xs
xsm
sm
md
lg

ร้องDSIสอบสมเด็จช่วง ปมสะสมรถหรู

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



"ไพบูลย์"ร้องดีเอสไอ สอบกรณีพระเถระผู้ใหญ่สะสมรถหรู ค้านไม่เห็นด้วยกับกม.ให้นายกฯ เห็นชอบตามมติของมหาเถรสมาคม ยกผู้ตรวจการแผ่นดิน มีหน้าที่วินิจฉัย ชี้ตรวจสอบให้ชัดเจนการเลี่ยงภาษี ปัดค้านตั้งพระสังฆราชองค์ใหม่ ย้ำแค่คลายข้อครหาให้สังคม หากพบช้อเท็จจริงให้ใช้ดุลพินิจพิจารณาตัวเอง ขณะที่ "บิ๊กต๊อก" เผยคดีดังกล่าวตั้งแต่ปี 56 สงสัย 4 กลุ่มทำเป็นระบบ หากพบผิด ว่าไปตามกม. หากช้าดีเอสไอต้องตอบสังคมให้ได้ "สุวพันธุ์" สั่งพศ.หาแนวทางลดความขัดแย้งปมตั้งสมเด็จพระสังฆราช

เมื่อเวลา 09.00 น.วานนี้ (18ม.ค.) ที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานปฏิรูปศาสนา พร้อมคณะ เดินทางเข้าร้องเรียนต่อ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.บริหารสำนักคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณีพระเถระผู้ใหญ่ครอบครองรถหรูโบราณ โดยนายไพบูลย์กล่าวว่า ตนมาขอให้เจ้าหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยข้อกฎหมายเกี่ยวกับ มาตรา 7 ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 ในส่วนขั้นตอนที่ว่าด้วยในการดำเนินการเสนอชื่อสมเด็จราชาคณะ ที่มีสมณศักดิ์อาวุโสสูงสุด เพื่อขึ้นทูลเกล้าฯแต่งตั้งเป็นพระสังฆราช

นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชเป็นมติของสำนักพระพุทธศาสนา ตนเองไม่เห็นด้วย มองว่าตามตัวบทที่เขียนไว้นั้น กำหนดว่าจะให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม และต้องมีตัวแทนจากมหาเถรสมาคม ส่งยื่นเรื่องเข้าไปเพื่อขอความเห็นชอบ แต่เมื่อเขียนว่าให้นายกรัฐมนตรีด้วยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมนั้น ก็เหมือนกับกรณีให้นายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเหมือนคณะรัฐมนตรี ไม่ใช่คณะรัฐมนตรีอยู่ดีๆก็ยกขึ้นมาได้ ต้องให้นายกรัฐมนตรี นำเรื่องส่งเข้าคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ไม่ใช่จะยกตัวบุคคลหรือกรรมการองค์กรอิสระขึ้นมาพิจารณาให้ความเห็นชอบไม่ได้ ต้องมีหน่วยงาน หรือองค์กรสรรหาและเสนอชื่อเข้ามา

" เรื่องดังกล่าวอยู่ในอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่จะวินิจฉัยเพราะสำนักพระพุทธศาสนา เป็นหน่วยงานของรัฐ ดังนั้นผมจะเดินทางไปยื่นหนังสือกับผู้ตรวจการแผ่นดินในวันอังคารที่ 19 ม.ค. เวลา 09.00 น. พร้อมทำสำเนาเพื่อที่จะเรียนไปยังนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ทราบว่า ได้ยื่นเรื่องทักทวงไปยังหน่วยงานที่มีอำนาจในการวินิจฉัย และขอให้ชะลอเรื่องเอาไว้ก่อน ไม่ควรดำเนินการส่งเรื่องดังกล่าวไปยังนายกรัฐมนตรี เพราะเนื่องจากว่าไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดไว้" นายไพบูลย์ กล่าว

ด้านพ.ต.ต.วรณัน เปิดเผยว่า การพิจารณาคดีแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม 1. กลุ่มครอบครองรถหรู มูลค่าเกิน 4 ล้านบาท ประมาณ 500 คัน 2. กลุ่มครอบครองรถหรู มูลค่าไม่เกิน 4 ล้านบาท ประมาณ 5,000-6,000 คัน โดยคำร้องที่เข้ามา คือ ครอบครองรถหรูกลุ่มที่ 2 ซึ่งทาง ดีเอสไอ ตรวจสอบอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามีประเด็นทางสังคมต้องทำข้อมูลให้ชัดเจน นอกจากนี้ยังเป็นประเด็นของการนำเข้า ต้องรับเอกสารของกรมศุลกากร มาตรวจสอบด้วย

