xs
xsm
sm
md
lg

ฉันอิสสระ

เผยแพร่:   โดย: ไพรัตน์ แย้มโกสุม

คำว่า “อิสสระ” เป็นภาษาบาลี (อิสฺสร) ภาษาไทยเขียนอิสระ แปลว่า เปล่า, ดาย, เป็นใหญ่, ไม่ขึ้นแก่ใคร, เป็นไทแก่ตัว

“อิสรภาพ” คือ ภาวะที่ไร้สิ่งพันธนาการ, ความเป็นใหญ่, ความเป็นไทแก่ตัว, การปกครองตนเองไม่ขึ้นกับใคร

“ไท” ตรงข้ามกับคำว่า “ทาส”

ที่กล่าวมาเป็นความหมายพื้นๆ ที่รู้กันโดยทั่วไป อยู่ในฝ่ายของ “สมมติสัจจะ”

ฉันอิสสระ

ฉันในที่นี้คือ จิต ฉันอิสสระ ก็คือ จิตอิสสระ...จิตอิสสระยิ่งใหญ่มาก อยู่ในขั้นอนุตตระ ไม่มีสิ่งใดเทียบได้

ในวัชสูตร สูตรโด่งดังในอดีต และในปัจจุบันก็ยังครองแชมป์อยู่ ผู้สนใจธรรมะรู้จักดี

ข้อความตอนหนึ่งในวัชรสูตร กล่าวว่า... “จงทำจิตให้เป็นอิสสระ อย่าไปอิงอาศัยอยู่บนอะไรเลย” ข้อความตอนนี้ ทำให้เห็นข้อความสุดยอดอื่นๆ เช่น นิโรธ พุทธจิต ธรรมญาณ จิตเดิมแท้ เป็นต้น แท้จริงแล้ว มันคือสิ่งเดียวกัน

ฉันอมฤต

“อมฤต” แปลว่า “ไม่ตาย”...ฉันอมฤต ก็คือฉันไม่ตาย ไม่ได้หมายความอย่างนั้น “ฉันไม่ตาย” ก็คือ “จิตไม่ตาย”

ฉันคือจิต...จิตคือฉันตัวจริง ส่วนร่างกาย เป็นฉันตัวปลอม

ฉันมาสู่โลกนี้ เช็กอินเข้าพักในโรงแรมแห่งหนึ่ง พอครบกำหนดก็เช็กเอาท์ออกจากโรงแรม แล้วกลับบ้านเก่า หรือโลกเก่าของฉัน มันมีแค่นี้เอง ที่มันมีอะไรมากมาย จะแบกรับไม่ไหว นั่นมันจิตหลงปรุงแต่งไปต่างๆ นานาต่างหาก

ฉันคือจิต โรงแรมคือร่างกาย โลกนี้คือโลกที่เราอยู่ โลกเก่าคือบ้านเก่าของฉัน ฉันเพียงมาเที่ยว พอครบกำหนด ฉันก็กลับบ้าน เป็นเรื่องธรรมดา ไม่เห็นจะแปลกอะเมซิ่งตรงไหน จะแปลกอยู่บ้างก็ตรงเวลาไม่เท่ากัน โลกเก่าเวลาเนิ่นนานมาก โลกใหม่เร็วเหลือเกิน ระยะเวลาหนึ่งวันในโลกเก่ากับโลกใหม่ห่างไกลกันมากเท่านั้นเอง

“ชีวิตคือการเดินทาง ออกจากบ้านแล้วกลับบ้าน” ดูให้เป็น ก็เห็นธรรม

ฉันธรรมลิขิต

การเดินทางมาเที่ยวบนโลกนี้ ถือว่าโชคดี เพราะมีพุทธธรรมอยู่แล้ว ฉันจะคิดจะทำอะไร ก็ทำตามหลักพุทธธรรม ธรรมของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานซึ่งมีอยู่แล้วมากมายมหาศาล จะเอามุมไหน มิติใด ธรรมะจัดสรรให้ตามสบาย ชีวิตที่มีธรรมลิขิตจึงมีศานติและผ่อนคลาย

