xs
xsm
sm
md
lg

“ยะใส” แนะ เท่าทันวิจารณ์ รธน.เพื่ออะไร มอง 6 จุดอ่อน เชื่อ กรธ.ปรับให้ดีขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (แฟ้มภาพ)
“สุริยะใส” แนะ ดูกระแสวิจารณ์ รธน. ให้เท่าทัน ทำเพื่อให้ดีขึ้นหรือมีเป้าอื่น มอง 6 จุดอ่อน รธน. เลือกใบเดียวบิดเบือนเจตนารมณ์ ปชช. อ่อนเรื่องการมีส่วนร่วม - ลดเหลื่อมล้ำ เปิดช่องฮุบรัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระไม่มีการสอบโปร่งใส ไร้แผนขับเคลื่อนปรองดองที่ชัดเจน แต่เชื่อ กรธ. ปรับให้ดีขึ้น 5 ก.พ. นัดวิพากษ์ รธน.

วันนี้ (31 ม.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) แสดงความเห็นถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญในขณะนี้มีหลากหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์ด้วยเจตนาอยากปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญให้ดีขึ้นกว่าเดิม และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปจริง ๆ และกลุ่มการเมืองที่มองร่างรัฐธรรมนูญเฉพาะส่วนที่ตัวเองมีส่วนได้ส่วนเสีย อีกกลุ่มจะเป็นกลุ่มที่ตั้งธงคว่ำร่างไว้ก่อนแล้ว และพยายามขยายจุดอ่อนของร่างไป เพื่อจุดมุ่งหมายบางอย่างทางการเมือง ฉะนั้น สังคมต้องพิจารณากระแสวิพากษ์ร่างอย่างรู้เท่าทัน เพื่อไม่ไปอยู่ในเกมปลุกปั่นบางอย่างจนเลยเถิดและไม่นำไปสู่การปฏิรูปประเทศแต่อย่างใด

นายสุริยะใส ระบุว่า อย่างไรก็ตาม ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็มีจุดอ่อนอยู่หลายจุดหลายประเด็นอย่างน้อย 6 ประเด็น ต้องได้รับการทบทวนปรับปรุงดังนี้ ประเด็นแรก ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือใบเลือกตั้งใบเดียว เป็นระบบที่มีจุดบอดและบิดเบือนเจตนารมณ์ของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

ประเด็นที่ 2 สิทธิและการมีส่วนร่วมของประชาชนอ่อนกว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และฉบับ 2550 อยู่มากทีเดียว ทั้งสิทธิผู้ด้อยโอกาส คนพิการ แรงงาน ผู้บริโภค และการมีส่วนร่วมของประชานหดหายไปเยอะ เช่น หลักการในมาตรา 190 การทำสนธิสัญญาหรือข้อตกลงต่างประเทศก็ถูกกันออกไป

ประเด็นที่ 3 รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ที่รัฐต้องถือหุ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 51 ในรัฐธรรมนูญ 2550 ถูกตัดทิ้งออกไปหมด ซึ่งอาจเปิดช่องให้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเปิดทางให้นายทุนเข้ามาครอบครองในที่สุด

ประเด็นที่ 4 เพิ่มอำนาจองค์กรอิสระมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่าน ๆ มา แต่ไม่ได้วางมาตรการในการสรรหาที่โปร่งใส ชอบธรรม และการกำกับตรวจสอบองค์กรเหล่านี้ได้ของประชาชน

ประเด็นที่ 5 ประเด็นการกระจายอำนาจและการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเนื้อหาอ่อนกว่าร่างรัฐธรรมนูญของ อ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ถูกคว่ำไป

ประเด็นที่ 6 ไม่มีกลไกขับเคลื่อนเรื่องปรองดองที่ชัดเจน ทั้งที่เป็น 1 ใน 6 หลักการสำคัญของการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตั้งแต่แรก

นายสุริยะใส ระบุอีกว่า ยังเชื่อว่า คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญจะทบทวนปรับปรุงเนื้อหาให้ดีขึ้น และอยากให้ทุกฝ่ายเสนอแนะโดยเอาเป้าหมายการปฏิรูปเป็นตัวตั้ง ทั้งนี้ ในส่วนของสถาบันปฏิรูปประเทศไทย ม.รังสิต จะร่วมกับกลุ่มนักวิชาการสยามประชาภิวัฒน์ และเครือข่ายประชาสังคมจัดวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญเวทีแรกในวันที่ 5 กุมถาพันธ์ เวลา 13.00 น ที่สถาบันพัฒนบัณฑิตบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า


กำลังโหลดความคิดเห็น