xs
xsm
sm
md
lg

ยกคำร้อง CAT ฟ้อง บ.ดิจิตอลโฟน ขอเพิกถอนอนุญาโตข้อพิพาท “เซลลูลาร์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ศาลปกครองกลาง” ยกคำร้องคดี CAT ยื่นฟ้อง ดิจิตอลโฟนขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทเกี่ยวกับการชำระผลประโยชน์ตอบแทนรายปีตามสัญญาอนุญาตให้ดำเนินการให้บริการวิทยุโทรคมนาคมระบบเซลลูลาร์

วันนี้ (28 ก.ค.) มีรายงานว่า ศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 1259/2554 คดีหมายเลขแดง ที่ 1789/2558 ระหว่าง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (ผู้ร้อง) กับบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ผู้คัดค้าน) โดยมีคำพิพากษายกคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำ ที่ 3/2551 ข้อพิพาทหมายเลขแดง ที่ 20/2554 ที่วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทเกี่ยวกับการชำระผลประโยชน์ตอบแทนรายปีตามสัญญาอนุญาตให้ดำเนินการให้บริการวิทยุโทรคมนาคมระบบเซลลูลาร์ (cellular) ระหว่าง ผู้ร้อง กับบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ผู้คัดค้าน)

เนื่องจากศาลเห็นว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทดังกล่าวเป็นคำชี้ขาดข้อพิพาทที่เป็นไปตามกฎหมายไทยและตามข้อสัญญา ซึ่งอยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการและไม่เกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาท ตามมาตรา 40 วรรคสาม (1) (ง) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 อีกทั้งคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในคดีนี้ก็เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องเกี่ยวกับการชำระเงินผลประโยชน์ตอบแทนรายปีตามสัญญาที่พิพาท ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดห้ามมิให้ข้อพิพาทตามสัญญาดังกล่าวระงับโดยคณะอนุญาโตตุลาการ ประกอบกับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาระหว่างคู่สัญญา กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่ามีกรณีที่ปรากฎต่อศาลว่า การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในคดีนี้ จะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545

ดังนั้น คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำ ที่ 3/2551 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 20/2554 ลงวันที่ 1 มีนาคม 2554 จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลจะมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าวได้


กำลังโหลดความคิดเห็น