ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
หากนำอัตราการตายบนท้องถนนมาเป็นตัวชี้วัดสภาวะการพัฒนาประเทศ เราอาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยมีภาวะด้อยพัฒนาเกือบจะที่สุดในโลก จากการศึกษาเปรียบเทียบอัตราการตายบนท้องถนนของประเทศต่างๆทั่วโลกซึ่งจัดทำโดยองค์การอนามัยโลกและนักวิชาการในรายงานปี 2556 และ2557 พบว่าประเทศไทยติดลำดับต้นๆของโลกในเรื่องอัตราการตายบนท้องถนน และรายงานปี 2558 ประเทศไทยขยับขึ้นไปเป็นที่ 1 ของโลกแล้ว
เมื่อปี 2556 รายงานความปลอดภัยทางถนนของโลก พ.ศ.2556 (Global Status Report on Road Safety 2013) ซึ่งจัดทำโดยองค์การอนามัยโลก พบว่าอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของไทยอยู่ในอันดับ 3 ของโลก เสียชีวิตถึง 38.1 คนต่อประชากร 1 แสนคน รองจากประเทศเกาะนีอูเอ และสาธารณรัฐโดมินิกัน และล่าสุดรายงานเรื่องเดียวกันนี้ในปี 2558 ประเทศไทยได้รับการเลื่อนขึ้นเป็นอันดับ 1 เรียบร้อยแล้วครับ โดยมีอัตราคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุดในโลก หรือเสียชีวิต 36.2 คน ต่อประชากร 1 แสนคน ส่วนลำดับ 2 คือประเทศมาลาวี ซึ่งเสียชีวิต 35 คน ต่อประชากร 1 แสนคน ( http://www.who.int/violence_injury_prevention/road_safety_status/2015/en/)
สำหรับรายงานวิจัยอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งจัดทำโดยนักวิชาการของสถาบันวิจัยการคมนาคม แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ชื่อ Michael Sivak and Brandon Schoettle เมื่อปี 2557 แม้ว่าตัวเลขไม่ตรงกันกับรายงานขององค์การอนามัยโลก แต่ก็พบอัตราการตายในทิศทางเดียวกันกับรายงานขององค์การอนามัยโลก คือประเทศไทยมีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นลำดับ 2 ของโลก โดยมีอัตราการตาย 44 คนต่อประชากร 1 แสนคน รองจากลำดับหนึ่งคือประเทศนาบิเบียซึ่งมีอัตราการตาย 45 คน ต่อประชากร 1 แสนคน สำหรับอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนของประเทศต่างๆทั่วโลกมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 18 คน ต่อประชากร 1 แสนคน (http://www.livescience.com/43462-countries-crash-death-rates.html)
ส่วนข้อมูลอัตราการตายจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุขในช่วงปี พ.ศ. 2556 ปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิต 14,789 คน คิดเป็นอัตรา 22.89 ต่อประชากร 100,000 คน (http://thaincd.com/document/file/info/injured) ซึ่งเป็นอัตราการตายที่น้อยกว่ารายงานจากองค์การอนามัยโลกและงานวิจัยที่นักวิชาการชาวอเมริกันได้ศึกษา ไม่ว่าข้อมูลของแต่ละแห่งจะแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด แต่มีจุดร่วมประการหนึ่งคือทั้งสามแห่งมีทิศทางที่สอดคล้องกันนั่นคือ อัตราการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก
จากข้อมูลดังกล่าว เราคงต้องมาสำรวจตรวจตราดูว่ามีความผิดปกติอะไรเกิดขึ้นในสังคมไทย อันเป็นเงื่อนไขหรือปัจจัยที่ทำให้อัตราการตายด้วยอุบัติเหตุสูงที่สุดในโลก ทั้งๆที่ในระยะหลายปีหลังสังคมไทยได้ทุ่มเทงบประมาณในการรณรงค์สร้างจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนอย่างมากมาย มีการออกกฎหมายและกฎระเบียบอีกหลายอย่างในการป้องกันอุบัติเหตุ และมีการใช้เทคโนโลยีตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการตรวจจับและลงโทษผู้ทำผิดกฎหมายจราจรอย่างเข้มงวด แต่ดูเหมือนว่างบประมาณที่ใช้ โครงการที่ทำ และมาตรการที่ลงโทษ ไม่ก่อให้เกิดประสิทธิผลในแง่ที่ทำให้อัตราการจากอุบัติเหตุบนท้องถนนลดลงแต่อย่างใด
สิ่งที่เห็นซึ่งดำเนินการโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็คือการพยายามใช้วิธีการแบบเดิมๆที่เคยล้มเหลวในอดีตนั่นแหละมาเป็นแนวทางในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเพิ่มงบประมาณและโครงการรณรงค์โดยหลายหน่วยงาน เช่น กรมการขนส่งทางบก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และการเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการทางกฎหมายโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
