้งมวลก็คือ “ชาวโลกเราเข้าใกล้การทำลายอารยธรรมของเราด้วยเทคโนโลยีที่อันตรายที่เราสร้างขึ้นมาเองมากน้อยแค่ไหน” พวกเขาจึงได้ใช้สัญลักษณ์เป็นรูปนาฬิกา โดยบอกเวลาว่าเหลืออีกกี่นาทีจึงจะถึงเที่ยงคืน ถ้าเวลาที่เหลือน้อยแสดงว่า “วันสิ้นโลก” อยู่ใกล้มาก แต่ถ้าเหลือเวลามากก็แสดงว่าค่อยปลอดภัยหน่อย

คณะนักวิทยาศาสตร์ดังกล่าวมาจากการคัดสรรของคณะผู้จัดทำ “วารสารนักวิทยาศาสตร์ด้านอะตอม (Bulletin of the Atomic Scientists)” ซึ่งเป็นวารสารวิชาการที่ไม่เน้นด้านเทคนิค โดยวารสารนี้ได้เริ่มจัดตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1945 หลังจากที่สหรัฐอเมริกาได้นำระเบิดนิวเคลียร์ไปทิ้งที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ เมื่อเดือนสิงหาคม ปีเดียวกัน

นาฬิกาวันสิ้นโลก ได้ถูกประกาศเป็นครั้งแรกในปี 1947 โดยได้ตั้งนาฬิกาให้เข้มชี้อยู่ห่างจากเที่ยงคืนเพียง 7 นาที เกณฑ์ที่นักวิทยาศาสตร์นำมาใช้ในปีนั้น มีอย่างเดียวคือความเสี่ยงต่อการสิ้นโลกอันเนื่องมาจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์มาเข่นฆ่ากันระหว่าง 2 ประเทศมหาอำนาจในขณะนั้นคือสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตในขณะนั้น ขอย้ำว่ามีเพียงประเด็นเดียวเท่านั้นคืออาวุธนิวเคลียร์

ถ้าให้ผมตีความ การที่นักวิทยาศาสตร์ตั้งนาฬิกาให้โลกอยู่ห่างจากวันสิ้นโลกเพียง 7 นาที ในขณะนั้นเรายังไม่ทราบหรอกว่า มันมีความเสี่ยงหรืออยู่ใกล้วันสิ้นโลกมากน้อยแค่ไหน เพราะเพิ่งเป็นปีแรก ต่อมาในปี 1948 เข็มนาฬิกายังคงตั้งให้เท่าเดิม แต่ในปี 1949 เข็มนาฬิกาได้ถูกเลื่อนเข้าใกล้เที่ยงคืนเพียง 3 นาทีเท่านั้น แสดงว่าเวลาสิ้นโลกได้เพิ่มมากขึ้นกว่าสองเท่าตัว คือจาก 7 นาทีมาเหลือเพียง 3 นาที สาเหตุการเลื่อนเข้าใกล้หายนะมากขึ้นเกิดจากการทดลองระเบิดอะตอมเป็นครั้งแรกของสหภาพโซเวียตรัสเซีย

นับตั้งแต่ใช้สัญลักษณ์นาฬิกาวันสิ้นโลกมาเกือบครบ 70 ปี ระยะเวลาที่ใกล้วันสิ้นโลกมากที่สุดคือ 2 นาทีซึ่งเกิดขึ้นในปี 1953 ที่ทั้งสองมหาอำนาจโลกได้ทดลองระเบิดนิวเคลียร์ที่ใช้ความร้อน (Thermonuclear devices- การสื่อสารมีปัญหาอีกแล้ว!)

ระยะห่างที่สุดของนาฬิกาวันสิ้นโลกที่ทำให้ชาวโลก “โล่งอก” มากที่สุดเกิดขึ้นในปี 1991 (พ.ศ. 2534) คือ 17 นาที เพราะมหาอำนาจโลกทั้งสองได้ลงนามลดอาวุธทางยุทธศาสตร์และสหภาพโซเวียตล่มสลายแยกตัวออกเป็นหลายประเทศ จึงถือเป็นการสิ้นสุดสงครามเย็น

ช่วงสงครามเย็นเกิดขึ้นในช่วงปี 1949 ถึง 1990 ในช่วงนั้นมีการเกรงกันว่าจะเกิดสงครามนิวเคลียร์ซึ่งมีผู้ให้นิยามว่า “เป็นสงครามที่ไม่มีผู้ชนะ” เพราะแต่ละฝ่ายก็มีอำนาจในการทำลายล้างได้พอๆ กัน แต่ภัยพิบัติสามารถอยู่ได้นานนับร้อยนับหมื่นปีเพราะรังสีของมันสามารถเปลี่ยนดีเอ็นเอของมนุษย์ได้

สำหรับปริมาณอาวุธนิวเคลียร์ที่ประเทศต่างๆ ได้สะสมไว้ ผมได้นำมาเสนอเป็นแผ่นภาพในที่นี้แล้ว

