xs
xsm
sm
md
lg

ชงแก้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ ถวายคืนพระราชอำนาจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน 360 - ภาคประชาชนยื่น สปท.-สนช. ชงแก้ไข พ.ร.บ.สงฆ์ฯ ถวายคืนพระราชอำนาจ ปลดล็อคสถาปนา “สังฆราช” ด้าน “ชยพล” รอง ผอ.พ.ศ.ยันมติ มส.เป็นไปตาม กม.เป๊ะ ชี้ยังคงเป็นพระราชอำนาจเช่นเดิม ขณะที่ “พระอีสาน” เริ่มก่อหวอด ยื่นคำขาดนายกฯทูลเกล้ามติ มส.เสนอชื่อ “สมเด็จช่วง” ขู่พร้อมร่วมม็อบ ศพศ. หากพบไม่ทำตาม กม.

วานนี้ (21 ม.ค.) ที่รัฐสภา กลุ่มประชาชนผู้ธำรงพระพุทธศาสนาและเทิดทูนสถาบัน นำโดย นางภิฤดี ภวนานันท์ ได้เป็นตัวแทนยื่นหนังสือถึง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาปฏิรูปการเคลื่อประเทศ (สปท.) ผ่าน นางวลัยรัตน์ ศรีอรุณ รองประธาน สปท. คนที่ 2 เพื่อเสนอให้แก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 และ พ.ศ.2547 ใน 2 มาตรา ได้แก่ มาตรา 7 และมาตรา 10 โดยให้มีสาระสำคัญถวายคืนพระราชอำนาจในการสถาปนาและปฏิบัติต่อสมเด็จพระสังฆราชให้เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เท่านั้น ห้ามมีผู้ใดก้าวล่วงเป็นอันขาด เพื่อให้เป็นไปตามพระธรรมวินัยและโบราณราชประเพณี

"เดิมการแต่งตั้งพระสังฆราช เป็นพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยกรมศาสนาจะส่งรายชื่อพระสงฆ์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการทำหน้าที่พระสังฆราชจำนวนหลายรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงใช้พระบรมราชวินิจฉัย แตกต่างจากปัจจุบันที่ใช้มติกรรมการมหาเถรสมาคมในการลงมติเสนอรายชื่อพระสงฆ์ที่จะขึ้นเป็นพระสังฆราชองค์ใหม่ ตาม พ.ร.บ.สงฆ์ฯ เพียงชื่อเดียว” นางภิฤดี ระบุ

ขณะที่ นางวลัยรัตน์ กล่าวว่า จะนำเรื่องดังกล่าวส่งต่อประธาน สปท. ซึ่งคาดหวังว่าการทำงานของ สปท.จะทำให้เกิดความสงบสุขต่อทุกฝ่าย

** “รอง ผอ.พ.ศ.” เบรกแก้ กม.สงฆ์

ขณะที่ นายชยพล พงษ์สีดา รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (รอง ผอ.พ.ศ.) กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.สงฆ์ฯว่า ในความเป็นจริงตาม พ.ร.บ.สงฆ์ฯการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช เป็นพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อทูลเกล้าฯเสนอชื่อไปแล้ว พระองค์จะทรงโปรดเกล้าฯลงมาหรือไม่นั้น เป็นพระราชอำนาจ ไม่มีผู้ใดมีสิทธิก้าวล่วง ในกฎหมายเดิมมีเนื้อหาเพียงแค่วรรคแรกที่ระบุว่า พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช เท่านั้น เมื่อ พ.ศ.2535 ได้มีการเติมวรรค 2 และ 3 เข้าไป ระบุว่าให้นายกฯนำรายชื่อสมเด็จพระราชาคณะที่ผ่านความเห็นชอบของ มส.ขึ้นทูลเกล้าฯ โดยต้องเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ที่อาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ อย่างไรก็ตาม การเพิ่มเติมวรรค 2 และ 3 นั้น แค่เป็นการกำหนดขั้นตอนการดำเนินการเท่านั้น แต่การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ยังคงเป็นพระราชอำนาจตามเดิม ทั้งนี้ พ.ศ.จะไปศึกษาดูว่า ขั้นตอนการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชในอดีตนั้น ตามกฏหมายและโบราณราชประเพณี ดำเนินการกันอย่างไร เพราะ พ.ศ.เอง ไม่ได้ศึกษาย้อนหลังไปมากนัก ยึดตาม พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ.2535 เป็นหลัก

“การแก้ไขกฏหมายนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นเรื่องใหญ่ และมีความละเอียดอ่อนและต้องดูเจตนารมณ์เดิมของกฏหมายและวัตถุประสงค์ของการเสนอแก้ไขด้วย” นายชยพล กล่าว

** “พระอีสาน” จี้นายกฯทูลเกล้าฯมติ มส.

อีกด้าน พระมหาศิริศักดิ์ สิริวุฑฺฒิปญฺญาเมธี รองประธานสภานิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรราชวิทยาลัย (มจร.) วิทยาเขตขอนแก่น กล่าวว่า สภานิสิต มจร.วิทยาเขตขอนแก่น และสมัชชาพระนิสิตพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกันออกแถลงการณ์ เพื่อเรียกร้องให้กลุ่มบุคคลที่แอบอ้างทั้งหมด ยุติการคุกคาม ข่มขู่ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชและกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อให้พระพุทธศาสนามัวหมอง เนื่องจากการที่ที่ประชุม มส.มีมติเสนอ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อเสนอทูลเกล้าฯ เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 เป็นการดำเนินตามขั้นตอนกฎหมาย ไม่ได้ขัดกับมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.สงฆ์ฯ ทั้งนี้เมื่อ มส.มีมติแล้วคนนอกไม่มีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงมติ มส.ได้ เพราะเป็นไปตามกฎหมายโดยชอบธรรม แต่ปรากฏว่ามีผู้ออกมาคุกคามและคัดค้านให้ชะลอการเสนอชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นระยะ

“สภานิสิตฯและสมัชชาพระนิสิตฯจึงขอเรียกร้องให้นายกฯ โดยความเห็นชอบของ มส.เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชต่อไป ตามหน้าที่และขั้นตอนที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและจารีตประเพณี รวมทั้งให้รัฐบาลปราบอลัชชีที่สร้างความแตกแยกให้พระศาสนา หากการสถาปนาไม่เป็นไปตามกฎหมายและจารีตประเพณี สภานิสิตฯและสมัชชาพระนิสิตฯ พร้อมออกมาแสดงพลังสังฆามติร่วมกับศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย (ศพศ.) ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น