xs
xsm
sm
md
lg

งัดม.44 แก้ปัญหาตำรวจ ยึดอำนาจเบ็ดเสร็จเพื่อใคร?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

***ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากคำสั่งนี้โดยตรง คงหนีไม่พ้น “ผบ.ตร.” เพราะได้รับอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายทุกระดับเต็มไม่เต็มมือ ตั้งแต่มาตรา 32 เปิดโอกาสให้สามารถกำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้งที่จะใช้ทันที โดยไม่ต้องรอเวลา 180วันเหมือนที่ผ่านมา และในการแต่งตั้งระดับ ผบก.-รองผบ.ตร. ทาง ผบ.ตร. ก็ไม่ต้องดูบัญชีผู้เหมาะสม สามารถแต่งตั้งได้เลย จากเดิมที่ต้องให้ ผบช. เป็นผู้เสนอชื่อขึ้นมา หาก บช.ไม่เสนอก็ไม่สามารถแต่งตั้งได้***

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 44/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจ ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ทันที ตั้งแต่วันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา เรียกเสียงฮือฮา ในแวดวง “สีกากี” ไม่น้อย

คำสั่งดังกล่าวมีทั้งสิ้น 7 ข้อ อ้างเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเกิดความเป็นธรรม อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปในด้านการบริหารราชการแผ่นดินและกระบวนการ ยุติธรรม โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 จึงออกคำสั่งนี้

เนื้อหาสาระที่น่าสนใจเริ่มตั้งแต่ข้อแรกให้ยกเลิกความในมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 และให้ข้อความใหม่แทน คือ มาตรา 32 เพื่อรักษาความเที่ยงธรรมในการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจให้คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ออกกฎ ก.ตร.กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจไว้ให้ชัดเจนแน่นอน กฎ ก.ตร.ดังกล่าวให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งในมาตรา 32 เดิมนั้น กฎ ก.ตร.จะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

นอกจากนี้มีการยกเลิกความในมาตรา 53 และมาตรา 54 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจ ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศ คสช.ที่ 88/2557และใช้ความต่อไปนี้แทน คือ มาตรา 53 การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 44 (1) (2) (3) (4) (5) และ (6) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (1) การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 44 (1) ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่ง จเรตำรวจแห่งชาติ หรือ รองผบ.ตร. แล้วเสนอก.ต.ช. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้ง

(2) การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 44 (2) (3) (4) (5) และ (6) ให้ ผบ.ตร.คัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจเสนอ ก.ตร. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้นายกฯ นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

มาตรา 54 การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่มาตรา 44 (7) ลงมาในสำนักงาน ผบ.ตร.ให้ผบ.ตร.เป็นผู้สั่งแต่งตั้ง ส่วนในกองบัญชาการที่มิได้สังกัดสำนักงาน ผบ.ตร.ให้ผู้บัญชาการเป็นผู้สั่งแต่งตั้ง ส่วนในกรณีที่เป็นการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งจากส่วนราชการ หนึ่งไปอีกส่วนราชการหนึ่ง ให้หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทำความตกลงกัน แล้วให้ ผบ.ตร.หรือผู้บัญชาการที่ประสงค์จะแต่งตั้งเป็นผู้สั่งแต่งตั้ง

โดย ตาม พ.ร.บ.เดิมนั้นในมาตรา 53 การแต่งตั้ง ผบ.ตร. ให้นายกฯ คัดเลือกรายชื่อแล้วเสนอ ก.ต.ช.เพื่อให้ความเห็นชอบก่อนนายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ส่วนการแต่งตั้งจเรตำรวจแห่งชาติ ,รอง ผบ.ตร. ,ผู้ช่วย ผบ.ตร. และ ผบช.นั้น ผบ.ตร.จะคัดเลือกชื่อแล้วเสนอให้ ก.ตร.พิจารณาเห็นชอบก่อนเสนอนายกฯ เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ในขณะที่ตำแหน่ง รอง ผบช. และ ผบก. หากอยู่ในสำนักงาน ผบ.ตร. ก็จะให้ ผบ.ตร.เป็นผู้เสนอต่อ ก.ตร.เพื่อให้เห็นชอบก่อนเสนอนายกฯ ส่วนที่ไม่ได้สังกัดสำนักงาน ผบ.ตร.นั้นก็จะให้ ผบช.เสนอชื่อให้ ผบ.ตร.เพื่อนำเข้า ก.ตร.เห็นชอบก่อนเสนอนายกฯ

คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 44/2558 ยังให้ยกเลิกความในมาตรา 56 และใช้ความต่อไปนี้แทน คือ ในกรณี ผบ.ตร.เห็นว่าการใช้อำนาจในการแต่งตั้งของ ผบช.ไม่เป็นธรรม หรือมีกรณีไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์หรือวิธีการที่ ก.ตร. กำหนดตามมาตรา 57 หรือมีเหตุผลความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ข้าราชการตำรวจซึ่งดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่มาตรา 44 (7) ลงมาพ้นจากพื้นที่หรือหน้าที่ หรือเห็นว่าหากดำรงตำแหน่งเดิมต่อไปจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ หรือมีเหตุพิเศษตามที่ ก.ตร. กำหนด ให้ ผบ.ตร.มีอำนาจสั่งแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 44 (7) ลงมา ได้ตามควรแก่กรณี ซึ่งในมาตรา 56 เดิมนั้นจะเป็นเรื่องโยกย้ายในระดับ รอง ผบช. และ ผบก. เท่านั้น และต้องเสนอให้ ก.ตร.เห็นชอบก่อน

