เอเจนซีส์ - สถานการณ์ความขัดแย้งจากกรณีเครื่องบินรบรัสเซียถูกอังการาสอยร่วงเมื่อเดือนที่แล้ว ยังคงระอุต่อเนื่อง พันธมิตรนาโตเตรียมส่งเครื่องบินและขีปนาวุธแพทริออตเสริมเขี้ยวเล็บการป้องกันทางอากาศของตุรกีบริเวณติดกับชายแดนซีเรีย หลังจากหมีขาวส่งเครื่องบินรบซู-34 และระบบต่อต้านขีปนาวุธไฮเทค เอส-400 เข้าซีเรีย พร้อมกันนี้มอสโกยังประกาศรายชื่อสินค้าที่จะงดนำเข้าเพื่อสั่งสอนตุรกี อย่างไรก็ตาม ด้านประธานาธิบดีเออร์โดกันเล่นบทประนีประนอม ยืนยันไม่คิดตอบโต้เครมลิน และล่าสุด รัฐมนตรีต่างประเทศหมีขาวบอกในวันพุธ (2 ธ.ค.) ว่ายินดีเจรจาด้วยตามที่ฝ่ายตุรกี “รบเร้า”
หลายสัปดาห์ก่อนหน้านี้ อเมริกากับเยอรมนีได้ประกาศดำเนินการถอนระบบต่อต้านอากาศยานและขีปนาวุธ “แพทริออต” ของพวกตนที่ได้เคลื่อนย้ายเข้ามาช่วยเหลือปกป้องตุรกีตั้งแต่ 2 ปีก่อน และปัจจุบันจึงมีเพียงระบบแพทริออตของสเปนเท่านั้นซึ่งยังประจำอยู่ในแดนเติร์ก แต่เมื่อเกิดกรณีตุรกียิงเครื่องบินรัสเซีย ทำให้มอสโกตอบโต้ทั้งด้วยถ้อยคำโวหารโกรธเกรี้ยว การลงโทษคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และการเคลื่อนย้ายอาวุธยุทโธปกรณ์ไฮเทคเข้ามาประชิดพรมแดนตุรกี พวกรัฐสมาชิกอื่นๆ ขององค์การสนธิสัญญาปกป้องแอตแลนติกเหนือ (นาโต) จึงเห็นว่าต้องพยายามฟื้นฟูขวัญกำลังใจของอังการา
หลายชาติเสนอส่งเรือและเครื่องบินช่วยอังการา โดยนักการทูตเผยว่า มาตรการเหล่านี้รวมถึงการส่งเรือรบมาประจำการเพิ่มในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนด้านตะวันออก เสริมเครื่องบินในฐานทัพอินเซอร์ลิก ของตุรกี และติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธแพทริออตเพิ่มเติม
จนถึงขณะนี้ อเมริกาได้ส่งเครื่องบินขับไล่พิเศษที่ออกมาแบบเพื่อสกัดกั้นเครื่องบินทิ้งระเบิด ตลอดจนเครื่องบินตรวจการณ์ ไปประจำในฐานทัพอากาศอินเซอร์ลิก ส่วนอังกฤษมีแผนส่งเครื่องบินรบไปยังตุรกี หลังจากนาโตอนุมัติมาตรการเสริมกำลังอังการาอย่างเป็นทางการ ขณะที่เยอรมนีและเดนมาร์กกำลังส่งเรือรบเข้าร่วมกับกองเรือนาโตทางตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และนาโตอาจส่งเครื่องบินตรวจการณ์ “เอแว็กซ์” ซึ่งสามารถเตือนภัยล่วงหน้าและควบคุมสั่งการกลางอากาศ ไปสมทบ
บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของนาโตออกคำแถลงภายหลังการประชุมเมื่อวันอังคาร (1) ว่า สถานการณ์ตามแนวพรมแดนตุรกีที่ติดต่อกับซีเรียและอิรัก ไร้เสถียรภาพอย่างยิ่ง พร้อมประกาศความมุ่งมั่นในการเพิ่มระบบป้องกันภัยทางอากาศให้แก่อังการา รวมถึงพิจารณาส่งกำลังทหารไปสนับสนุน
บางประเทศ เช่น เยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ ต้องการให้ตุรกีและนาโตหารือกับรัสเซียเพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุทางอากาศซ้ำรอย
ขณะที่ เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการใหญ่นาโต คาดหวังว่าจะมีการตัดสินใจเรื่องนี้ภายในไม่กี่สัปดาห์ พร้อมยืนยันว่า การเตรียมการเหล่านี้เป็นสิ่งที่คิดกันอยู่ก่อนแล้ว ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ตุรกียิงเครื่องบินรัสเซีย เขายังเรียกร้องให้สองฝ่ายหาทางยุติความขัดแย้งด้วย
นาโตนั้นติดตั้งระบบขีปนาวุธแพทริออตจากพื้นสู่อากาศ ตามแนวชายแดนตุรกีตั้งแต่เดือนมกราคม 2013 เพื่อป้องกันขีปนาวุธจากการสู้รบในซีเรีย และอังการาเรียกร้องให้พันธมิตรคงระบบนี้ต่อไปตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดเรื่องผิดใจครั้งใหญ่กับมอสโก จากการยิงเครื่องบินรบรัสเซียเมื่อวันที่ 24 เดือนที่แล้ว
เครมลินซึ่งยืนยันว่า เครื่องบินของตนไม่ได้ล่วงล้ำน่านฟ้าตุรกี ได้ตอบโต้ด้วยการนำระบบต่อต้านขีปนาวุธขั้นสูง เอส-400 ที่สามารถทำลายเป้าหมายในระยะไกลถึง 400 กม. เข้ามาประจำการในซีเรีย รวมทั้งนำเครื่องบินทิ้งระเบิด ซู-34 ที่ติดตั้งระบบขีปนาวุธจากอากาศสู่อากาศ ปฏิบัติการในซีเรียครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ (30 พ.ย.)
