xs
xsm
sm
md
lg

ความลี้ลับ อำนาจและปัญญา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต


ความเชื่อต่อสิ่งเหนือธรรมชาติมีรากฐานจากความรู้สึกไร้อำนาจของมนุษย์ในการจัดการกับสภาพแวดล้อมทางสังคมเศรษฐกิจและการเมือง ความรู้สึกว่าไร้อำนาจนี้ดำรงอยู่ทั้งในระดับจิตใต้สำนึกและจิตสำนึก เมื่อมนุษย์มีความต้องการอย่างใดอย่างหนึ่ง และประเมินว่าตนเองไม่มีศักยภาพหรือความสามารถเพียงพอ พวกเขาจึงหันไปพึ่งพาอำนาจของสิ่งเหนือธรรมชาติเพื่อดลบันดาลให้ได้ในสิ่งที่พวกเขาปรารถนา

อันที่จริงมนุษย์มีทางเลือกอยู่ไม่น้อยในการจัดการกับปัญหาความไม่สอดคล้องระหว่างความปรารถนากับพลังอำนาจของตนเองในการทำให้บรรลุความปรารถนานั้น คนจำนวนมากพยายามพัฒนาศักยภาพของตนเองโดยแสวงหาความรู้ พัฒนาระบบคิด แสวงหาวิธีการที่มีประสิทธิภาพ และสร้างเครือข่ายทางสังคมเพื่อสร้างพลังอำนาจให้เพิ่มขึ้น อันเป็นหนทางที่ทำให้พวกเขามีโอกาสในการบรรลุความปรารถนาได้มากตามไปด้วย คนเหล่านี้จึงมีแนวโน้มพึ่งพาสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติน้อย

ขณะที่คนอีกบางกลุ่มเมื่อตระหนักว่าความปรารถนาของตนเองเป็นเรื่องยากที่จะบรรลุ พวกเขาก็อาจลดความปรารถนาลง และดำรงชีวิตตามกำลังตามสติปัญญาและพลังความสามารถที่ตนเองมีอยู่โดยไม่หันไปพึ่งพาสิ่งเหนือธรรมชาติเช่นเดียวกัน

แต่คนอีกจำนวนมากซึ่งมิได้ไตร่ตรองถึงความเป็นไปได้ของความปรารถนาของตนเอง กลับดำรงความอยากได้อยากมีอย่างเข้มข้นไม่ลดละ ทั้งไม่พิเคราะห์ศักยภาพและปัญญาของตนเอง พวกเขาจึงหันไปใช้วิธีการพึ่งพาสิ่งเหนือธรรมชาติในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งตามสภาพที่ดำรงอยู่ในวิถีวัฒนธรรมของสังคม ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่ได้ผลลัพธ์ดังที่พวกเขาปรารถนาแต่อย่างใด กระนั้นพวกเขาก็ยังไม่มีสติเพียงพอที่จะทบทวนในสิ่งที่ตนเองเชื่อ เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบของสิ่งเหนือธรรมชาติที่ตนเองจะไปพึ่งพาต่อไป

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ความเชื่อต่อสิ่งเหนือธรรมชาติติดแน่นในจิตของมนุษย์คือ การพึ่งพาสิ่งเหนือธรรมชาติเป็นวิธีคิดที่มีรากฐานยาวนานในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของมนุษย์นั่นเอง แม้ว่าในระยะหลังมนุษย์มีการพัฒนาปัญญา เหตุผล วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ยกระดับศักยภาพโดยรวมของมนุษยชาติมากกว่าในอดีต แต่ทว่ารากเหง้าความเชื่อดั้งเดิมก็มิได้ถูกขจัดออกไปอย่างสมบูรณ์

บางประเทศบางสังคมที่มนุษย์ตระหนักในศักยภาพของตนเองและมีภูมิปัญญาสูง ความเชื่อเรื่องสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติก็จะมีแนวโน้มลดลง แต่หากประเทศใดสังคมใดที่มนุษย์ยังมิได้ตระหนักรู้ถึงศักยภาพและปัญญาของตนเอง ความเชื่อสิ่งลี้ลับก็ยังคงมีอิทธิพลต่อวิธีคิดและการดำรงชีวิตของพวกเขาอย่างเข้มข้น