รวมทั้งให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา105/1 ของหมวด 8 การอุทธรณ์ แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจ คือ มาตรา105/1 ในกรณีที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาถึงที่สุดสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขคำสั่งในเรื่องใด ให้เป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจ ก.ตร. หรือ ก.ต.ช. แล้วแต่กรณี ในการสั่งการตามสมควรเพื่อเยียวยาและแก้ไขหรือดำเนินการตามที่เห็นสมควร ข้อ 5 ให้ ก.ตร.ออกกฎ ก.ตร เพื่อปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ

***มีคำถามเกิดขึ้นทันทีว่าการใช้มาตรา 44ผ่าตัดการบริหารงาน”ตำรวจ”ครั้งนี้ ตำรวจได้อะไร หรือใครได้ประโยชน์???***

ก็ต้องบอกว่าสิ่งที่ “ตำรวจ” จะได้รับแบบเต็มๆ มีเพียงเรื่องเดียว คือ การแต่งตั้งโยกย้ายประจำปี จะไม่เจอ “โรคเลื่อน” อีกแล้ว โดยเฉพาะระดับ “นายพัน” ตำแหน่ง รองผู้บังคับการ(รองผบก.)-สารวัตร(สว.) ที่ก.ตร. เพิ่งขยายเวลาการแต่งตั้งจากเดิมต้องเสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 พ.ย. มาเป็นไม่เกินวันที่ 31 ธ.ค.นี้ หลังจากติดปัญหา”เยียวยา”ตำรวจที่ได้รับผลกระทบจากการโยกย้ายเมื่อปีก่อน

เนื่องจากมีการแก้ไขมาตรา 105/1 ของหมวดการอุทธรณ์ ทำให้กลุ่มที่ได้รับการเยียวยาหาก บช.ตกลงไม่ได้ก็ต้องให้ไปดำเนินการให้ศาลปกครองเป็นผู้สั่ง ซึ่งก็ทำให้การแต่งตั้งครั้งนี้แต่ละบช.ไม่ต้องแก้ปมเยียวยาแล้ว

แต่ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากคำสั่งนี้โดยตรง คงหนีไม่พ้น “ผบ.ตร.” เพราะได้รับอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายทุกระดับเต็มไม่เต็มมือ ตั้งแต่มาตรา 32 เปิดโอกาสให้สามารถกำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้งที่จะใช้ทันที โดยไม่ต้องรอเวลา 180วันเหมือนที่ผ่านมา และในการแต่งตั้งระดับ ผบก.-รองผบ.ตร. ทาง ผบ.ตร. ก็ไม่ต้องดูบัญชีผู้เหมาะสม สามารถแต่งตั้งได้เลย จากเดิมที่ต้องให้ ผบช. เป็นผู้เสนอชื่อขึ้นมา หาก บช.ไม่เสนอก็ไม่สามารถแต่งตั้งได้

เช่นเดียวกับการแต่งตั้งระดับ รองผบก.ลงมาจนถึงสารวัตร หาก ผบ.ตร. เห็นว่า บช.แต่งตั้งไม่ถูกต้อง ก็สามารถใช้มาตรา 56แต่งตั้งได้เลย โดยไม่ต้องให้ ก.ตร.อนุมัติเหมือนที่ผ่านมา

***เรียกว่า “ผบ.ตร.” ได้รับดาบอาญาสิทธิ์เต็มที่!!!***

สิ่งที่แวดวง “สีกากี” ตั้งคำถาม คือ อำนาจที่ได้รับ “บิ๊กแป๊ะ”พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.คนปัจจุบันจะใช้อำนาจได้อย่างอิสระ เพื่อประโยชน์ของ”ตำรวจ”ทั้งหมดแค่ไหน หรือเป็นได้แค่เพียง “หุ่น” ที่มี “ผู้มีอำนาจ” สามารถชี้ขาดอนาคตเก้าอี้ “ผบ.ตร.”ได้คอย “เชิด” เพื่อประโยชน์ของพวกพ้อง

***ทั้งการจัดสรรปันส่วนเก้าอี้ รองผบก.-สว. อย่างอิสระโดยไม่ต้องมีกลุ่ม “เยียวยา” มาแบ่งโควตาไป รวมทั้งขยับขยายคนใกล้ชิดระดับ “ผบก.” ไปนั่งเก้าอี้ใหญ่ โดยไม่ต้องสนใจความเห็นจาก “ผบช” เป็นสิ่งที่คนสีกากีกำลังวิพากษ์วิจารณ์กันตอนนี้***.
กำลังโหลดความคิดเห็น