สำหรับฉัน...ชอบอริยสัจ 4 และโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ

อริยสัจ 4 คือความจริงอันประเสริฐ หรือความจริงของพระอริยะ หรือความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

โพธิปักขิยธรรม 37 คือ ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ คือเกื้อกูลแก่การตรัสรู้ หรือธรรมที่เกื้อหนุนแก่อริยมรรค ได้แก่...สติปัฏฐาน 4, สัมมัปปธาน 4, อิทธิบาท 4, อินทรีย์ 5, พละ 5, โพชฌงค์ 7, มรรคมีองค์ 8

ขอขยายความโพชฌงค์ 7 และมรรคมีองค์ 8 พอสังเขป

โพชฌงค์ 7 คือธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ ได้แก่...

1. สติ คือความระลึกได้ สำนึกพร้อมอยู่ ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับเรื่อง

2. ธัมมวิจยะ คือความเฟ้นธรรม, หรือความสอดส่องสืบค้นธรรม

3. วิริยะ คือความเพียร

4. ปีติ คือความอิ่มใจ

5. ปัสสัทธิ คือความผ่อนคลายสงบเย็นกายใจ

6. สมาธิ คือความมีใจตั้งมั่น จิตแน่วแน่ในอารมณ์

7. อุเบกขา คือความมีใจเป็นกลาง เพราะเห็นตามเป็นจริง

มรรคมีองค์ 8 คือทางมีองค์ 8 ประการ อันประเสริฐ ได้แก่...

1. สัมมาทิฏฐิ-เห็นชอบ ได้แก่ ความรู้อริยสัจ 4 หรือเห็นไตรลักษณ์ หรือรู้อกุศลและอกุศลมูลกับกุศลและกุศลมูล หรือเห็นปฏิจจสมุปบาท

2. สัมมาสังกัปปะ-ดำริชอบ ได้แก่ เนกขัมมะสังกัป อพยาบาทสังกัปป์ อวิหิงสาสังกัปป์

3. สัมมาวาจา-เจรจาชอบ ได้แก่ วจีสุจริต 4

4. สัมมากัมมันตะ-กระทำชอบ ได้แก่ กายสุจริต 3

5. สัมมาอาชีวะ-เลี้ยงชีพชอบ ได้แก่ เว้นมิจฉาชีพ ประกอบสัมมาชีพ

6. สัมมาวายามะ-พยายามชอบ ได้แก่ ปธาน หรือสัมมัปปธาน 4

7. สัมมาสติ-ระลึกชอบ ได้แก่ สติปัฏฐาน 4

8. สัมมาสมาธิ-ตั้งจิตมั่นชอบ ได้แก่ ฌาน 4

ส่วนข้ออื่นๆ ถ้ายังไม่เข้าใจ ก็สืบหาตามอัธยาศัยกันเถิด

ชีวิตสัมมา

“สัมมา” แปลว่า ชอบ, ดี, ถูกต้อง ตรงข้ามกับคำว่า “มิจฉา” ซึ่งแปลว่า ผิด

ชีวิตสัมมา คือชีวิตที่ชอบ ที่ดี ที่ถูกต้อง

ชีวิตสัมมา หรือสัมมาชีวิต เป็นอย่างไร?

สัมมัตตะ10 คือภาวะที่ถูก หรือความเป็นสิ่งที่ถูก ได้แก่...

