ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ข่าว นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ในวัย 60 ปี อดีตนายกลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ 7 สมัย พลิกล็อกตกเก้าอี้แบบไม่ทันตั้งตัว เมื่อเสียตำแหน่งสมัยที่ 8 ให้กับนายสมบัติ เอื้อมมงคล อดีตนักเทนนิสทีมชาติไทย ไปแบบขาดลอย 35-19 เสียง เกินครึ่งจากสมาชิกที่มาประชุม 60 สโมสร จากทั้งหมดที่มีอยู่ 62 สโมสร ถือว่ามีผลกระทบในบทบาทหน้าที่ในแวดวงกีฬาในประเทศไทยอยู่บ้าง แต่เพราะนายสุวัจน์ ยังคงตำแหน่ง ในฐานะ “รองประธานสหพันธ์เทนนิสแห่งเอเชีย (เอทีเอฟ)” ที่ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นบอร์ดในอันดับที่ 7 จำนวน 248 คะแนน จากทั้งหมด 333 คะแนน ซึ่งเป็นคนเดียวของเอเชียที่ได้รับเลือก เมื่อปี 2554
และต่อมาปี 2557 ก็ได้รับเลือกอีกสมัย จากการประชุมใหญ่ ประจำปี 2015 ของสหพันธ์ ที่กรุงโคลอมโบ ประเทศศรีลังกา ตามวาระบริหาร 2015-2017 (2558-2560) ชื่อ นายสุวัจน์ ก็ยัง ปรากฎอยู่ในบอร์ดบริหารชุดใหม่ ในตำแหน่ง “รองประธาน อาวุโส ของสหพันธ์เทนนิสแห่งเอเชีย” จากวาระที่แล้ว ซึ่งเป็นรองประธานของสหพันธ์ และยังทำหน้าที่ควบคุมดูแลและพัฒนากีฬาเทนนิสในเซาท์อีสเอเชีย หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เหมือนเดิม
ตกเก้าอี้ในประเทศ ย่อมมีผลกระทบน้อยกว่านอกประเทศที่ยังมีตำแหน่งใหญ่โต
ที่แน่ๆ ผลกระทบทางอ้อมใน “การเมือง” ในส่วนของคะแนนนิยม ความเชื่อมั่น และอนาคตทางการเมือง ตลอดหลายปีตั้งแต่ ถูกตัดสิทธิเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี (จากการยุบพรรคไทยรักไทย)ที่นายสุวัจน์ ไม่ได้เข้ามาสู่ถนนการเมือง เขามุ่งสู่ประตูกีฬาของชาติ ที่เห็นชัดๆ ตั้งแต่สมัยได้นั่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี(สมัยรัฐบาลไทยรักไทย) ด้านกีฬา กำกับกองทุนกีฬา เกี่ยวพันกับสมาคมกีฬาต่าง ๆ ที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ “ลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์”แถมยังมีตำแหน่งเป็นรองประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย อีกด้วย
เขาเข้ามาในวงการเทนนิส มานานมาก ตั้งแต่ ยังเป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวงในอดีต การเข้ามานั่งเป็น “อุปนายก” ครั้งแรกในวาระปี 2541-2543 เป็นอีกครั้งในวาระปี 2543-2545 และสมัยที่ 3 ก็ก้าวขึ้นสู่ “ประมุขเทนนิสไทย นั่ง“นายกลอนเทนนิสฯ ถึง 7 สมัย วาระปี 2544-2546 วาระปี 2547-2549 วาระปี 2550-2552 วาระปี 2553-2555 และวาระปี 2556-2558 แต่มา ตกม้าตายในครั้งที่ 8 นี่เอง
นอกจากนั้นในสมัยหนึ่งเขายังเคยเป็น “ที่ปรึกษานายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย” ถึงกับดัน “พสุ ลิปตพัลลภ” บุตรชาย นั่งแท่น “ผู้จัดการทีมชาติไทยชุดใหญ่”มาแล้ว
