xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ลิเกหลงโรง!?ปฏิรูปตำรวจ–เลือกตั้งผบ.ตร. "นวย ทนได้"ต้องไปถาม2ผู้ยิ่งใหญ่"ลุงตู่–ปู่ป้อม"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -30 กว่าปี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังเป็น“กรมตำรวจ”มีผู้บังคับบัญชาสูงสุดคือ“อธิบดีกรมตำรวจ”ส่วนกองบัญชาการต่างๆ โดยเฉพาะกองบัญชาการตำรวจนครบาล แบ่งพื้นที่บริหารเป็นกองบังคับการตำรวจนครบาลเหนือ กองบังคับการตำรวจนครบาลใต้ และ กองบังคับการตำรวจนครบาลธนบุรี

โครงสร้างการทำงานแบบคร่าวๆ 1 กองบังคับการ มีโรงพักประมาณ 20 สถานีขึ้นไปเช่น บก.น.เหนือประกอบด้วย สน.บางเขน ประชาชื่น เตาปูน คันนายาว มีนบุรี หนองจอก บางชัน หัวหมาก ลาดพร้าว พหลโยธิน บางซื่อ มักกะสัน พญาไท สามเสน ชนะสงคราม จักรวรรดิ บก.น.ใต้ สน.ปทุมวัน ลุมพินี ทองหล่อ คลองตัน พระโขนง บางนา พลับพลาไชย 1-2 บางรัก ยานนาวา วัดพระยาไกร สน.ท่าเรือ

ส่วน บก.น.ธนฯ คือบรรดาโรงพักต่างๆในฝั่งธนบุรี ทั้งหมด รวมทั้งพื้นที่ติดริมน้ำสองฝั่งเจ้าพระยา เช่น สน.บวรมงคล สน.บางคอแหลม เป็นต้น

ในจำนวนโรงพักทั้งหมด ยังแบ่งเป็น 4-5 สน. ต่อ 1 กองกำกับการ และฝ่ายสืบสวนจะมี“กองสืบ”3 กองคือ “สืบเหนือ-สืบใต้-สืบธนบุรี”ช่วงนั้นหน่วยสืบขึ้นชื่อลือชาในด้านปราบปรามอาชญากรรมเป็นที่สุด คดีต่างๆโดยเฉพาะมือปืนรับจ้าง หากเกิดคดีขึ้นในพื้นที่ไหนไม่มีทางรอด เว้นแต่จะจับเป็นหรือจับตายเท่านั้น

ส่วนบรรยากาศตามโรงพักไม่วุ่นวายอย่างทุกวันนี้ ทุกสถานีมีเพียง“สารวัตรใหญ่”เป็นคนรับผิดชอบทั้งหมด ต่อจากสารวัตรใหญ่ คือ สวป.-สวส.-สว.สส.-สว.จร. และเพิ่งจะมีสารวัตรธุรการ เมื่อไม่เกิน 30 ปีที่ผ่านมา หากหลับตานึกภาพตามไป เราจะเห็นว่าขั้นตอนการบังคับบัญชาไม่ยุ่งยากซับซ้อนเช่นปัจจุบัน

ทุกสถานียึดถือความอาวุโส คนเป็น“นาย”หรือคนเป็น “พี่”ใช้ความสามารถส่วนตัว ใช้จิตวิญญาณผู้นำปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเท่าเทียม แต่อาจมีบางแห่งที่มีปัญหาบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แต่ภาพรวมนับว่าดี สายงานบังคับบัญชาชัดเจนไม่วุ่นวายอย่างทุกวันนี้

ก่อนการเปลี่ยนโครงสร้างจาก“กรมตำรวจ”มาเป็น "สำนักงานตำรวจแห่งชาติ" มีปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ไล่มาตั้งแต่ตำแหน่ง “ผู้นำสีกากี”หากใครไม่สนองนโยบายนักการเมือง เก้าอี้จะต้องร้อนเป็นไฟ ถูกเด้งก่อนกำหนด เมื่อจัดการขวากหนามอำนาจไปแล้ว ก็จะแต่งตั้งคนของตัวขึ้นมาเป็น “อธิบดีกรมตำรวจ”หรือ “ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ”

หมุนเวียนเป็นบ่วงโซ่ ไม่เว้นกระทั่งยุคที่พูดกันอย่างเต็มปากว่า เป็นยุคปฏิรูปบ้านเมือง !!??

พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เป็นอธิบดีกรมตำรวจ คนสุดท้าย และ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คนแรก แต่ในที่สุดก็ไม่พ้นโดยการเมืองเล่น ต้องกระโจนเข้าไปเล่นการเมือง

วันนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหน่วยงานในสังกัดมากมาย ที่เป็นหลักก็คือ ตำรวจนครบาล ตำรวจภูธร ( 9 กองบัญชาการ) ตำรวจสอบสวนกลาง (กองปราบ-ทางหลวง-ตำรวจน้ำ-กองบินตำรวจ) ตำรวจสันติบาล ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ส่วนระดับจุลภาค หรือระดับโรงพัก จากเดิม 1 กองกำกับ มี 4-5 สถานี กลายเป็น 1 โรงพักต่อ 1 กองกำกับ เพราะเลิกให้“สารวัตรใหญ่” ดูแลขยับมาเป็น “ผู้กำกับ”ติดตามด้วย รอง ผกก. อีก 4-5 โขยง คือ รอง ผกก.ป. รอง ผกก.สอบสวน รอง ผกก.สืบสวน รอง ผกก.จราจร เป็นต้น

โครงสร้างตำรวจเปลี่ยน แต่ส่วนรวมไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เพราะทุกอย่างยังเหมือนเดิม ปัญหาโจรผู้ร้าย ปัญหาการคอร์รัปชัน เรื่องสายงานการบังคับบัญชาที่สลับซับซ้อนมากขึ้น จึงเป็นการปรับโครงสร้างเพื่อตำรวจอย่างเดียว มีทั้งขยายตำแหน่ง“แบ่งผลประโยชน์” กันถ้วนหน้าและยิบย่อยกันมากขึ้น

ไม่เว้นกระทั่งหน่วยงานเสริม เช่น กองบังคับการสายตรวจและหน่วยปฏิบัติการพิเศษ (191) กองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี ส่วนหนึ่งเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม แต่ในเชิงยุทธศาสตร์ตำแหน่ง ผบก. 191 หรือ ผกก.สด. มักเป็นคนของ“ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล”เพื่อเป็นมือเป็นไม้ ใช้ทำงานในเรื่องที่ไว้เนื้อเชื่อใจกันได้จริงๆ

ถามว่า แล้วประชาชนได้อะไรไหม ? ถ้าได้... มากหรือน้อย คุ้มค่ากับภาษีอากรที่จ่ายไปหรือไม่

สัปดาห์ที่ผ่านมา พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหหมาย และกระบวนการยุติธรรม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ที่เป็นต้นเหตุทำให้ตำรวจอ่อนแอ เนื่องจากมีนักการเมืองเข้ามาแทรกแซง โดยระบุให้นายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร.

พล.ต.ท.อำนวย ยังเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่าทางตันด้วยการใช้ ม.44 ให้จัดการเลือกตั้งตำแหน่ง ผบ.ตร. โดยรายละเอียดต่างๆ จะนำเสนออีกครั้ง หากสังคมให้การตอบรับ

เหตุผลของการปฏิรูปตำรวจก็ดี หรือกระทั่งการเสนอให้นายกฯใช้ ม.44 จัดให้มีการเลือกตั้งตำแหน่ง ผบ.ตร. เกิดขึ้น เพราะสังคมตื่นตัว มองเห็นว่าทุกวันนี้ การปฏิบัติหน้าที่ หรือการใช้อำนาจของตำรวจยังพิกลพิการ มีปัญหาจนไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้

