xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

รัสเซียแฉ! ผู้นำตุรกี เอี่ยวผลประโยชน์ “ค้าน้ำมันเถื่อน”กับกลุ่มนักรบรัฐอิสลาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเด็นร้อนฉ่าในเรื่องความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานระหว่างรัสเซียและตุรกี กำลังถูกจับจ้องจากผู้คนจำนวนไม่น้อยจากทั่วทุกมุมโลก นับตั้งแต่ที่กองทัพตุรกีจัดการสอยเครื่องบินรบของรัสเซียตกใกล้ชายแดนซีเรียเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยล่าสุดทางการแดนหมีขาวแฉหลักฐานเด็ด ระบุ ประธานาธิบดีเรเซ็ป เตย์ยิป เออร์โดกัน ผู้นำตุรกีและสมาชิกในครอบครัว “มีเอี่ยว” กับการลักลอบนำเข้า“น้ำมันเถื่อน”จากพื้นที่ที่ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของกลุ่มนักรบรัฐอิสลาม(ไอเอส) ทั้งในซีเรียและอิรัก

กระทรวงกลาโหมของรัสเซียออกโรงยืนยันในวันพุธ(2 ธ.ค.) ว่า รัสเซียมีหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า เรเซ็ป เตย์ยิป เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกีและครอบครัวของเขาได้รับผลประโยชน์จำนวนมหาศาล จากการลักลอบนำเข้าน้ำมันผิดกฎหมายจากดินแดนที่อยู่ภายใต้การยึดครองของพวกนักรบไอ เอสในซีเรียและอิรัก

ในระหว่างการแถลงล่าสุดที่มีขึ้นในกรุงมอสโก เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมรัสเซียได้เปิดเผยหลักฐานซึ่งเป็นภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นถึงขบวนรถบรรทุกน้ำมันตามโรงกลั่นต่างๆที่อยู่ในพื้นที่ยึดครองของกลุ่ม นักรบไอเอส ทั้งในซีเรียและในอิรัก ซึ่งในเวลาต่อมา ขบวนรถบรรทุกน้ำมัน เหล่านี้ ได้แล่นข้ามพรมแดนเข้าสู่ตุรกี ที่มีอาณาเขตติดต่อกับทั้งซีเรียและอิรักแบบผ่านฉลุย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลตุรกีภายใต้การนำของเออร์โดกัน ต้องมีส่วนรู้เห็นกับการค้าน้ำมันเถื่อนกับกลุ่มก่อการร้ายอิสลามิสต์ของพวกมุสลิมสุหนี่หัวสุดโต่งกลุ่มนี้

อนาโตลี อันโตนอฟ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมรัสเซีย เปิดเผยว่า รัสเซียยังมีหลักฐานอื่นๆ ที่ยืนยันได้ว่า ตุรกี คือ “ลูกค้ารายสำคัญ”ของ“น้ำมันเถื่อน” ที่ผลิตได้ในเขตยึดครองของนักรบรัฐอิสลาม และเป็นการจงใจของรัฐบาลตุรกีในการร่วมรู้เห็นขโมยทรัพยากรเหล่านี้ มาจาก “เจ้าของที่ชอบธรรม” ที่แท้จริงอย่างชาวซีเรีย และชาวอิรัก

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมของรัสเซียยังระบุด้วยว่า จากข้อมูลข่าวกรองที่รัสเซียมีอยู่ในมือเวลานี้ รัสเซียพบว่า ประธานาธิบดีเออร์โดกันแห่งตุรกีและครอบครัว ตลอดจนนักการเมืองที่มีตำแหน่งระดับสูงในรัฐบาลเติร์กอีกหลายรายมีส่วนพัวพันกับเรื่องอื้อฉาวและ “ธุรกิจสกปรก” นี้ ซึ่งเท่ากับว่า รัฐบาลตุรกีในยุคเออร์โดกันมีส่วนโดยตรงในการสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายที่เป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงของโลกอย่างร้ายแรงอยู่ในเวลานี้

ตลอดระยะเวลาหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งรัฐบาลมอสโกและอังการาต่างพยายามก่อสงครามน้ำลายระหว่างกัน ซึ่งความขัดแย้งนี้มีต้นตอมาจากความร้าวฉานที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่เครื่องบินกองทัพอากาศตุรกียิงเครื่องบินของรบของรัสเซียตกใกล้กับชายแดนซีเรีย ที่นับเป็นเหตุกระทบกระทั่งครั้งเลวร้ายรุนแรงที่สุดระหว่างรัสเซีย กับประเทศที่เป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ในรอบกว่าครึ่งศตวรรษ

แน่นอนว่า เรเซ็ป เตย์ยิป เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี ย่อมต้องออกโรงตอบโต้ กับข้อกล่าวหาที่รุนแรงของรัสเซีย หลังถูกเจ้าหน้าที่ระดับสูงของมอสโกแสดงหลักฐาน ที่แสดงความเชื่อมโยงระหว่างผู้นำตุรกีและสมาชิกในครอบครัว กับการลักลอบซื้อน้ำมันเถื่อนจากพวกนักรบญิฮัดรัฐอิสลาม ที่ขึ้นแท่นเป็นกลุ่มก่อการร้ายหมายเลขหนึ่งของโลกไปแล้วในเวลานี้