สำหรับประเทศไทย ความเชื่อเรื่องลี้ลับเหนือธรรมชาติเป็นเรื่องที่ดำรงอยู่ในทุกระดับ เพียงแต่ระดับความเข้มข้นของความเชื่อและรูปแบบการแสดงออกเชิงพฤติกรรมของความเชื่อเหล่านั้นอาจแตกต่างหลากหลายออกไป

สังคมไทยมีการแสดงออกหลากหลายรูปแบบทั้งในเชิงภาษาที่ใช้สื่อสารและการกระทำทางสังคมที่มีอิทธิพลต่อการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ความเชื่อเรื่องลี้ลับ ดังคำอวยพรที่ขึ้นต้นว่า “ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ ในสากลโลกดลบันดาลให้ท่านมีความสุข” หรือ การพูดว่า “ประเทศไทยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์” เป็นการใช้ภาษาที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อเหล่านั้นดำรงอยู่ในทุกระดับของผู้คนในสังคม และได้รับการตอกย้ำและผลิตซ้ำ จากผู้คนในทุกระดับอย่างสม่ำเสมอ ไม่เว้นแม้กระทั่งในกลุ่มชนชั้นนำของสังคม

ผู้คนใช้ภาษาในลักษณะนี้ตามความเคยชิน รู้ตัวบ้าง และไม่รู้ตัวบ้าง แต่ทั้งหมดทั้งมวลย่อมผุดขึ้นมาจากจิตใต้สำนึกที่ความเชื่อเรื่องลี้ลับฝังแน่นอยู่ และเมื่อใช้ภาษาเช่นนี้ออกมา ตัวภาษาเองก็ยิ่งตอกย้ำให้ความเชื่อเรื่องลี้ลับผนึกแน่นยิ่งขึ้น
วลีที่เรามักได้อยู่บ่อยๆว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” เป็นภาษาที่มีนัยให้ผู้คนยอมจำนนและยอมรับอำนาจของสิ่งลี้ลับ มิได้ส่งเสริมให้ผู้คนใช้สติปัญญาและเหตุผลแต่อย่างใด ขณะที่ภาษาที่ส่งเสริมให้ผู้คนใช้ความคิดและเกิดสติปัญญาอย่าง “ไม่เชื่อต้องพิสูจน์” กลับมิได้แพร่หลายเท่าที่ควร

การใช้ภาษาสื่อสารทั้งระหว่างบุคคลและในที่สาธารณะจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญอย่างมากในการส่งเสริมทิศทางการสร้างหรือบั่นทอนสติปัญญา อำนาจ และศักยภาพของผู้คนในสังคม ยิ่งผู้ใช้ภาษาสื่อสารเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง หรืออำนาจ ก็ยิ่งมีอิทธิพลต่อความคิดและความเชื่อของผู้คนมากขึ้น

บางคนอาจเชื่อว่า ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเหนือธรรมชาติ จะทำให้คนเกิดความหวาดกลัวในการทำสิ่งไม่ดี ซึ่งก็อาจเป็นจริงอยู่บ้างสำหรับบางคน แต่สำหรับผู้คนจำนวนมากแล้วความเชื่อในเรื่องเหล่านั้นกลับเป็นสิ่งที่ทำให้กิเลสเพิ่มมากขึ้น ปัญญาลดลง และบางคนถึงขนาดไปทำร้ายผู้อื่นในนามของความเชื่อนั้นอีกด้วย

ด้านการกระทำที่สะท้อนให้เห็นถึงความฝังแน่นของเชื่อลี้ลับในสังคมไทยมีเป็นจำนวนเหลือคณานับ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สังคมจมปลักติดกับดักอยู่ในหลุมดำของความเชื่อลี้ลับอย่างถอนตัวไม่ขึ้น การกระทำหรือการแสดงออกที่ตอกย้ำความเชื่อลี้ลับดำรงอยู่ตั้งแต่องค์การที่อำนาจรัฐสูงสุด จนไปถึงระดับ ปัจเจกบุคคลเล็กๆทั่วทั้งสังคม

