xs
xsm
sm
md
lg

เปิดงานวิจัยล่าสุด มหันตภัย ไขมันไม่อิ่มตัว และ น้ำตาลทั้งหลาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เมื่อไม่นานมานี้มี(22 กรกฎาคม พ.ศ. 2558) งานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสารของห้องสมุดสาธารณะทางวิทยาศาสตร์ PLos One : Public Library of Science ในหัวข้อ Soybean Oil is more obesogenic and diabetogenic than coconut oil and fructose in mouse:potential role for the liver. โดย Poonamjot Deol และคณะ ถือเป็นงานวิจัยที่น่าสนใจและให้บทเรียนแก่เรามากขึ้นอีกชิ้นหนึ่ง

หลังจากที่มนุษยชาติมีความสับสน คลำทางไม่เจอ หาทางไม่ออก ว่าไขมันอิ่มตัว กับไม่อิ่มตัว ซึ่งเป็นประเภทมาจากพืชทั้งคู่ เมื่อเทียบกับน้ำตาลซึ่งสะสมเก็บไว้ในร่างกายในรูปของไขมันอีกรูปแบบหนึ่งเหมือนกันนั้น อะไรก่อให้เกิดปัญหาทำให้เจ็บป่วยได้มากขึ้นกว่ากัน งานวิจัยครั้งนี้จึงถือเป็นครั้งแรกที่มีการเปรียบเทียบการทดลองให้อาหารในหนูทดลอง 32 สัปดาห์ ด้วย อาหารที่มีน้ำมันถั่วเหลืองมาก อาหารที่มีน้ำมันมะพร้าวมาก และอาหารที่มีน้ำตาลผลไม้มาก นอกจากนี้ยังถือเป็นครั้งแรกมีการสำรวจในเรื่องการวิเคราะห์ระบบการเผาผลาญของตับโดยเฉพาะอีกด้วย รวมไปถึงการถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงอย่างละเอียด

ไขมันจากน้ำมันถั่วเหลือง ถือเป็นตัวแทนไขมันที่เป็นไขมันไม่อิ่มตัว และเป็นไตรกลีเซอไรด์สายยาว ที่มีการนิยมใช้มากที่สุดในโลก (อยู่ในกลุ่ม น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทางตะวัน และน้ำมันรำข้าว ฯลฯ) ซึ่งสัดส่วนใหญ่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวประเภทไลโนเลอิกสูง หรือที่เรียกกันว่า ไขมันโอเมก้า 6 ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้เกิดการอักเสบตามร่างกาย การอักเสบของหลอดเลือด ทำให้เกิดลิ่มเลือดง่าย เลือดแข็งตัวเร็ว และทำให้ความดันโลหิตสูง และเพราะ “ความไม่อิ่มตัว” ของไขมันกลุ่มนี้ที่คาร์บอนจับกันเองด้วยแขนคู่ถึง 2 ตำแหน่ง จึงทำให้ไม่เสถียร และทำให้ไขมันกลุ่มนี้ถูกโจมตีง่ายด้วยอนุมูลอิสระ

น้ำตาลผลไม้ (ฟรุ๊กโตส) เป็นน้ำตาลที่มีอยู่มากในผลไม้ และนิยมเติมในน้ำอัดลม และน้ำผลไม้ และในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม หลายชนิด เพราะเชื่อว่า “มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ”จึงน่าจะปลอดภัยกว่า