8 ข้อต้น ตรงกับองค์มรรค 8 ข้อคือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ และเพิ่มอีก 2 ข้อ คือ

9. สัมมาญาณ คือรู้ชอบ ได้แก่ ผลญาณ และปัจจเวกขณญาณ ทั้ง 19 ประเภท

10. สัมมาวิมุตติ คือหลุดพ้นชอบ ได้แก่ อรหัตตผลวิมุตติ

นี่คือ 10 ดีที่ต้องเจริญ

เมื่อพูดถึงภาวะที่ถูก ก็ต้องพูดถึงภาวะที่ผิด ว่าเป็นอย่างไร รู้แล้วจะได้เลิกละ หรือขจัดออกไป ฉันใด เหมือนก่อนจะปลูกพืช จำเป็นต้องขจัดวัชพืชให้หมดไปเสียก่อน ฉันนั้น

มิจฉัตตะ 10 คือภาวะที่ผิด หรือความเป็นสิ่งที่ผิด ได้แก่...

1. มิจฉาทิฏฐิ คือ เห็นผิด ได้แก่ ความเห็นผิดจากคลองธรรม ตามหลักกุศลกรรมบถ และความเห็นที่ไม่นำไปสู่ความพ้นทุกข์

2. มิจฉาสังกัปปะ คือ ดำริผิด ได้แก่ ความดำริที่เป็นอกุศลทั้งหลาย ตรงข้ามจากสัมมาสังกัปปะ

3. มิจฉาวาจา คือ วาจาผิด ได้แก่ วจีทุจริต 4

4. มิจฉากัมมันตะ คือ กระทำผิด ได้แก่ กายทุจริต 3

5. มิจฉาอาชีวะ คือ เลี้ยงชีพผิด ได้แก่ เลี้ยงชีพในทางทุจริต

6. มิจฉาวายามะ คือ พยายามผิด ได้แก่ ความเพียรตรงข้ามกับสัมมาวายามะ

7. มิจฉาสติ คือ ระลึกผิด ได้แก่ ความระลึกถึงเรื่องราวที่ล่วงแล้ว เช่น ระลึกถึงการได้ทรัพย์ การได้ยศ เป็นต้น ในทางอกุศล อันจัดเป็นสติเทียม เป็นเหตุชักนำใจให้เกิดกิเลส มีโลภะ มานะ อิสสา มัจฉริยะ เป็นต้น

8. มิจฉาสมาธิ คือ ตั้งจิตผิด ได้แก่ ตั้งจิตเพ่งเล็ง จดจ่อปักใจแน่วแน่ในกามราคะ พยาบาท เป็นต้น หรือเจริญสมาธิ หลงเพลิน ติดหมกมุ่น ตลอดจนนำไปใช้ผิดทาง ไม่เป็นไปเพื่อญาณทัสสนะ และความหลุดพ้น

9. มิจฉาญาณ คือ รู้ผิด ได้แก่ความหลงผิด ที่แสดงออกในการคิดอุบายทำความชั่ว และในการพิจารณาทบทวนว่าความชั่วนั้นๆ ตนกระทำได้อย่างดีแล้ว เป็นต้น

10. มิจฉาวิมุตติ คือ หลุดพ้นผิด ได้แก่ ยังไม่ถึงวิมุตติ สำคัญว่าถึงวิมุตติ หรือสำคัญผิดในสิ่งที่มิใช่วิมุตติ ว่าเป็นวิมุตติ

นี่คือ 10 ชั่วที่ต้องละ

ทั้ง 10 ชั่วต้องละ และ 10 ดีต้องเจริญ ก็ตรงกับข้อ 1 ไม่ทำชั่ว ข้อ 2 ให้ทำดี ข้อ 3 ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ของพุทธโอวาท 3 ที่ทุกชีวิตพึงดำเนินตาม จึงจะได้ชื่อว่า...ชีวิตสัมมา

“ฉันอิสสระ
ฉันอมฤต
ฉันธรรมลิขิต
ชีวิตสัมมา”

กวี 4 แถวทั้ง 4 ประเด็นดังกล่าวมา ดูแตกต่างกัน ถ้าดูให้ลึกซึ้งจะเห็นว่า ไม่แตกต่างกันเลย มันคือสิ่งเดียวกัน...นั่นคือ สุญญตา คือความว่าง นั่นแล
กำลังโหลดความคิดเห็น