ต่อมาในวันอังคาร (1) นายกรัฐมนตรีดมิทรี เมดเวเดฟ ลงนามกฤษฎีกามาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อตุรกีที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปีหน้า ครอบคลุมการห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหาร 17 ประเภท อาทิ มะเขือเทศ หอมใหญ่ ส้ม ลูกแพร์ พีช เกลือ และไก่งวง แต่ไม่รวมผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล เช่น เลมอน
นอกจากนั้น มอสโกยังระงับเที่ยวบินเช่าเหมาลำระหว่างกันโดยมีผลทันที ยุติการขายแพ็คเกจท่องเที่ยวตุรกี และจะยกเลิกการงดเว้นวีซ่าสำหรับชาวตุรกีตั้งแต่ต้นปีหน้า
กฤษฎีกาของเครมลินยังห้ามบริษัทก่อสร้างตุรกีร่วมประมูลโครงการของรัฐบาลรัสเซีย
ทางด้านประธานาธิบดีรีเซป เทย์ยิป เออร์โดกัน ให้สัมภาษณ์เมื่อวันพุธ (2) ว่า ตุรกีจะไม่ตอบโต้มาตรการแซงก์ชัน “ด้วยอารมณ์” ของรัสเซีย ซึ่งเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และจะจัดส่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งรวมถึงอาหารให้ตามปกติ
ผู้นำตุรกียังบอกว่า ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าประชาชนตุรกีจะต้องการตอบโต้พลเมืองรัสเซียในตุรกี แต่การกระทำดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของกฎหมาย
เออร์โดกันสำทับว่า แม้รัสเซียส่งก๊าซธรรมชาติให้ตุรกีกว่าครึ่งของซัปพลายภายในประเทศ แต่ตนไม่รู้สึกสะทกสะท้านกับความเสี่ยงที่รัสเซียจะระงับการส่งออกนี้ เนื่องจากตุรกีคุ้นเคยดีกับความยากลำบาก และมีซัปพลายเออร์อื่นๆ นอกเหนือจากรัสเซีย
เออร์โดกันตั้งข้อสังเกตทิ้งท้ายว่า ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย เคยชมตนว่าเป็นผู้นำประเทศที่กล้าหาญและซื่อสัตย์
ในวันพุธเช่นกัน รัฐมนตรีต่างประเทศเซียร์เกย์ ลาฟรอฟ ของรัสเซีย แถลงว่า เขายินดีที่จะพบปะเจรจากับรัฐมนตรีต่างประเทศ เมฟลุต คาวูโซกลู ของตุรกี ในสัปดาห์นี้ ซึ่งจะเป็นการพบหน้าพูดจากันในระดับสูงครั้งแรกของสองประเทศภายหลังเกิดกรณีอังการายิงเครื่องบินแดนหมีขาวตก
ลาฟรอฟบอกว่า คาวูโซกลู “รบเร้า” ขอให้จัดการพบหารือกันข้างเคียงการประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (โอเอสซีอี) ที่กำหนดจัดขึ้นในกรุงเบลเกรด ประเทศเซอร์เบีย วันพฤหัสบดี (3) และวันศุกร์ (4) นี้
“เราจะไม่หลบเลี่ยงการติดต่อนี้” ลาฟรอฟ กล่าว “เราจะฟังสิ่งที่มิสเตอร์คาวูโซกลูต้องการจะพูด บางทีอาจจะมีอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา หลังจากสิ่งที่ได้พูดกันต่อสาธารณชนไปแล้วก็ได้”