xs
xsm
sm
md
lg

ค้านบัตรเลือกตั้งใบเดียว ไม่สนองผู้ใช้สิทธิ-จี้ทบทวน6ข้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกาสภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในฐานะ อดีตโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญ ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า ในเรื่องระบบการเลือกตั้ง ส.ส. มี 4 ประเด็นคือ
1. จำนวนส.ส. 500 คน แบ่งเป็นส.ส.เขต 350 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน ถือเป็นจำนวนที่มีความเหมาะสมแล้ว
2. การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวในระบบที่เรียกว่า ระบบ“จัดสรรปันส่วนผสม”พบว่ามีจุดอ่อน ดังนี้
2.1 ผู้ที่กาเลือกส.ส.เขต อาจไม่ได้สนับสนุนพรรคของคนนี้ แต่มีความต้องการเลือกพรรคอื่นเพื่อให้ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่ม ซึ่งไม่สามารถกระทำได้ 2.2 ทำให้พรรคที่ส่งส.ส.เขตจำนวนน้อยเสียเปรียบ เพราะไม่มีโอกาสได้คะแนนจากเขตที่ไม่ได้ส่งส.ส.เขต ซึ่งส่วนใหญ่พรรคขนาดเล็ก และพรรคขนาดกลาง ส่งส.ส.เขต แค่ 10-50 คนเท่านั้น แต่หากให้กาบัตรสองใบ จะไม่เกิดปัญหานี้ 2.3 ระบบการคิดคะแนนแบบสัดส่วนผสม ที่ใช้อยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก 9 ประเทศ ซึ่งใช้ในการคำนวณหาจำนวนส.ส. แบบบัญชีรายชื่อในร่างรัฐธรรมนูญนี้ จะใช้แบบบัตรลงคะแนน 2 ใบทั้งสิ้น ดังนั้น ถ้าแบบใช้บัตรเดียวมีข้อดีจริงๆ มากกว่าแบบใช้ 2 บัตร ตามที่อ้างไว้ เช่น ผู้ใช้สิทธิเข้าใจง่าย บัตรเสียน้อยลง และประหยัดงบประมาณการจัดเลือกตั้ง ก็เชื่อว่าคงมีการนำไปใช้กันบ้างแล้วในการเลือกตั้งบางประเทศ ถึงแม้จะมีใช้อยู่ในเมืองเล็กๆ หนึ่งเมืองของประเทศเยอรมนีเท่านั้น
3.การคิดคะแนน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อในประเทศที่ใช้ระบบสัดส่วนผสมนี้ ส่วนใหญ่กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำไว้ร้อยละ 3-5 ที่พรรคจะต้องได้เสียงจากผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง จึงจะนำมารวมคำนวณหาจำนวนส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ทั้งนี้เพื่อมิให้มีพรรคเล็กๆที่มี ส.ส. เพียงไม่กี่คน มากเกินไป โดยถ้าไม่กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำเลย ก็อาจมีพรรคที่มี ส.ส.เพียง 1 คนหลายพรรคได้ ซึ่งไม่เป็นการส่งเสริมความเข้มแข็งของพรรคการเมือง
4.การคิดคำนวณจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อใหม่ หากมี ส.ส. แบบแบ่งเขต ถูกให้พ้นจากตำแหน่งเพราะต่อมาพบว่าทุจริต เป็นวิธีที่ไม่น่าจะเหมาะสมทั้งนี้ เพราะผู้ที่อาจพ้นจากความเป็น ส.ส. อาจมาจากพรรคที่ไม่ได้มี ส.ส. โดนออกเพราะทุจริตก็ได้
ด้าน นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็มีจุดอ่อนอยู่หลายจุด และอย่างน้อย 6 ประเด็น ต้องได้รับการทบทวนปรับปรุง คือ
1. ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือใบเลือกตั้งใบเดียว เป็นระบบที่มีจุดบอด และบิดเบือนเจตนารมย์ของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
2. สิทธิและการมีส่วนร่วมของประชาชนอ่อนกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 40 และฉบับปี 50 อยู่มากทีเดียว ทั้งสิทธิผู้ด้อยโอกาส คนพิการ แรงงาน ผู้บริโภค และการมีส่วนร่วมของประชานหดหายไปเยอะ
3. รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ที่รัฐต้องถือหุ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 51 ในรัฐธรรมนูญปี 50 ถูกตัดทิ้งออกไปหมด ซึ่งอาจเปิดช่องให้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เปิดทางให้นายทุนเเข้ามาครอบครองในที่สุด
4. เพิ่มอำนาจองค์กรอิสระมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆ มา แต่ไม่ได้วางมาตรการในการสรรหาที่โปร่งใส ชอบธรรม และการกำกับตรวจสอบองค์กรเหล่านี้ได้ ของประชาชน
5. การกระจายอำนาจและการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เนื้อหาอ่อนกว่าร่างรัฐธรรมนูญของ อ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ถูกคว่ำไป
6.ไม่มีกลไกขับเคลื่อนเรื่องปรองดองที่ชัดเจน ทั้งที่เป็น 1 ใน 6 หลักการสำคัญ ของการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ตั้งแต่แรก
" ผมยังเชื่อว่า กรธ.จะทบทวนปรับปรุงเนื้อหาให้ดีขึ้น และอยากให้ทุกฝ่ายเสนอแนะ โดยเอาเป้าหมายการปฏิรูปเป็นตัวตั้ง ทั้งนี้ในส่วนของสถาบันปฏิรูปประเทศไทย ม.รังสิต จะร่วมกับกลุ่มนักวิชาการสยามประชาภิวัฒน์ และเครือข่ายประชาสังคม จัดวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญเวทีแรก ในวันที่ 5 ก.พ. เวลา 13.00 น. ที่สถาบันพัฒนบัณฑิตบริหารศาตร์ หรือ นิด้า
กำลังโหลดความคิดเห็น