อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและบริหารความเสี่ยง สาขาวิชาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
http://as.nida.ac.th/th/
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและบริหารความเสี่ยง สาขาวิชาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
http://as.nida.ac.th/th/
ปัญหาภัยแล้งปีนี้รุนแรงมาก ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักไม่ว่าจะเป็นเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ ต่างมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำไม่ถึง 10% ตั้งแต่เดือนมกราคม ทำให้เกิดการห้ามเกษตรกรทำนาหรือปลูกพืชที่ใช้น้ำมาก ทำให้เกษตรกรเดือดร้อน เพราะน้ำในเขื่อนนั้นต้องสงวนไว้สำหรับการอุปโภคบริโภคและการพยุงรักษาระบบนิเวศน์ โดยเฉพาะการไล่น้ำเค็มไหลย้อนจากอ่าวไทยของลุ่มน้ำเจ้าพระยา สิ่งที่คาดการณ์ได้คือจะเกิดความขัดแย้ง การลักลอบสูบน้ำ หรือสงครามแย่งชิงน้ำระหว่างชุมชนหรือชาวบ้าน ซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่ ในสมัยพุทธกาลเหล่ากษัตริย์ทางศากยวงศ์ทางฝ่ายพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา และเหล่ากษัตริย์ทางโกลิยวงศ์ ทางพระฝ่ายพระนางสิริมหามายา พระพุทธมารดา เคยทะเลาะกันแย่งน้ำในแม่น้ำโรหิณีเนื่องจากภัยแล้ง แทบจะเป็นศึกสงครามกันจนพระพุทธเจ้าทราบด้วยทิพยญาณต้องออกมาห้ามญาติทั้งสองฝ่ายให้ตกลงเจรจากัน ซึ่งเป็นตำนานที่มาของพระพุทธรูปปางห้ามญาติ
ปีนี้ภัยแล้งหนักมากและการที่ชาวบ้านหรือเกษตรกรไม่สามารถเพาะปลูกได้ ทำให้ขาดรายได้ ภาวะเศรษฐกิจจะแย่ลง ในขณะเดียวก็ถ่างความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคมเมืองกับสังคมชนบทให้ห่างออกไปมากขึ้น ประชาชนในชนบทที่ทำเกษตรกรรมต่างก็รู้สึกไม่พอใจว่าทำไมต้องสงวนน้ำในเขื่อนไว้สำหรับคนเมืองทำน้ำประปา อาจจะเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสังคมเมืองและสังคมชนบทได้ แทบจะไม่ต่างกับสมัยพุทธกาล ปัญหาเรื่องน้ำเหล่านี้ต้องแก้ไขโดยด่วนเพื่อความอยู่รอดของประเทศไทย ลดความแตกแยกในสังคมลง ซึ่งมีหลายอย่างที่ควรต้องทำเช่น
1. ขุดลอกเขื่อนต่างๆ และอ่างเก็บน้ำต่างๆ ในประเทศไทยนั้น เมื่อน้ำแห้งเพราะแล้งขนาดนี้ก็ควรเป็นโอกาสที่จะขุดลอกให้ลึก เพราะตะกอนและทรายที่ทับถมมายาวนานทำให้ตื้นเขิน กักเก็บน้ำไม่ได้เต็มที่เมื่อน้ำมา บึงบอระเพ็ดนั้นหากขุดลอกให้ดีจะเป็นแก้มลิงแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่างได้ในขณะเดียวกันก็กักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้ดีที่สุด การขุดลอกเหล่านี้เป็นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ช่วยสร้างงาน ทำให้เกิดการกระจายรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย นอกจากนี้ควรขุดลอกบ่อน้ำ อ่างน้ำอื่นๆ และฉาบไล้ด้วยน้ำยางพารา ที่กำลังราคาตกต่ำด้วยเพื่อป้องกันการซึมลงดินทำให้ประหยัดน้ำลงได้ ทั้งหมดเป็นการเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส
2. ปรับปรุงระบบส่งน้ำประปาในทุกแห่งไม่ให้รั่วไหล ระบบการส่งน้ำประปานั้นสามารถตรวจสอบว่ามีการรั่วไหลได้โดยง่าย คือวัดปริมาณน้ำที่ส่งออกจากโรงกรองน้ำหักออกด้วยปริมาณน้ำที่เก็บจากครัวเรือน หน่วยราชการ อุตสาหกรรม และเอกชน โดยธรรมชาตินั้นการรั่วไหลของน้ำประปานั้นมีค่อนข้างมาก (ถ้าเทียบกับการรั่วไหลของระบบไฟฟ้า) เนื่องจากมีการรั่วซึมได้ง่าย อยู่ใต้ดินและมองไม่เห็น ตรวจสอบได้ยากว่ารั่วไหลไปณ จุดใด เท่าที่ทราบ การประปาในบางจังหวัด เช่น จังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศไทย มีอัตราการรั่วไหลของน้ำประปาจากโรงกรองน้ำหายไประหว่างทางกว่า 25% ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองเปล่า หากแก้ปัญหานี้ได้น่าจะช่วยประหยัดน้ำลงไปได้มากและควรดำเนินการอย่างเร่งด่วน
3. ควรจ่ายน้ำประปาเป็นบางเวลาหรือลดแรงดันน้ำลงในเขตเมือง เพื่อให้คนในเขตเมือง ได้ตื่นตัวและเข้าใจว่าประเทศกำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ จะทำให้ลดความเหลื่อมล้ำแตกแยกระหว่างสังคมเมืองและสังคมชนบท เป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขของคนไทยด้วยกัน
4. จำกัดการให้บริการของกิจการที่เปลืองน้ำและไม่จำเป็น เช่น สนามกอล์ฟ หรือ อาบอบนวด
5. การคิดค่าน้ำประปาควรมีต้นทุนผันแปร (Variable Cost) โดยเฉพาะต้นทุนในการหาน้ำดิบ ในช่วงวิกฤติน้ำแล้งนั้นค่าน้ำประปาจากคนในเมืองนั้น โดยเฉพาะเขตภาคกลางตอนล่างควรสูงขึ้น เพราะชาวชนบท เกษตรกร ชาวนา ได้เสียสละงดทำนา รัฐจำเป็นต้องชดเชยให้ชาวนา เกษตรกรที่ไม่สามารถเพาะปลูกได้ ทั้งนี้ ค่าน้ำประปาที่เก็บเพิ่มขึ้นนั้นควรทำเป็นการชั่วคราวเท่านั้น เช่น ปริมาณน้ำสำรองในเขื่อนหลักของประเทศ มีน้อยเกินกว่าร้อยละ 20 ควรจะเริ่มเก็บต้นทุนผันแปรนี้ เพิ่มราคาน้ำประปา และนำเงินส่วนที่เก็บได้ไปตั้งกองทุนเพื่อช่วยจ่ายชดเชยให้ชาวนาและเกษตรกร จะช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ทำให้ใช้น้ำกันอย่างประหยัดมากขึ้น ช่วยบรรเทาความเหลื่อมล้ำและความแตกแยกระหว่างสังคมเมืองและสังคมชนบท
สำหรับระยะยาวควรมีการแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานหลายอย่างเช่น
1. แก้ปัญหาการทำไร่ข้าวโพดบนพื้นที่ป่าต้นน้ำ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาภัยแล้งและหมอกควัน โดยเฉพาะในพื้นที่สูงทางภาคเหนือ และต้องแก้ปัญหาการบุกรุกที่ป่าสงวน อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตลอดจนพื้นที่ป่าชุมชนอื่นๆ ด้วย
2. ในอนาคต อาจจะมีความจำเป็นต้องผันน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านมาใช้ ซึ่งต้องมีการวางโครงสร้างพื้นฐานให้ดีพอและต้องปรับปรุงการจัดส่งน้ำในระบบชลประทานให้ทั่วถึงและลดการรั่วไหลไประหว่างทางด้วยเช่นกัน
3. ต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตร พันธุ์พืชที่ประหยัดน้ำ ซึ่งประเทศไทยก็ได้มีการพัฒนามาแล้วบ้างเช่น ระบบน้ำหยด ควรเร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวหรือพันธุ์พืชหลักที่สามารถปลูกโดยใช้น้ำน้อย แต่ได้ผลผลิตสูง งานวิจัยเหล่านี้ต้องส่งเสริมรองรับอนาคต
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อเสนอที่ต้องนำไปขบคิดวิเคราะห์และช่วยกันหาทางออกให้ประเทศไทยร่วมกัน และรัฐบาลควรต้องทำงานอย่างหนักเพื่อแก้ปัญหาใหญ่เรื่องนี้