สำหรับในช่วง 2 ปีสุดท้ายคือปี 2015 และ 2016 ความเสี่ยงจากวันสิ้นโลกอยู่ที่ 3 นาทีซึ่งเท่ากับของปี 1984 ซึ่งเป็นปีที่การเจรจาเพื่อลดกำลังอาวุธระหว่าง 2 มหาอำนาจได้มาถึงทางตัน (dead lock)

ผมได้นำภาพ “เส้นเวลา” ของวันดังกล่าวตลอด 70 ปีที่ผ่านมา มาลงให้ดูด้วย ท่านใดที่อยากลงในรายละเอียดก็เชิญค้นคว้ากันต่อไปนะครับ

ประเด็นที่ชวนให้คิดก็คือ ทั้งๆ ที่การสะสมอาวุธนิวเคลียร์ได้ลดลงมาตามลำดับ แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้เลื่อนเข็มนาฬิกาวันสิ้นโลกให้ห่างออกมาจากเที่ยงคืน อันเป็นสัญลักษณ์ความปลอดภัยของชาวโลก แต่ในทางตรงกันข้าม กลับตั้งให้เข้าใกล้อันตรายมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี 1995 เป็นต้นมา มียกเว้นเพียงปีเดียวเท่านั้นคือปี 2010

ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า นักวิทยาศาสตร์ได้นำเอาปัจจัย “เทคโนโลยีด้านพลังงานฟอสซิล” ซึ่งได้แก่การเผาถ่านหินในโรงไฟฟ้าในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่สอง (เริ่มต้น ค.ศ. 1870 เป็นต้นมา) มาเป็นสาเหตุที่นำไปสู่วันสิ้นโลกด้วย แทนที่จะเป็นปัจจัยเรื่องอาวุธนิวเคลียร์เพียงอย่างเดียวอย่างแต่ก่อน เพราะปัจจัยดังกล่าวได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เท่าที่ผมได้สืบค้น ยังไม่พบความชัดเจนว่า ประเด็นด้านโลกร้อนได้ถูกนับมาเป็นปัจจัยตั้งแต่ปีใดกันแน่ แต่นักวิทยาศาสตร์ได้เริ่มวัดความเข้มข้นของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 50 โดยในปี 2007 นาฬิกาวันสิ้นโลกได้ถูกกำหนดให้อยู่ห่างจากเที่ยงคืนเพียง 5 นาที พร้อมด้วยข้อความประกอบคำอธิบายว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง” พร้อมด้วยภาพควันโขมงออกจากปล่องควัน ดังภาพ (ซึ่งรวมถึงปี 2015 และ 2016 ด้วย)

ในการแถลงข่าวเรื่องการปรับนาฬิกาครั้งล่าสุด (มกราคม 2016) ได้กล่าวถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับวันสิ้นโลก 3 ประเภท คือ (1) อาวุธนิวเคลียร์ (2) เทคโนโลยีพลังงานที่ส่งผลต่อโลกร้อน และ (3) เทคโนโลยีที่เกิดใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมและคอมพิวเตอร์ซึ่งถูกจัดให้เป็น “การทำลายอารยธรรมของเราด้วยเทคโนโลยีที่อันตราย” (ผมเองยังไม่ค่อยมีความรู้ในเรื่องคอมพิวเตอร์ แต่ก็พอจะนึกภาพออกว่าอะไรจะเกิดขึ้น)

กลับมาที่เรื่องโลกร้อนซึ่งเป็น 1 ใน 3 ปัจจัยที่จำนำไปสู่วันสิ้นโลกอีกครั้งครับ

เมื่อพูดถึงภัยที่เกิดจากโลกร้อน คนส่วนใหญ่มักจะคิดถึงอากาศแปรปรวนสุดขั้ว การเกิดพายุ คลื่นใหญ่ลมแรง ภัยแล้ง และน้ำท่วมบ่อยขึ้น เป็นต้น ซึ่งเป็นภัยที่เราสามารถมองเห็นได้โดยตรงและชัดเจน แต่ผลกระทบที่ต่อเนื่องไปจากนี้อาจจะเป็นเรื่องที่ยากต่อการทำความเข้าใจและไม่ชัดเจน เช่น โรคระบาดที่เกิดจากการได้หรือเสียประโยชน์จากการเสียสมดุลของระบบธรรมชาติ เป็นต้น

นักการสื่อสารบางกลุ่มเคยรณรงค์อย่างง่ายๆ ว่า “กรณีโลกร้อนคนไม่ชอบแต่ยุงชอบ” เมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว มีการระบาดของโรคชิคุนกุนยา ซึ่งเกิดจากยุงได้ระบาดอย่างรุนแรงในหลายจังหวัดภาคใต้ของไทย บางหมู่บ้านเป็นกันหมดทุกคน เพื่อนผมเองหลายคนก็เป็น แม้ไม่ถึงกับเสียชีวิตแต่ก็สร้างความทุกข์ทรมานจากการเจ็บปวด