ส่วนการเร่งรัดของดีเอสไอ จะดำเนินการต่อ กลุ่มที่ 1 กรณีครอบครองรถหรูเกิน 4 ล้านบาท เป็นกลุ่มแรก และ กลุ่มที่ 2 ก็ได้ดำเนินการควบคู่กันไป แต่ที่นี้มีประเด็นสังคมจึงประสานไปยังกรมศุลกากร เพื่อเร่งรัดเอกสาร และจะทำความจริงให้ปรากฏด้วยการบังคับใช้กฎหมาย

“เรื่องทางศาสนาเป็นเรื่องที่วงการสงฆ์ต้องดำเนินการเอง แต่เรื่องกฎหมาย เป็นหน้าที่ของดีเอสไอ ในชั้นนี้จะไปไล่เรียงเรื่องเอกสารหลักฐานก่อน และจะไปถึงเรื่องตัวรถหรู โดยที่ผ่านมา 3 ปีนั้น ช่วงแรกเราให้ความสำคัญต่อ กลุ่มที่ 1 ส่วนกลุ่มที่ 2 ก็ทำงานคู่ขนานกันไป แต่เมื่ออยู่ในความสนใจ จึงเร่งรัดเรื่องนี้ขึ้นมาก่อน ส่วนรถหรูนั้นในขณะนี้เท่าที่ปรากฏในเอกสารระงับการใช้ไปแล้ว ปัญหาตอนนี้จะเข้าไปดูตั้งแต่กระบวนการนำเข้ามาเป็นอย่างไร แล้วดำเนินการในการครอบครองต้องดูข้อเท็จจริงเป็นส่วนๆไป" พ.ต.ต.วรณัน กล่าว

ต่อมาเวลา 10.00 น. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานปฏิรูปศาสนา เปิดเผยหลังจากขึ้นไปยื่นเรื่องเรียบร้อยแล้วว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ ต้องตรวจสอบคดีนี้ให้ชัดเจน หากพบว่าไม่ผิดกฎหมายใดๆทั้งสิ้น อาทิ การเลี่ยงภาษี จะทำให้ข้อครหาเกี่ยวกับรถหรูได้ข้อยุติ และสังคมรับรู้ชัดเจน แต่ถ้ามีข้อเท็จจริงบางประการผิดกฎหมาย ทำให้สมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ รับทราบข้อเท็จจริง และท่านต้องใช้ดุลพินิจเอง ในการตัดสินใจขอให้ดีเอสไอ ตรวจสอบเรื่องนี้โดยเร็ว ส่วนขั้นตอนต่างๆควรให้หยุดไว้ก่อน

ด้านพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า คดีดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน เมื่อปี 56 โดยตนไม่ได้ลงไปดูรายละเอียด ไม่ได้เร่งรัด แต่ทราบจากข่าวเรื่องคาบเกี่ยวกับคดีรถหรูหลายคันเชื่อมโยงกัน นอกจากนี้ตนสงสัยว่า ตอนนั้นมีการแบ่งกลุ่มรถหรูเกิน 4 ล้าน ทั้งที่หลักการต้องทำเป็นระบบ หากตรวจสอบก็ว่าไปตามผิดตามถูก แต่อย่าเอาไปเชื่อมโยงกัน อย่างไรก็ตาม หากล่าช้า ดีเอสไอต้องตอบสังคมให้ได้ด้วย

สั่งพศ.หาแนวทางลดความขัดแย้ง

นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการเสนอ นามสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นพระสังฆราชองค์ที่ 20 ให้นายกรัฐมนตรีเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ว่าในวันที่ 18 ม.ค. จะยังไม่มีหารือกับ นายพนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยการ พศ. เนื่องจากนายพนม อยู่ระหว่างการเดินทางไปต่างประเทศ แต่ได้มีการหารือไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการพูดคุยในทุกเรื่องที่คาดว่าจะเป็นปัญหาความขัดแย้ง ทั้งเรื่องกลุ่มคณะสงฆ์เตรียมออกมาเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนการเสนอชื่อแต่งตั้งสมเด็จช่วง และกลุ่มที่จะออกมาคัดค้านสมเด็จช่วง ว่า ควรทำอย่างไร ส่วนตัวได้ให้ พศ.ไปศึกษา ทบทวน หาข้อมูลว่าจะทำอย่างไรเพื่อลดความขัดแย้งดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นยังไม่มีกำหนดการการประชุมครั้งต่อไป

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนยังไม่ได้มีการพูดคุยกับนายสุวพันธุ์ ในเรื่องนี้ สำหรับเรื่องอื่นๆ ตนได้ตอบไปหมดแล้ว คงไม่มีอะไรต้องอธิบายทุกวัน หากมีอะไรใหม่จะแจ้งให้ทราบ
กำลังโหลดความคิดเห็น