รองศาสตราจารย์ ดร. กาญจ์นภา อมรัชกุล
อาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
http://as.nida.ac.th/th/
อาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
http://as.nida.ac.th/th/
จากข่าวช่วงปลายปีที่ผ่านมาที่ สายการบินบางกลุ่มเสนอให้รัฐกำหนดราคาเพดานขั้นต่ำของสายการ Low-Cost (LC) เพื่อป้องกันไม่ให้ตั้งต่ำกว่าต้นทุนจนอาจกลายเป็นสงครามการแข่งขันด้านราคา ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น จะกระทบต่อธุรกิจสายการบินในไทยโดยรวม ดังเช่นที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ราคาหุ้นกลุ่มสายการบินตกเมื่อนักลงทุนหวาดหวั่นต่อสงครามราคา ภายหลังจากที่หลายสายการบินได้ลดราคาลงตามราคาน้ำมันและเพื่อเพิ่มจำนวนนักเดินทาง เราจะทราบได้อย่างไรว่าสงครามราคาเกิดขึ้นหรือยัง? การที่สายการบิน LC มีราคาตั๋ว promotion ซึ่งต่ำกว่าราคาต้นทุน แสดงว่ามีสงครามราคาเกิดขึ้นอย่างนั้นหรือ? เพดานราคาขั้นต่ำจำเป็นจริงหรือไม่? และถึงเวลาแล้วหรือที่รัฐควรเข้ามาแทรกแซงธุรกิจสายการบิน?
เป็นที่ทราบกันดีว่า ในเครื่องหนึ่งลำนั้น ผู้โดยสายแต่ละคนจ่ายค่าตั๋วไม่เท่ากัน บางคนจองก่อนนานมาก พอ promotion เปิดก็รีบฟาดฟันจองได้ตั๋วถูกสุดๆ มาได้ บางคนจองช้าก็อาจได้ราคาแพงขึ้น ราคาตั๋วที่แพงสุดอาจแตกต่างกับตั๋วราคาถูกสุดเป็นหลายเท่า และราคาตั๋วที่แตกต่างกันก็อาจมี 6-12 ราคาก็เป็นได้ สมมติว่า สำหรับสายการบิน LC หนึ่งมี Cost per Available Seat Kilometer (CASK) อยู่ที่ 2.10 THB/seat/km เส้นทางจากกรุงเทพไปเชียงใหม่ ทั้งลำมีจำนวนที่นั่ง 150 ที่นั่ง มีต้นทุนจริงอยู่ที่ประมาณ 1,462 บาทต่อที่นั่ง ราคาตั๋วต่ำสุดอยู่ที่ 200 บาทและสูงสุดอยู่ที่ 1,800 บาท เพราะมีขายตั๋ว promotion ที่ราคา 200 ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนจริง ทำให้เราสรุปได้ว่าสายการบินขายตั๋วต่ำกว่าทุน จริงหรือ?
ไม่น่าใช่ เพราะราคาตั๋วมีหลายราคา ไม่น่าจะเอาราคาที่ต่ำสุดมาเป็นเกณฑ์วัด
งั้นดูทั้งราคาต่ำสุดและสูงสุดด้วย เช่น ดูที่ราคา (200+1800)/2 = 1,000 ซึ่งก็ต่ำกว่าต้นทุน? 1,000 บาทที่ได้มานี่เป็นราคา “เฉลี่ย” แล้วใช่หรือไม่? ไม่น่าใช่อีกเช่นกัน เพราะค่าเฉลี่ยต้องคำนึงถึงจำนวนความถี่ของค่านั้น ๆ ด้วย ตัวอย่างเช่น หากทั้งลำ มีราคา 200 อยู่ 5 ใบ และมีราคา 1,800 อยู่ 115 ใบ ก็จะได้ราคาเฉลี่ยเป็น (200*5+1800*115)/(5+115) = (5/120)*200+ (115/120)*1800 = (4.16%)*200 + (95.83%)*1800 = 1,733.33
สังเกตว่าเราถ่วงน้ำหนักของราคาตั๋วด้วยร้อยละของจำนวนที่ขายได้ ซึ่งเท่ากับประมาณ 4% และ 96% สำหรับตั๋วราคา 200 และ 1,800 บาทตามลำดับ
สมมติว่า เส้นทางนี้มีทั้งหมด 5 ราคา คือ 200, 700, 1200, 1600, 1800 บาทต่อที่นั่ง โดยราคาตั๋วและจำนวนตั๋วที่ขายได้ในแต่ละราคาดังแสดงในตาราง
จำนวนผู้โดยสารทั้งหมด 146 คน ราคาตั๋วเฉลี่ยอยู่ที่
(2*200 + 3*700 + 19*1200 + 112*1600 + 10*1800)/146 = 1523.97
หรือประมาณ 1,524 บาทต่อที่นั่ง ซึ่งมากกว่าต้นทุนจริง เมื่อคำนวณ Passenger Yield จะได้ 2.19 บาท/คน/กม และ Revenue per Available Seat Kilometer (RASK) 2.13 THB/seat/km ซึ่งทั้งสองตัววัดนี้สูงกว่าต้นทุน CASK สายการบิน LC นี้ทั้ง ๆ ที่มีตั๋วราคาถูกมาก แต่เมื่อถัวเฉลี่ยกับตั๋วที่ขายไปราคาอื่น ๆ ทำให้ได้ ราคาตั๋วเฉลี่ยมากกว่าต้นทุน จากตัวอย่างนี้ ไม่จำเป็นต้องกำหนดราคาเพดานขั้นต่ำ รายได้ก็มากกว่าต้นทุนอยู่แล้ว
ตัวอย่างที่ผ่านมาแสดงการคำนวณเพียงเส้นทางเดียวเพื่อสะดวกในการอธิบาย สถิติดังกล่าวเมื่อคำนวณโดยรวมทุกเส้นทาง ถูกรวบรวมไว้ในรายงานประจำปีของสายการบิน ซึ่งเปิดเผยบน Internet สำหรับหลายสายการบิน หาก RASK หรือ yield ของหลายสายการบิน หรือทั้งกลุ่มธุรกิจการบินมีแนวโน้มต่ำลง เช่น ในสหรัฐเมื่อกลางปีที่ผ่าน สายการบิน United Continental และ Southwest Airlines รายงานว่ามี Revenue per Available Seat Miles (RASM) ลดลงอย่างชัดเจน อาจเป็นสัญญาณหนึ่งซึ่งแสดงว่า สงครามราคาเริ่มต้นประทุขึ้นแล้ว