แม้จะเป็นความจริงที่ว่า “น้ำตาลผลไม้” มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำกว่าน้ำตาลซูโครส (น้ำตาลทรายขาวหรือน้ำตาลทรายแดง) แต่ค่าดัชนีน้ำตาลนั้นเกิดขึ้นจากการวัดปริมาณน้ำตาลในกระแสเลือดหลังจากบริโภคอาหารนั้นไปเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ซึ่งการที่ดัชนีน้ำตาลในผลไม้ต่ำกว่าน้ำตาลทรายขาวหรือทรายแดงนั้น ไม่ได้แปลว่าน้ำตาลนั้นถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดช้าๆเหมือนที่เกิดขึ้นในอาหารบางชนิด เช่น แป้งที่ทนการย่อยต่อเอนไซม์สูง (Resistance Strach), หรือกลุ่มคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน แต่น้ำตาลผลไม้กลับลจะถูกดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือดเร็วและถูกดูดซึมจากกระแสเลือดส่งต่อไปยังที่ตับและตามอวัยวะอื่นๆในร่างกายและแปลงสภาพเป็นไขมันอย่างรวดเร็วกว่าน้ำตาลทั่วไป แม้จะมีข้อดีอยู่บ้างตรงที่การที่น้ำตาลผลไม้ค้างในหลอดเลือดน้อยจึงทำให้เกิดความเสียหายกับหลอดเลือดน้อยกว่า (จึงแสดงผลภาวะโรคเบาหวานน้อยกว่า) แต่การที่น้ำตาลผลไม้ถูกดูดซึมส่งต่อไปที่ตับและอวัยวะอื่นๆอย่างรวดเร็วจึงทำให้อ้วนและทำให้มีไขมันตามตับและอวัยวะต่างๆในร่างกายได้ง่ายด้วยเช่นกัน

ดังนั้นคนที่กินน้ำผลไม้แยกกากนั้น จะต้องตระหนักว่าเราไม้ได้ไฟเบอร์จากกากผลไม้เลย แต่เราคัดเอาแต่น้ำซึ่งมีปริมาณน้ำตาลเพิ่มขึ้นไปด้วย ดังนั้นจะเห็นได้ว่ากินผลไม้พร้อมกากย่อมดีกว่ากินน้ำผลไม้แยกกาก แต่ที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นคือน้ำผลไม้ในอุตสาหกรรมหรือในร้านขายเครื่องดื่มที่ต้องการควบคุมรสชาติและความหวานของผลไม้จึงมักจะเติมน้ำตาลซ้ำเข้าไปด้วย การลดความอ้วนด้วยการดื่มน้ำผลไม้หรือผลไม้หวานๆมาก แล้วคิดว่าจะดีต่อสุขภาพจึงถือว่าเดินผิดทาง

ส่วนน้ำมันมะพร้าว เป็นน้ำมันที่อุดมไปด้วยกรดไขมันอิ่มตัวสูงสุดเกือบทั้งหมด ความอิ่มของไขมันซึ่งหมายถึงคาร์บอนจับด้วยแขนเดี่ยวทุกแขนอย่างแข็งแรง ทำให้ไม่กลายสภาพด้วยการโจมตีจากอนุมูลอิสระใดๆได้ง่าย แต่ไขมันอิ่มตัวนั้นยังสามารถพบได้ส่วนใหญ่ในเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ (นม ชีส เนย โยเกิร์ต ไข่) อีกด้วย เพียงแต่ว่าความน่าเป็นห่วงของไขมันจากสัตว์นั้นอาจจะพบปัญหาเรื่องฮอร์โมนจากสัตว์ที่อาจทำให้ร่างกายมนุษย์มีความผิดปกติไป โดยเฉพาะในยุคหลังที่วงการปศุสัตว์ได้เลี้ยงสัตว์เป็นอุตสาหกรรม จึงเร่งการเจริญเติบโตทั้งด้วยอาหาร ยา และเร่งฮอร์โมน ดังนั้นกลุ่มคนที่ต้องระวังที่สุดก็คือ “ผู้ป่วยมะเร็ง” ที่อาจไม่พร้อมการรับฮอร์โมนจากสัตว์ทั้งในกลุ่มเอสโตรเจน หรือ ฮอร์โมนสร้างการเจริญเติบโต

อย่างไรก็ตามยังมีไขมันจากพืชอีกชนิดหนึ่งคือน้ำมันปาล์ม ที่มีกรดไขมันอิ่มตัวแม้จะไม่มากเท่ากับน้ำมันมะพร้าว แต่ก็อยู่ในระดับค่อนข้างสูงประมาณเกือบครึ่งหนึ่ง เพียงแต่กรดไขมันอิ่มตัวทั้งจากสัตว์และน้ำมันปาล์มต่างก็เป็นกรดไขมันสายยาวทั้งหมด 100% (คาร์บอนต่อกันเกิน 12 ตัว) จึงย่อยยากและตกค้างง่าย ในขณะที่น้ำมันมะพร้าวเป็นน้ำมันตามธรรมชาติชนิดเดียวในโลกที่เป็นกรดไขมันสายปานกลาง (คาร์บอนต่อกันไม่เกิน 12 ตัว)ถึง 63% จึงทำให้ส่งไปที่ตับและกลายสภาพใช้เป็นพลังงานอย่างรวดเร็วและตกค้างยากกว่า

