xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปค.แจงเหตุยืนตามอนุญาโตฯ รัฐต้องชดใช้ค่าโง่คลองด่าน9พันล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สำนักงานศาลปกครอง ได้เผยแพร่เอกสารข่าวชี้แจง กรณีศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพาษายืนตามอนุญาโตตุลาการให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จ่ายค่าชดเชยค่าก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียคลองดาน ให้กับเอกชน 9,000 ล้านบาท โดยระบุว่า คดีนี้ เป็นกรณีที่ บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กับพวกรวม 6 คน ผู้ร้อง ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองชั้นต้น ขอให้ศาลฯ มีคำพิพากษา หรือคำสั่งให้บังคับตามคำชี้ขาดของ คณะอนุญาโตตุลาการโดยกรมควบคุมมลพิษ ผู้คัดค้าน ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองชั่นต้น เช่นกัน ขอให้ศาลมีคำพิพากษา หรือคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ดังกล่าว
โดยก่อนที่คดีนี้มาสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ได้เข้าสู่กระบวนการยุติข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ ซึ่งก็ได้มีคำชี้ขาดตามข้อพิพาท โดยกำหนดประเด็นข้อพิพาท คือ 1. สัญญาพิพาทเป็นโมฆะหรือไม่ 2. สัญญาตั้งอนุญาโตตุลาการเป็นโมฆะและข้อเรียกร้องอยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือไม่ 3. บันทึกข้อตกลง MOA มีผลใช้บังคับหรือไม่ 4. ฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญา และ 5. ผู้คัดค้านจะต้องชำระค่าจ้างและค่าเสียหาย ตามข้อเรียกร้อง และผู้เรียกร้องจะต้องคืนเงิน หรือใช้ค่าเสียหายตามข้อเรียกร้องแย้งให้ผู้คัดค้านหรือไม่
ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการ วินิจฉัยว่า ที่กรมควบคุมมลพิษอ้างว่า สัญญาพิพาทเป็นโมฆะ สัญญาตั้งอนุญาโตตุลาการ จึงเป็นโมฆะด้วย โดยอ้างว่าก่อนการลงนามในสัญญา บริษัทนอร์ธเวสต์ วอเตอร์ฯ ได้ขอถอดหนังสือมอบอำนาจก่อนมีการลงนามในสัญญาของ บริษัทนอร์ธเวสต์ วอเตอร์ฯ ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการก่อสร้างระบบรวบรวม และบำบัดน้ำเสีย อันเป็นการปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกแจ้งแก่กรมควบคุมมลพิษ ซึ่งเป็นสาระสำคัญในตัวบุคคล และเป็นสาระสำคัญของนิติกรรม และปรากฏว่า ที่ดินที่กรมควบคุมมลพิษรับโอนมาเนื้อที่รวม 1736 ไร่ 2 งาน 66 ตารางวา เป็นที่ดินที่ออกโฉนดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกรมที่ดินได้มีคำสั่งเพิกถอนโฉนดดังกล่าว อันเป็นเหตุให้กรมควบคุมมลพิษ ทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาจึงตกเป็นโมฆะ
อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะอนุญาโตตุลาการมีการพิจารณารายละเอียดทั้งหมดแล้ว ได้มีคำชี้ขาดให้กรมควบคุมมลพิษชำระเงินค่าจ้าง ค่าเสียหาย รวมดอกเบี้ยตามข้อเรียกร้อง เป็นเงิน 4,983,342,383 บาท 31,035,750 หรียญสหรัฐ ให้แก่ บริษัท วิจิตรภัณฑ์ฯ กับพวก พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงิน 4,424,099,982 บาท และ ของเงิน 26,434,636 เหรียญสหรัฐ นับตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.46 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ และคืนหนังสือค้ำประกัน พร้อมค่าธรรมเนียม และค่าธรรมเนียมแทนบริษัท วิจิตรภัณฑ์ฯ กับพวก เป็นเงิน 6,000,000 บาท ต่อปี จนกว่าจะคืนหนังสือค้ำ ประกันให้บริษัท วิจิตรภัณฑ์ฯ กับพวก ข้อเรียกร้องนอกจากนี้ ให้ยก และให้ยกข้อเรียกร้องแย้ง
ทั้งนี้ การที่ศาลปกครอง จะพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดได้นั้น ศาลต้องพิจารณาว่า คณะอนุญาโตตุลาการ ได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท ซึ่งไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ และเกินคำขอของคู่พิพาทตาม มาตรา 37 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ และคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว มีเหตุให้เพิกถอนตาม มาตรา 40 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน เมื่อศาลปกครองพิจารณาแล้วเห็นว่า คณะอนุญาโตตุลาการ ได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท ซึ่งอยู่ในขอบเขตของสัญญา และไม่เกินคำขอของคู่พิพาท และคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว ไม่มีเหตุให้เพิกถอนตาม มาตรา 40 วรรคสาม แห่งพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ศาลปกครอง จึงต้องปฏิบัติตามกฎหมาย โดยการพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ อันเป็นการพิจารณาวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายครบถ้วนแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น