xs
xsm
sm
md
lg

"มีชัย"ยันไม่มีบทนิรโทษฯ "เต้น"ขู่คว่ำร่างชั้นประชามติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวยืนยันว่าไม่มีการเขียนเรื่องนิรโทษกรรม ไว้ในบทเฉพาะกาลตามที่หลายฝ่ายกังวล และไม่เคยเขียนกฎหมายเปิดช่องให้เกิดการปฏิวัติ เพียงแต่เขียนเพื่อรับรองการดำเนินการของแม่น้ำ 5 สายที่เกิดขึ้นในช่วงการเปลี่ยนผ่านหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ เพื่อเป็นการรับรองในสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว ส่วนการนิรโทษกรรมเหตุรัฐประหาร มีผลตั้งแต่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องเขียนอะไรไว้อีก
"มันไม่ได้รองรับว่า ใครทำทุจริตคิดมิชอบแล้วจะยกโทษให้ ส่วนเรื่องการปฏิวัติรัฐประหารนั้น นิรโทษไปแล้ว ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว ) พ.ศ.2557 ดังนั้นไม่ได้มีความจำเป็นอะไรมากมายที่จะต้องมาเขียนอะไรในตอนนี้อีกแล้ว ถ้าเขียนรัฐธรรมนูญบอกว่าให้ปฏิวัติได้อีก คงสนุกดี พวกนั้นเขาจิตนาการกันไปเอง" นายมีชัย กล่าว
นายมีชัย ยังได้ชี้แจงถึงกรณีที่โยก มาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญเดิม มาใส่ไว้ในหมวดศาลรัฐธรรมนูญ ว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจน ไม่ได้เพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ผ่านมา หากเป็นปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญก็เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะต้องวินิจฉัยอยู่แล้ว ดังนั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร แต่ทำให้ชัดเจนว่าจะใช้ มาตรา 7 ก็ต่อเมื่อไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และคนที่จะบอกว่าไม่มีในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะเป็นคนชี้ โดยหากไม่มีในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ก็ให้วินิจฉัยตามประเพณีการปกครองในอดีต
ด้าน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. กล่าวว่า ตนไม่อาจยอมรับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ดังที่ปรากฏได้ และจะต้องรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในชั้นประชามติ เพราะเชื่อมั่นว่า การแก้ปัญหาทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดำรงความมุ่งหมายของฝ่ายอนุรักษ์นิยมต่อเนื่องจากการรัฐประหารครั้งที่แล้ว คือการบอนไซประชาธิปไตย และขยายอำนาจให้องค์กรอิสระ มีอิทธิพลเหนือตัวแทนที่มาจากประชาชน ที่แตกต่างคือรัฐธรรมนูญปี 2550 มุ่งกำหนดผลเลือกตั้งให้พรรคการเมืองที่อยู่ในอาณัติ เป็นรัฐบาล พร้อมกับวางกลไกอำนาจไว้เพื่อสร้างเงื่อนไขทางการเมืองตามที่ต้องการ แต่ร่างปัจจุบันสะท้อนว่าผู้ถืออำนาจไม่คาดหวังกับพรรค
การเมืองเดิม จึงเปิดช่องให้มีนายกฯ คนนอก และให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ลงดาบรัฐบาลเลือกตั้ง พร้อมทั้งขยายอำนาจองค์กรอิสระอื่น ให้เชื่อมโยงกันและมีอิทธิพลสูงสุด
"ถ้าทุกคนคิดแบบเดิม ทำแบบเดิม ผลลัพธ์ก็จะเหมือนเดิม วันนี้ทั้งฝ่ายการเมือง และประชาชนต้องกำหนดวิธีคิดใหม่ คือสร้างกติกาที่เป็นประชาธิปไตย จัดอำนาจพิเศษ และองค์กรบริวารทั้งหลาย อยู่ให้ถูกที่ถูกทาง ถูกหลักการเสียก่อน แล้วค่อยเลือกตั้ง หัวใจของปัญหาที่ผ่านมาไม่ใช่เพราะคนไทยใส่เสื้อสีต่างกัน แต่เป็นเพราะเรายังมีปัญหาเรื่องความเป็นประชาธิปไตย ถ้าไม่แก้ที่ต้นเหตุ ก็ออกจากวังวนนี้ไม่ได้ สนามประชามติจึงมีความหมายมากกว่าแค่พิจารณาชิ้นงานของเนติบริกร แต่หมายถึง การยืนยันหลักการประชาธิปไตยเพื่อแก้ไขวิกฤติของประเทศ" นายณัฐวุฒิ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น