“ไม่ว่าใครหน้าไหนก็ไม่มีสิทธิ์ใส่ร้ายป้ายสีตุรกี ด้วยการแอบอ้างหลักฐานเท็จว่าตุรกีซื้อน้ำมันเถื่อนจากกลุ่มไอเอส” เรเซ็ป เตย์ยิป เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี ออกโรงให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งของตุรกีระหว่างที่เขาเดินทางเยือนรัฐเศรษฐีอาหรับอย่างกาตาร์ พร้อมให้คำมั่นว่า ยินดีจะลาออกจากตำแหน่งหากว่าข้อกล่าวหาต่างๆ ของรัสเซียในเรื่องนี้ ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็น “ความจริง”

เหตุเครื่องบินรบของตุรกียิงเครื่องบินรบของรัสเซียตกบริเวณชายแดนตุรกี-ซีเรียเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้ฉุดให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลมอสโกและอังการา มีอันต้องถลำเข้าสู่วิกฤตครั้งเลวร้ายที่สุด นับตั้งแต่ยุค“สงครามเย็น” เป็นต้นมา โดยทางการตุรกีกล่าวอ้างว่าเครื่องบินรบรัสเซีย รุกล้ำน่านฟ้าของตน และเพิกเฉยต่อคำเตือนหลายรอบ แต่ฝ่ายรัสเซีย ยืนยันว่า เครื่องบินรบของตนยังอยู่เหนือน่านฟ้าซีเรียในขณะที่ถูกฝ่ายตุรกีโจมตี ตลอดจนย้ำว่า ไม่เคยได้รับการแจ้งเตือนแม้แต่ครั้งเดียวจากตุรกี

หลังเกิดเหตุกระทบความสัมพันธ์ดังกล่าว รัฐบาลรัสเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นผู้จัดหาพลังงานรายใหญ่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของตุรกีตลอดหลายปีที่ผ่านมา ได้ดำเนินการตอบโต้ต่อตุรกี โดยกำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ ต่อตุรกี ทั้งการห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรและ อาหารจากตุรกี การออกคำแนะนำพลเมืองรัสเซียไม่ให้เดินทางไปเยือนตุรกี เรื่อยไปจนถึงการสั่งห้ามสโมสรฟุตบอลในรัสเซียทำการซื้อตัวผู้เล่นชาวตุรกีเข้ามาร่วมทีม

ความขัดแย้งที่ยังคงร้อนระอุต่อเนื่องระหว่างรัสเซียและตุรกี ส่งผลให้บรรดาชาติพันธมิตรนาโตที่นำโดยสหรัฐอเมริกาและบรรดาประเทศลิ่วล้อในยุโรปตะวันตก ประกาศทบทวนแผนถอนระบบต่อต้านอากาศยานและขีปนาวุธ“แพทริออต” ของพวกตน ที่ได้เคลื่อนย้ายเข้ามาติดตั้งในตุรกีตั้งแต่2 ปีที่แล้วออกไปก่อน และสมาชิกนาโตหลายชาติเสนอจัดส่งเรือรบเข้าสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนด้านตะวันออก รวมถึง เสนอส่งเครื่องบินรบเข้ามาประจำการที่ฐานทัพอากาศอินเซอร์ลิก ของตุรกี ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้แก่รัฐบาลอังการา ที่กำลังเผชิญวิกฤตด้านการทูตครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ

จนถึงขณะนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและตุรกี จะจบลงอย่างไรและจะยุติลงเมื่อใดท่ามกลางสงครามน้ำลายและสงครามจิตวิทยาที่ทั้งสองฝ่ายต่างประโคมถาโถมเข้าใส่กัน อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายลงความเห็นว่า หนทางเดียวที่น่าจะช่วย “ฝ่าทางตัน” ในวิกฤตความสัมพันธ์ที่เสื่อมทรามระหว่างรัฐบาลมอสโกและรัฐบาลอังการาในคราวนี้ คงหนีไม่พ้นการใช้ “การทูต” เป็นเครื่องมือแก้ปัญหา

แต่ถึงกระนั้น ทางการตุรกี โดยเฉพาะผู้นำอย่างประธานาธิบดีเรเซ็ป เตย์ยิป เออร์โดกัน คงต้องเร่งสร้างความชัดเจนและต้องตอบคำถามคาใจของผู้คนทั่วโลกให้ได้ เกี่ยวกับความเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายสุดโต่งอย่างไอเอส และผลประโยชน์มหาศาลจากการค้าน้ำมันเถื่อนที่มีต้นตอมาจากพื้นที่ยึดครองของพวกนักรบรัฐอิสลาม





กำลังโหลดความคิดเห็น