ข้อเสนอนานัปการ ของการปฏิรูปตำรวจ เช่น แยกพนักงานสอบสวนให้ขึ้นตรงต่อกระทรวงยุติธรรม หรือปรับโอนย้ายหน่วยงานอื่นๆ เช่น ตำรวจป่าไม้ ไปขึ้นกับกระทรวงเกษตรฯ ตำรวจจราจร ขึ้นกับกรุงเทพมหานคร หรือตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ขึ้นตรงต่อกระทรวงการต่างประเทศ ในทุกข้อเสนอนั้น ยังคงย่ำเท้าอยู่กับที่ นั่นเพราะอะไร คนในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คงทราบกันดี

รับใช้ทหาร กับรับใช้นักการเมือง มันจะต่างอะไรกัน !?

ปฏิรูปตำรวจเพื่อตำรวจ หรือปฏิรูปตำรวจเพื่อประชาชน จึงเป็นเพียงวาทะกรรมหรูๆ ที่โกหกพกลมไปวันๆ เพราะเรื่องจริงยังมองไม่เห็นว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

ประเด็นนี้จึงกลับมายังไอเดียเลือกตั้ง ผบ.ตร.

เจ้าของความคิดจะรับประกันได้อย่างไรว่า เมื่อได้ ผบ.ตร. จากการเลือกตั้งแล้ว จะหลุดจากเงื้อมมือผู้มีอำนาจ อีกทั้งรูปแบบของการเลือกตั้ง จะให้ใครเป็นเลือก คุณสมบัติของผู้สมัคร จะเป็นอย่างไร ถามจริง คิดว่าจะพ้นจากนักการเมือง หรือรัฐบาลในเวลานั้นหรือ ตัวอย่างสมัยหนึ่งตำรวจขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย ก็ร้องขอขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ผ่านไปเอาใหม่อีก คราวนี้ให้มาจากเลือกตั้ง

อยากให้ พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน มองย้อนอดีตดูด้วยหัวใจเป็นธรรม ส่วนหนึ่งของความพิกลพิการ ความเน่าเหม็น ก็มาจากตำรวจด้วยกันเอง ตำรวจที่จะได้เป็นใหญ่ เป็น ผบ.ตร. หรือ ผบช.-ผบก. อย่ามาพูดว่า ได้มาเพราะผลงาน หรือได้มาเพราะความบริสุทธิ์ ทุกตำแหน่งในระดับนี้ ได้มาเพราะความเข้มข้นของระบบอุปถัมป์ การเล่นพรรคเล่นพวก จนอาจไปถึงผลประโยชน์ที่ประสานสอดคล้องกันบางอย่าง มันแค่นั้นจริงๆ ดังนั้นการแก้ปัญหาตำรวจให้เห็นเป็นรูปธรรม จึงควรเริ่มที่ความจริงใจของคนมีอำนาจ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คือ หมายเลข 1 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ดูแลฝ่ายความมั่นคง และ สตช. คือ หมายเลข 2

ถ้าสองคนนี้เอาด้วย การปฏิรูปตำรวจจะต้องเดินหน้าอย่างเห็นมรรคเห็นผลแน่นอน เว้นแต่ว่า“ลุงตู่-ปู่ป้อม”จะเอ็นดูตำรวจตัวเบิ้มๆ ที่ล้อมหน้าล้อมหลังในตอนนี้ เพราะถ้าผ่าตัดกันจริงๆ ตำรวจไทยจะเหลือคุณค่าแค่เพียงรปภ. หรือยามเฝ้าประเทศเท่านั้น ไหนๆ ก็ลงเรือลำเดียวกันแล้วอ่านใจกัน ท่านคงไม่ทำแน่ เว้นแต่ให้เป็นหน้าที่ของสภาขับเคลื่อน เซิ้งกันไปเซิ้งกันมา กว่าจะเกิดคงเป็นชาติหน้าตอนบ่ายแก่ๆ



กำลังโหลดความคิดเห็น