โรคไวรัสซิกา (Zica) ซึ่งเกิดจากยุงลายกำลังระบาดอย่างรุนแรงและรวดเร็วมากในแถบอเมริกาใต้ แม้จะไม่ถึงกับทำให้เสียชีวิต แต่ทารกที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้ออาจจะเป็นโรคศีรษะเล็ก สมองเล็ก ซึ่งจะส่งผลกระทบทางสังคมต่อไปเป็นลูกโซ่

เมื่อสัปดาห์ก่อนที่ประเทศไทยตอนบนประสบกับอากาศหนาวอย่างรุนแรง ภาคใต้ประสบกับคลื่นใหญ่ลมแรงตลอดชายฝั่ง บางพื้นที่ฝนตกหนัก ชายวัย 47 ปีคนหนึ่งออกหาปลาในพื้นที่ถูกน้ำท่วม เนื่องจากร่างกายมีแผลอยู่ เขาจึงได้รับเชื้อที่เรียกว่า “โรคฉี่หนู” (โลกร้อนทำให้หนูระบาดได้ง่ายขึ้น)

สิ่งที่นำความรู้สึกเศร้าสำหรับผมก็คือ ชายผู้นี้เป็นคนใบ้ ภรรยาของเขาก็เป็นคนใบ้เช่นกัน เขาปฏิเสธการไปโรงพยาบาลอย่างรุนแรง ไม่ทราบเป็นเพราะความไม่รู้หรือความยากจน แต่เมื่อเขาหมดสภาพลูกๆ (ซึ่งเป็นคนปกติ) กับเพื่อนๆ ก็ช่วยกันหามส่งโรงพยาบาล แต่ก็สายเกินไปจึงต้องเสียชีวิตในที่สุด ทั้งๆ ที่โรคฉี่หนูสามารถรักษาให้หายได้ ผมทราบเรื่องนี้จากคำบอกเล่าหลานชายของผมเองซึ่งเป็นผู้อุ้มผู้ป่วยซึ่งเป็นพ่อของเพื่อนไปส่งโรงพยาบาล

เรื่องราวที่นำชายพิการผู้นี้มาจบชีวิตอย่างที่ไม่ควรจะเป็นนี้ เป็นกระบวนการที่ผมเรียกว่า “โลกที่ซับซ้อน” ซึ่งเป็นชื่อคอลัมน์นี้

เป็นกระบวนการที่เกิดจากโลกร้อนที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาทำลายอารยธรรมของตนเอง ชายพิการที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างดีพอจากรัฐ ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการสังคมและการศึกษาต้องมารับผลกระทบ คนจำนวนมากอาจจะคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องบังเอิญ แต่สำหรับผมคิดว่าเป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งของระบบที่ซับซ้อน ถ้าจะแก้ปัญหาอย่างถาวรต้องมุ่งการแก้ที่ต้นเหตุ คือระบบครับ

ในคำประกาศประจำปี 2016 ตอนหนึ่งกล่าวว่า “ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะต้องลดลงอย่างรวดเร็ว ...ถ้าชาวโลกต้องการจะหลีกหนีผลกระทบที่รุนแรงและการแพร่ในวงกว้าง”

และอีกตอนหนึ่งความว่า “เพราะว่าผู้นำโลกประสบกับความล้มเหลวที่จะก้าวผ่านขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อปกป้องพลเมืองจากหลุมฝังศพของสงครามนิวเคลียร์ และหนีออกจากต้นเหตุของปัญหาโลกร้อน”

สุดท้ายซึ่งเป็นข้อสรุปของผมเองก็คือ ตามข้อตกลงปารีสที่ประเทศต่างๆ ได้ตั้งใจและประกาศ (เมื่อปลายปี 2015) ให้ชาวโลกได้รับรู้ว่า จะช่วยกันลดการปล่อยก๊าซจำนวนเท่านั้นเท่านี้ ถ้ามีการปฏิบัติจริงตามนั้น ก็ยังไม่พอเพียงที่จะลดอุณหภูมิของลงมาเหลือไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสในปี 2100 ได้ แต่จะได้เพียง 3.6 องศาเซลเซียส ดังภาพประกอบ

เมื่อผู้นำโลกต่างก็ล้มเหลวในการทำหน้าที่เพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติ จึงเป็นหน้าที่ของพลเมืองทั่วโลกที่จะต้องทำเอง ซึ่งผมขอยืนยันในที่นี้อีกครั้งว่า ภาคพลเมืองโลกไม่มีทางโดดเดี่ยว แต่กำลังเติบใหญ่ทั้งทางคุณภาพและปริมาณทั่วโลก ช่วยกันครับ ให้กำลังใจกัน อย่าย่อท้อและประมาทครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น