ผลจาก การพลิกล็อกตกเก้าอี้แบบไม่ทันตั้งตัว ครั้งนี้ คนในวงการเทนนิส ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะเพราะ การบริหารงานที่ล้มเหลว แม้นายสุวัจน์ได้จัดกิจกรรมระดับประเทศ และระดับโลก อย่างต่อเนื่องทุกปี และคาดว่าปัญหาการตั้ง “กรรมการบริหาร”ที่เลือกคนมาใช้งานขาดความรู้ความเข้าใจ เกิดความขัดแย้งในกรรรมการ ประกอบกับ “พ.ร.บ.กีฬา”ฉบับใหม่ ที่ให้ผู้บริหารมีวาระ 4 ปี ทำให้มีคนใจกล้าที่จะเข้ามาโค่นล้มนายสุวัจน์ พวกเขาเห็นว่า การครองอำนาจมากว่า 7 สมัย เป็นการทำงานที่ยังไม่ลงตัว และที่สำคัญฝ่ายบริหารทำงานเพื่อประโยชน์ตัวเองมากกว่า
เมื่อถูกกล่าวหาว่า มาการตั้ง “กรรมการบริหาร” ทีนี้มาดูในส่วนของงบดุลและกรรมการลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ใน 3 สมัยหลัง ที่ทีมงานนายสุวัจน์เข้ามาบริหาร (ข้อมูลจากเว็ปไซต์สมาคมฯ)
ระบุว่า งบดุลวาระปี 2556-2558 มีการรับรองงบดุล สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2558 มีรายรับ 39,404,669.31 บาท รายจ่าย 59,228,815.41 บาท รวมรายจ่ายสูงกว่ารายรับ 20,360,252.78 บาท (รวมภาษี 536,106.68)
ในส่วนขอผู้ที่ผ่านการเลือกตั้ง ครั้งล่าสุด มีชื่อ นายวิเชษฐ์ ทีปกากร, ดร.ทวีศักดิ์ ศิลกุล, พล.ท.หญิงอัญชลี เกิดผลงาม, นายธานี แสนยาอุโฆษ, นายไทยทนุ วรรณสุข, นางพรลภัส งามสมเสน, นายชาญณรงค์ จั่นนอก และนายกฤตชัย เนยโอชา แต่หลังจากการประกาศผล ปรากฏว่า พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร ขอสละสิทธิ์ ทำให้ นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา (รองโฆษกรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โควต้าพรรคชาติพัฒนา) ที่มีคะแนนรองลงมา ได้รับการเลือกตั้งแทน
ส่วนบอร์ด วาระปี 2553-2555 ผู้แทนสโมสรสมาชิก จำนวน 79 สโมสร จากทั้งหมด 90 สโมสร ยกมือสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์ให้ นายสุวัจน์ เป็นนายกลอนเทนนิสสมาคม มีชื่อ “พล.ท.ธีระ ไกรพานนท์” อดีตเจ้ากรมสวัสดิการทหารบก และอดีตนายสนามมวยลุมพินี มาเป็น เลขาธิการลอนเทนนิสสมาคมฯ มี นายไทยทนุ วรรณสุข เป็นรองเลขาธิการ
ก่อนหน้านั้น นายสุวัจน์ แต่งตั้งให้ นายสรัญ รังคสิริ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ การตลาดพาณิชย์และต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)มาเป็น เลขาธิการ แต่ต่อมาปรับเปลี่ยนมาเป็นพล.ท.ธีระ