เมื่อดูสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนที่มูลนิธิเมาไม่ขับสรุปออกมามีถึง 10 สาเหตุคือ 1) เมาสุรา 2) ขับรถเร็วเกินกำหนด 3) ตัดหน้ากระชั้นชิด 4) ทัศนวิสัยไม่ดี 5) หลับใน 6) ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร 7) แซงรถในที่คับขัน 8) โทรศัพท์ขณะขับรถ 9) บรรทุกเกินอัตรา 10) มีสิ่งกีดขวางบนถนน ผมเข้าใจว่าทางมูลนิธิคงสรุปโดยพิจารณาจากสาเหตุที่เกิดมากที่สุดไปยังน้อยที่สุด
สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยม อุปนิสัยและพฤติกรรมของคนไทยเป็นอย่างดี อย่างการดื่มสุราของคนไทยเกี่ยวข้องกับค่านิยมรักสนุกอย่างไร้สติ การดื่มสุราเกิดขึ้นอย่างเป็นแบบแผนเสมือนหนึ่งเป็นบรรทัดฐานของสังคมไทย แบบแผนที่เราเห็นกันประจำก็มี 3 แบบใหญ่ๆ คือ การสังสรรค์กับเพื่อนฝูงในชีวิตประจำวันปกติ คนไทยจำนวนมากนิยมรวมกลุ่มกันไปรับประทานอาหารและดื่มสุราไปด้วยในกลุ่มเพื่อนฝูง เรียกว่าทำกันเป็นประจำเดือนหรือประจำสัปดาห์ก็มี
สำหรับแบบแผนประการที่สองคือการดื่มเมื่อมีงานประเพณีส่วนตัว ซึ่งเกิดเป็นบางครั้งบางคราวอาจจะปีละครั้งสองครั้ง เช่น งานวันเกิด งานแต่งงาน งานเลี้ยงรุ่นของกลุ่มเพื่อนร่วมสถานศึกษา ระยะหลังนี้เห็นการเลี้ยงระหว่างเพื่อนเก่าๆร่วมรุ่นในระดับต่างๆเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เมื่อมีเทคโนโลยีอย่าง line ที่ทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มเพื่อนเก่าๆขึ้นมา
ส่วนแบบแผนประการที่สามคือการดื่มในเทศกาลตามประเพณีและมีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน เช่น วันปีใหม่ วันสงกรานต์ การดื่มในเทศกาลเหล่านี้เรียกว่าดื่มกันอย่างจริงจัง ดื่มกันอย่างไม่ยั้งปากและเกิดขึ้นในขอบเขตทั่วประเทศ
ด้วยอุปนิสัยการชอบดื่มสุรา ผนวกกับอุปนิสัยที่รักสนุก ไม่จริงจังกับกฎเกณฑ์ ละเลยเพิกเฉยความปลอดภัยและระเบียบต่างๆ ซึ่งเรามักจะได้ยินคำพูดที่นิยมพูดกันในคนไทยทั่วไปคือ “ไม่เป็นไร” รวมทั้งค่านิยมแสดงความอวดดี อวดเก่ง และอวดอำนาจ จึงทำให้คนเมาจำนวนมาก ขับรถยนต์บ้าง หรือจักรยานยนต์บ้าง และในที่สุดก็จบลงด้วยอุบัติเหตุและเสียชีวิตไป
ส่วนสาเหตุอื่นๆซึ่งอาจไม่เกี่ยวกับค่านิยมทางสังคมมากนักแต่เป็นเรื่องอุปนิสัยของปัจเจกบุคคลอันได้แก่ การขับรถเร็วเกินกำหนด การตัดหน้ากระชั้นชิด การฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร และการแซงรถในที่คับขัน และการโทรศัพท์ขณะขับรถ เป็นสาเหตุที่สามารถหาวิธีการแก้ไขได้ง่ายกว่าสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับค่านิยมและวัฒนธรรมของสังคม
บางสาเหตุอย่าง การขับรถเร็วเกินกำหนด หรือ การบรรทุกน้ำหนักเกิน เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพ ซึ่งมีเรื่องความโลภเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การที่คนขับรถตู้โดยสารขับรถเร็วทำเวลา เพื่อจะได้มีคิวขับมากขึ้น หรือ การบรรทุกน้ำหนักเกินก็เพื่อลดต้นทุนและทำให้ได้กำไรมากขึ้น สองสาเหตุนี้สามารถแก้ไขได้ไม่ยากนักหากมีการจัดระบบควบคุมอย่างจริงจัง โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบในเรื่องนั้นๆ
ส่วนการกีดขวางบนท้องถนนซึ่งมักจะเกิดจากการสร้างซ่อมถนนหรือสาธารณูปโภคอื่นๆ ที่จริงเรื่องเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ง่าย และลบออกจากการเป็นสาเหตุได้เลย เพราะเป็นเรื่องที่หน่วยงานภาครัฐควบคุมกำกับได้ง่าย หากไม่ปล่อยปละละเลย
การจะลดอุบัติเหตุหรือการตายบนท้องถนนได้จำเป็นต้องมีวิธีคิดและแนวทางดำเนินการอย่างมียุทธศาสตร์ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องไปวิเคราะห์สาเหตุแต่ละอย่างโดยละเอียดว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องใดและหน่วยงานใดบ้าง จากนั้นก็กำหนดจุดเน้นเชิงยุทธศาสตร์ว่าในช่วงเวลาหนึ่งๆจะมุ่งแก้สาเหตุใดเป็นหลักบ้าง โดยลำดับการแก้ไข อาจเลือกสาเหตุที่ไม่ยากละไม่ซับซ้อนเกินไป เพื่อดำเนินงานก่อน และเมื่อสามารถขจัดสาเหตุนั้นออกจากการเป็นสาเหตุได้แล้ว ก็ขับเคลื่อนในการขจัดสาเหตุอื่นๆต่อไป
การดำเนินการแบบที่ดูเหมือนมียุทธศาสตร์ แต่ที่จริงไร้ยุทธศาสตร์ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน รังแต่จะยิ่งสร้างความตายจากท้องถนนเพิ่มมากขึ้น และคงเป็นเรื่องไม่ดีนักหากประเทศไทยยังคงรักษาตำแหน่งแชมป์โลกแห่งการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนติดต่อกันในปีถัดๆไป