เราเห็นหน่วยงานราชการซึ่งมีการสร้างสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงการยอมรับเรื่องลี้ลับแทบทุกหน่วย ไม่เว้นแม้แต่มหาวิทยาลัยที่อ้างว่าเป็นองค์การที่ส่งเสริมปัญญาและเหตุผล บุคคลใดเมื่อเข้าดำรงตำแหน่งสูงสุดของหน่วยงานต่างก็ต้องแสดงความเคารพบูชาต่อสัญลักษณ์ของสิ่งลี้ลับที่เชื่อว่าอยู่ในหน่วยงานนั้นแทบทุกคน ส่วนหน่วยงานหรือองค์การอื่นๆในภาคธุรกิจก็มีส่วนในการผลิตสร้างความเชื่อเรื่องลี้ลับไม่แพ้กัน จนอาจกล่าวได้ว่าหน่วยงานภาครัฐและเอกชนระดับนำของสังคมไทยเป็นแหล่งผลิต สร้างและตอกย้ำความเชื่อเรื่องลี้ลับที่ใหญ่ที่สุดของสังคมก็ว่าได้

แน่นอนเราคงไม่ลืมอีกแหล่งหนึ่ง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตความเชื่อและหากินกับความเชื่อเรื่องลี้ลับอย่างเป็นล่ำเป็นสัน นั่นคือวัดและสำนักทรงเจ้าต่างๆ รวมทั้งประเพณีปฏิบัติอีกไม่น้อยที่ดำรงอยู่ในวิถีชีวิตของคนไทย

การปลุกเสกวัตถุมงคลหรือการทำให้วัตถุธรรมดาที่มนุษย์สร้างกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยบทสวดต่างๆ เป็นกิจกรรมที่แพร่หลายที่สุดของวัดจำนวนมากในสังคมไทย เพื่อตอบสนองต่อความรู้สึกไร้อำนาจของตนเองและความต้องการในการพึ่งพาสิ่งเหนือธรรมชาติของคนไทย

ขณะที่ความต้องการในการตอบสนองความปรารถนาอันเกิดจากกิเลสที่ล้นเกิน หรือความอยากรู้อนาคตก็กลายเป็นอาหารอันโอชะของสำนักทรงเจ้าและสำนักหมอดูต่างๆ

ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดที่นับวันความเชื่อเรื่องลี้ลับจะกลายเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ในวิถีชีวิตของคนไทยโดยไม่ลดลง ทั้งที่ความก้าวหน้าของเหตุผลและวิทยาศาสตร์มีมากขึ้น ปรากฏการณ์ของ “ตุ๊กตาลูกเทพ” จึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องแปลกใจแต่อย่างใด เพราะว่าเป็นเพียงพฤติกรรมอีกรูปแบบหนึ่งของความเชื่อเรื่องลี้ลับ ซึ่งดำรงอยู่แล้วอย่างเข้มข้นในสังคมไทยนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม การดำรงอยู่ของความเชื่อเรื่องลี้ลับ ไม่ว่าจะแสดงออกมาในรูปแบบใดย่อมเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความล้มเหลวของการพัฒนาปัญญาและการใช้เหตุผลของผู้คนในสังคมไทย ทั้งยังบ่งบอกถึงความล้มเหลวของการพัฒนาการเมืองที่ยังไม่อาจทำให้ประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศเกิดความตระหนักในอำนาจของตนเอง และแน่นอนย่อมเชื่อมโยงกับความล้มเหลวทางเศรษฐกิจที่ไม่อาจสร้างความมั่งคั่งและมั่นคงในการดำรงชีวิตของผู้คน จนต้องหันไปพึ่งพาสิ่งเหนือธรรมชาติดลบันดาลให้แทน

การพัฒนาสังคมให้มีผู้คนความสุขอย่างแท้จริงเกิดจากกลุ่มผู้นำของสถาบันและองค์การทางสังคมที่มีอำนาจในระดับต่างๆว่าสามารถสร้างนโยบาย มาตรการ การใช้ภาษา การปลูกฝังวิธีคิด แบบแผนการปฏิบัติ ที่ส่งเสริมและเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาศักยภาพ เสริมสร้างพลังอำนาจ ปัญญา ความปรารถนาที่พอดี และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คนรอบข้างให้แก่ประชาชนได้มากน้อยเพียงใด

หากสังคมใดที่แม้กระทั่งกลุ่มผู้นำในระดับต่างๆ ยังงมงายในสิ่งเหนือธรรมชาติ เชื่อเรื่องลี้ลับ และรวมศูนย์อำนาจ ก็ยากที่คาดหวังให้ประชาชนในสังคมนั้นมีเหตุผล เกิดปัญญา ตระหนักในอำนาจตนเอง และมีความสุขได้


กำลังโหลดความคิดเห็น