ส่วนรายชื่อ อุปนายกฯ ยกชุด “ปาร์ตี้ลิตส์พรรคชาติพัฒนา” นำโดยดร.ชาติชาย พุคยาภรณ์ (อดีต รมช.เกษตรฯ ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ(ชมรมเทนนิสชีวรักษ์) ), พลโท ธวัชชัย สมุทรสาคร (อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 และ อดีตปาร์ตี้ลิตส์อันดับ 1พรรคชาติพัฒนา(สโมสรค่ายสุรนารี), ) , รศ.ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ (อดีต รมว.อุตสาหกรรม ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) มีเพียง “นายไบรอัน แอล มาร์การ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ดูแลงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ ที่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง
งบดุลวาระปี 2550-2552 ลอนเทนนิสสมาคมฯ มีการรับรองสิ้นสุด ณ วันที่ 30 ก.ย. 52 มีรายรับ 66,370,974.14 บาท รายจ่าย (รวมภาษี) 67,303,878.40 บาท ทำให้ขาดทุน 932,904.26 บาท
ส่วนบอร์ด วาระปี 2550-2552 มี พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน เป็น เลขาธิการลอนเทนนิสสมาคมฯ (ต่อมาดำรงตำแหน่งครบ 4 วาระ 8 ปี ซึ่งตามระเบียบ พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2528 ต้องเว้นวรรคการบริหารงาน 1 วาระ) กรรมการคนอื่นๆ มี นายอรรถ นานา (ชมรมเทนนิสสายทิพย์), นายพรรณนพ วงศ์กมลาไสย (ชมรมผู้ปกครองนักเทนนิสแห่งประเทศไทย), นายสุวิชัย ศรีสุทธิพงศ์ (สโมสรเทนนิสการท่าเรือฯ), ดร.ชาติชาย พุคยาภรณ์ (ชมรมเทนนิสชีวรักษ์) นายวิเชษฐ์ ทีปกากร (สโมสรเทนนิสกรุงเทพมหานคร), นายไทยทนุ วรรณสุข (สโมสรเทนนิสธารารินทร์), นายไบรอัน แอล มาร์คา (ชมรมเทนนิสเบญจรงค์), พล.ท.หญิง อัญชลี เกิดผลงาม (ชมรมเทนนิสทิวไผ่งาม) และนายเดชา เดชะตุงคะ (ชมรมเทนนิสการไฟฟ้าฝ่ายผลิต)
ขณะที่กลุ่มทุนผู้สนับสนุนหลักของลอนเทนนิสสมาคมฯ ในยุคนายสุวัจน์ จากข้อมูลจากเว็ปไซต์สมาคมฯ เช่น บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) Eminent Air(Thailand) Co.,Ltd. PyramidTennis บริษัท โรงงานฟุตบอลล์ไทย สปอร์ตติ้งกู๊ดส์ จำกัดSingha Corporation Co., Ltd. Tecnifibre Thai Airways Sports Engineering And Recreation Asia Co., Ltd.
แต่กลุ่มทุนที่ถือว่ามีการจัดงบสนับสนุนให้ตลอดเกือบทุกรายการไม่ว่างเว้น มาตั้งแต่พรรคชาติพัฒนา มีรัฐมนตรีคุมกระทรวงพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นรายการในประเทศ นอกประเทศ ใหญ่เล็ก ที่ชัดที่สุดคือ “บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)”ที่จัดงบประมาณ ให้ในรายการเช่น “พีทีที ไทยแลนด์ โอเพ่น” และ“พีทีทีมาสเตอร์คัพ” ที่เชิญนักกีฬา ระดับโลก เช่น ราฟาเอล นาดาล แคโรไลน์ วอซเนียคกี้ และ คิม ไคลจ์สเตอร์ส มาแข่ง หรือ โครงการ "The Star" (เดอะ สตาร์) ในการการก่อตั้งศูนย์ฝึกเทนนิสแห่งเอเชีย ในประเทศไทย โดยจัดสร้างที่ศูนย์พัฒนากีฬาเทนนิสแห่งชาติ เมืองทองธานี มี นายสุวัจน์ เป็นประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์ฝึกเทนนิสเอเชีย ดังกล่าว
“บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)” ระบุว่าให้การสนับสนุนงบประมาณฯ ผ่านโครงการ 1 สมาคมกีฬา 1 รัฐวิสาหกิจ เช่น ระหว่างปี พ.ศ.2549-2551 ปีละ 10 ล้านบาท และในปี 2552 เป็นเงิน 15 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 45 ล้านบาท ระหว่างปี พ.ศ.2553-2554 ปีละ 20 ล้านบาท รวม 2 ปี เป็นเงินทั้งสิ้น 40 ล้านบาท และยังสนับสนุนเงิน 10 ล้านบาท สร้างหอพักนักกีฬาของศูนย์ฝึกเทนนิสแห่งเอเชีย (เอทีซี) ในประเทศไทย
ยังพบว่า “โรงงานฟุตบอลล์ไทยสปอร์ตติ้งกู๊ดส์ จำกัด” หรือ “เอฟบีที” ให้การสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของบริษัทเพื่อใช้ในกิจกรรมของลอนเทนนิสสมาคม ตลอดปี 2554 รวมมูลค่ากว่า 5,000,000 บาท
ล่าสุด “บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด”สนับสนุนงบประมาณ เป็นเวลา 3 ปีๆ ละ 10 ล้านบาท รวม 30 ล้านบาท (พ.ศ.2555-2557) ในโครงการ “โตโยต้า ไรซิ่ง สตาร์ โปรเจ็ค” ฝึกสอนและอบรมเพื่อพัฒนานักเทนนิสไทยให้มีศักยภาพเทียบเท่าระดับโลกและก้าวไปสู่ทีมชาติไทยในอนาคต หลังจาก (วาระปี 2552-2554) โตโยต้า ได้เข้ามาร่วมสนับสนุน เป็นเวลา 3 ปีๆ ละ 10 ล้านบาท รวมอีก 30 ล้านบาท ดังนั้น รวมเบ็ดเสร็จแล้ว โตโยต้าเข้ามาสนับสนุน ทั้งสิ้น 60 ล้านบาท และอาจจะได้เพิ่มขึ้นอีกในปีต่อๆ ไปด้วยโดยมีการมอบหมายให้ “ซูเปอร์บอล” ภราดร ศรีชาพันธุ์ อดีตมือ 9 ของโลก เป็นผู้ดูแลโครงการสร้างนักกีฬาชายป้อนสู่ทีมชาติและเวทีโลก ขณะเดียวกัน ลอนเทนนิสสมาคมฯ ก็ได้มอบหมายให้ “แทมมี่” แทมมารีน ธนสุกาญจน์ นักเทนนิสหญิงมือ 1 ของไทย เป็นผู้ดูแลโครงการสร้างนักกีฬาหญิงก้าวสู่ทีมชาติไทย
ยังพบว่า “บริษัท ไทยเบฟเวอเรจมาร์เก็ตติ้ง จำกัด” หรือ ช้าง ได้สนับสนุนต่อเนื่อง 3 ปี (2555 -2557) เป็นเงินสด ปีละ 4.2 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์ 1 ล้านบาท บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มทรู เข้ามาสนับสนุน งบประมาณ จำนวน 5,225,000 บาท พัฒนานักกีฬาเทนนิสและผู้ฝึกสอนชาวไทย โดยจ้าง เอมิลิโอ ซานเชซ อดีตนักเทนนิสชายชื่อดังชาวสเปน รวมถึงส่งนักเทนนิสเยาวชนไทย เดินทางไปฝึกซ้อมที่สถาบันเทนนิส ซานเชซ คาซาล โดยได้ซื้อโปรแกรมการฝึกซ้อมเป็นสัปดาห์ๆ ละ 48,000 บาท รวมเบ็ดเสร็จค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 2,250,000 บาท
นอกจากนั้นยังมีเงินสนับสนุน จากสหพันธ์เทนนิสแห่งเอเชีย (เอทีเอฟ) และ สหพันธ์เทนนิสนานาชาติ (ไอทีเอฟ)ในทัวร์นาเม้นต์สำคัญที่ไทยเป็นเจ้าภาพ และสนับสนุนประจำปีเพื่อพัฒนาวงการจำนวนหลักล้านเหรียญสหรัฐ
(ภาพและข้อมูลบางส่วนจากเว็ปไซต์ลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทย)
ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นในช่วงนาย สุวัจน์ เป็นนายกฯบริหาร แต่ต้องรอดูว่า คำสั่งการเลือกตั้งเป็นโมฆะ ในการเลือกตั้งล่าสุดจะส่งผลดี ต่อนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ในวัย 60 ปี หรือไม่