xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ดันสมาร์ท ECT ใช้สิทธินอกเขตผ่านอินเทอร์เน็ต เริ่มประชามติพัฒนาสู่เลือกตั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (แฟ้มภาพ)
“สมชัย” เผย กกต.ลุยโครงการสมาร์ท ECT อำนวยความสะดวก ปชช.ใช้สิทธิลงทะเบียนเลือกตั้งนอกเขตผ่านอินเทอร์เน็ต ทดลองใช้ประชามติร่าง รธน. ก่อนปรับใช้เลือกตั้ง 60 อนาคตมีสมัครรับเลือกตั้งผ่านอินเทอร์เน็ต ตัดปัญหาปิดล้อมหน่วยรับสมัคร พร้อมพัฒนาแอปฯ ให้ ปชช.เช็กข้อมูลพรรค-ผู้สมัคร พัฒนาปิดหีบ 2 ชม.สรุปผลไม่เป็นทางการ

วันนี้ (11 พ.ย.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง เปิดเผยว่า กกต.กำลังดำเนินโครงการสมาร์ท ECT เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการออกเสียงประชามติและการเลือกตั้งในอนาคต โดยจะมีการเปิดให้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตผ่านระบบอินเทอร์เน็ตซึ่งจะสามารถนำมาทดลองใช้ในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก่อนที่จะนำไปปรับปรุงใช้ในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในปี 2560 ได้ โดยโมเดลดังกล่าวจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่ประสงค์จะใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตสามารถลงทะเบียนผ่านอินเตอร์เน็ตได้ และสามารถระบุเขตที่ต้องการจะใช้สิทธิได้ และหากประชาชนที่ไม่สะดวกกรอกข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตด้วยตัวเองก็สามารถเดินทางไปยังสำนักงาน กกต.กลาง หรือสำนักงาน กกต.จังหวัดที่ใกล้เคียงเพื่อขอให้สิทธิดังกล่าวได้ โดยจะมีเจ้าหน้าที่กรอกข้อมูลให้ โดยโมเดลดังกล่าวจะมีการนำมาใช้ในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะมีการเปิดให้ผู้สนใจใช้สิทธิออกเสียงประชามตินอกเขตลงทะเบียนผ่านอินเทอร์เน็ตได้ภายในวันที่ 1 เม.ย. - 31 มิ.ย. 2559 ก่อนการออกเสียงลงประชามติ 30วัน และสามารถใช้สิทธิออกเสียงลงประชามติในเขตที่เลือกไว้ได้ในวันกำหนดออกเสียงประชามติ

นายสมชัยกล่าวอีกว่า สำหรับการเลือกตั้งในอนาคต กกต.ได้ดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและพรรคการเมือง โดยมีโครงการที่จะสมัครรับเลือกตั้งในอนาคต โดยให้มีการกรอกข้อมูลพรรคการเมือง และผู้สมัครผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเช่นกัน เพื่อป้องกันปัญหาการปิดล้อมหน่วยรับสมัครเหมือนที่เคยเกิดขึ้น โดยหลังจากนี้ กกต.จะมีการจัดอบรมเจ้าหน้าที่พรรคการเมืองในการกรอกข้อมูลสมัครรับเลือกตั้ง และเมื่อทุกพรรคกรอข้อมูลสมัครรับเลือกตั้งเรียบร้อยแล้วก็จะมาตกลงกันว่าจะจับฉลากเลือกหมายเลขกันเมื่อใด และหมายเลขที่ได้ก็จะเป็นหมายเลขเดียวกันของผู้สมัครจากพรรคนั้นๆทั่วประเทศ

นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาแอปพลิเคชัน “ฉลาดเลือก” ที่จะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถตรวจสอบข้อมูลพรรคการเมือง นโยบาย และข้อมูลผู้สมัครในเขตของตน และเขตอื่น ผ่านแอพลลิเคชั่นได้ โดยใช้เพียงรหัสประจำตัวประชาชน 13 หลักในการเข้าไปดูข้อมูล ทั้งนี้ก็เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลพรรคการเมืองและตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปประกอบการตัดสินใจที่มีเหตุผลในการลงคะแนนได้ นอกจากนั้นยังจะมีการพัฒนาระบบภายในของสำนักงาน กกต. โดยการนับคะแนนการเลือกตั้งในอนาคตตั้งเป้าว่าหลังจากปิดหีบเลือกตั้ง 2 ชั่วโมง กกต.จะสามารถสรุปผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการเพื่อรายงานให้ประชาชนทราบ โดยระบบดังกล่าวจะมีการใช้ทดลองในการออกเสียงประชามติในปี 2559 ก่อนที่จะมีการนำไปปรับปรุงและพัฒนาเพื่อนำไปใช้จริงในการเลือกตั้งปี 2560


กำลังโหลดความคิดเห็น