xs
xsm
sm
md
lg

กกต.โต้ผลาญงบซื้อเครื่องลงคะแนน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง แถลงตอบโต้กรณี นายภุชงค์ นุตราวงศ์ อดีตเลขาธิการ กกต. ให้จับตาการจัดซื้อเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะใช้ใน 9.5 หมื่นหน่วยเลือกตั้ง งบประมาณกว่าหมื่นล้านบาท ว่า ไม่เป็นความจริงโดยเครื่องลงคะแนนกกต. มีการริเริ่มมาตั้งแต่ปี 46 พัฒนามาถึงปัจจุบันรวม 4 รุ่น ใช้งบฯในการดำเนินการและการอบรมให้ความรู้ราว 57 ล้านบาท กกต.ชุดปัจจุบัน เมื่อร่างรัฐธรรมนูญ ชุดนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ มีการระบุให้นำเครื่องลงคะแนนมาใช้ ประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และกระแสโลกที่นานาประเทศมีการใช้เครื่องลงคะแนนแล้ว กกต. จึงมีการพัฒนาและมีความจริงจังที่จะนำเครื่องมาใช้ โดยได้วางแผนการใช้เครื่องไว้ 3 ช่วง คือ ในปี 59 หากมีการประชามติ จะมีการนำเครื่องลงคะแนนรุ่นที่ 4 ไปใช้เพียง 5 หน่วยเลือกตั้งในกทม. และหากมีการเลือกตั้งทั่วไป ในปี 60 ก็จะใช้เครื่องลงคะแนนเพียง 100 หน่วยเลือกตั้ง โดยเตรียมงบประมาณไว้ 10 ล้านบาทสำหรับผลิตเครื่องลงคะแนนรุ่นใหม่ ที่จะต้องเป็นระบบทัชสกรีน เนื่องจากเครื่องลงคะแนน รุ่นที่ 4 ไม่สามารถตอบโจทย์กรณีมีผู้สมัครเกิน 30 หมายเลข และการลงคะแนนนเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อได้ แต่ทั้งนี้หากไม่สามารถผลิตเครื่องรุ่นใหม่ได้ทัน เพราะต้องใช้วิธีประกวดราคา ก็จะใช้เครื่องรุ่นเก่าก่อน ที่มีอยู่ 200 ชุด
ส่วนระยะสุดท้าย คือปี 63 มีแผนที่จะใช้เครื่องลงคะแนนประมาณ 2,000 ชุด เพื่อใช้กับเขตเลือกตั้งชั้นในกทม. โดยใช้งบผลิตประมาณ 100 ล้านบาท แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการตั้งงบประมาณแต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องอนาคต
" เราไม่ได้ใช้งบประมาณเป็นหมื่นล้าน ผมไม่เข้าใจว่านายภุชงค์ เข้าประชุมกับเขาหรือไม่ ถ้าเข้า คงจะรู้เรื่อง แต่นี่ไม่เข้า จึงไม่รู้เรื่อง" นายสมชัย กล่าว
ผู้สื่อข่าวขอให้ชี้แจงประเด็นที่ นายภุชงค์ นุตราวงศ์ อดีตเลขากกต. โจมตี กกต.เรื่องการทัวร์นอก เรื่องการตั้งที่ปรึกษา ล็อกสเปกโรงพิมพ์บัตรออกเสียงประชามติ โดยนายสมชัย ระบุว่า จริงๆ เรื่องอื่นตนมีคำตอบทั้งหมด แต่เรื่องโรงพิมพ์ และดูงานต่างประเทศ เป็นความรับผิดชอบประธาน กกต. ส่วนเรื่องการตั้งที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ เป็นแนวคิดของ นายประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านการมีส่วนร่วม ขอให้เป็นหน้าที่ของ กกต.แต่ละคนในการชี้แจง แต่ถ้าที่สุดท่านเหล่านั้นไม่ชี้แจง จึงค่อยมาถามตน
นายสมชัย กล่าวด้วยว่า ลักษณะงานของกกต.ไม่เหมือน คตง.หรือ ป.ป.ช. ที่พิจารณาแค่สำนวนคดีเพียงอย่างเดียว จึงสามารถทำงานเป็นบอร์ดได้ แต่ครึ่งหนึ่งของงาน กกต. เป็นงานบริหาร ที่ต้องทำให้เกิดประสิทธิภาพและความคุ้มค่า ไม่ทำงานแบบราชการจนเกินไป ดังนั้นการกำกับแต่ละด้าน ยังจำเป็นอยู่และการรับผิดชอบเป็นด้านถูกออกแบบมาตั้งแต่ กกต.ชุดแรก การจะมาเปลี่ยนแปลง อาจกลายเป็นเรื่องต้องมาลองผิดลองถูกกันใหม่
"แม้ว่า กกต.จะแบ่งงานแต่ละด้าน แต่ไม่ใช่ด้านข้าใครอย่าแตะ ทุกเรื่องต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมกกต. ซึ่งกกต.ทุกท่าน สามารถทักท้วงงานด้านอื่นๆได้ โดยไม่มีการเกรงใจกัน หลายครั้งที่ผมเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม แล้วมีการทักท้วงจากกกต.ท่านอื่น ผมก็ยอมถอยกลับเหมือนกัน แต่ทุกเรื่องแทบจะไม่มีการลงมติ น้อยครั้งที่จะมีการลงมติ หนึ่งในนั้นที่ลงมติ คือการเลิกจ้างเลขาฯ" นายสมชัย กล่าว
เมื่อถามต่อว่าการแบ่งงานเป็นด้านทำให้รองเลขาฯแต่ละด้านขึ้นตรงกับกรรมการกกต.ทำให้เลขาฯถูกมองข้ามหัวหรือไม่ นายสมชัยกล่าวว่า เลขาฯเป็นฝ่ายกำกับทุกอย่าง ถ้าเลขาฯไม่เซ็นต์ไม่มีใครทำอะไรได้เลย ฉะนั้นต้องบอกว่ารองเลขาฯ เห็นหัวเลขาฯ อย่างไรก็ตาม การประชุมกกกต. วันที่ 15 ธ.ค. จะหารือเรื่องการสรรหาเลขาธิการ กกต. คนใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น