และด้วยการที่น้ำมันมะพร้าวเป็นกรดไขมันสายปานกลาง ซึ่งดูดซึมส่งไปที่ตับและกลายสภาพเป็นพลังงานอย่างรวดเร็ว จึงเพิ่มอัตราการเผาผลาญจึงมีงานวิจัยรองรับจำนวนมากที่แสดงว่าน้ำมันมะพร้าวทำให้ช่วย ลดความอ้วน ลดภาวะเบาหวาน ลดการอักเสบ และเพิ่มความไวในการหลั่งอินซูลิน (งานวิจัยช่วงหลังๆ เช่น งานวิจัยของ Nagao K, Yanagita T. ในหัวข้อ Medium-chain fatty acids: functional lipids for the prevention and treatment of metabolic syndrome. ตีพิมพ์ใน Pharmacol Res. 2010, งานวิจัยของ Dulloo AG. ในหัวข้อ The search for compounds that stimulate thermogenesis in obesity management:from pharmaceuticals to functional food ingredients. ตีพิมพ์ใน Obes Rev 2011, และงานวิจัยของ Ogbolu DO, และคณะ ในหัวข้อ In vitro antimicrobial properties of coconut oil on candida species in Ibadan, Nigeria. ตีพิมพ์ใน J.Med Food. 2007 ฯลฯ )

แต่ด้วยความที่น้ำมันมะพร้าว และน้ำตาลผลไม้ถูกดูดซึมไปที่ตับโดยเร็ว น้ำมันมะพร้าวจึงถูกโจมตีด้วยข้อสงสัยว่าอาจจะทำให้เกิดไขมันเพิ่มขึ้นเหมือนกับน้ำตาลจากผลไม้ก็ได้ ในขณะที่หลายคนกลับสงสัยไปที่น้ำมันจากถั่วเหลืองเป็นกรดไขมันสายยาวและไม่อิ่มตัวมากกว่าว่าน่าจะทำให้อัตราการเผาผลาญต่ำลงและเกิดไขมันพอกตับได้มากยิ่งกว่า และน่าจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคอื่นๆได้ด้วยทั้งโรคเบาหวานและโรคอ้วน จึงเป็นผลทำให้งานวิจัยนี้ทำการเปรียบเทียบ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำตาลผลไม้ และ น้ำมันมะพร้าว ในหนูทดลองว่าจะให้ผลกระทบต่อร่างกายอย่างไรบ้าง ในมิติของ น้ำหนัก ความอ้วน เบาหวาน ไขมันพอกตับ และไขมันบริเวณอื่นๆ

ผลงานวิจัยในครั้งนี้ได้มีข้อสรุปที่น่าสนใจดังนี้

1.กลุ่มหนูที่กินน้ำมันถั่วเหลืองมากทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุดอันดับหนึ่ง รองลงมาคือกลุ่มหนูที่กินน้ำตาลผลไม้มาก ในขณะที่หนูที่กินน้ำมันมะพร้าวมากมีน้ำหนักตัวน้อยกว่ากลุ่มหนูที่กินน้ำมันถั่วเหลืองมากและ และมีน้ำหนักน้อยกว่าหนูที่กินน้ำตาลผลไม้มาก

2.กลุ่มหนูที่กินน้ำมันถั่วเหลืองมากและไม่ได้กินน้ำตาลผลไม้ มีน้ำหนักมากกว่าหนูที่กินน้ำมันถั่วเหลืองและน้ำตาลผลไม้ด้วย แสดงให้เห็นว่าน้ำมันถั่วเหลืองเพิ่มน้ำหนักมากกว่าหนูที่กินน้ำตาลผลไม้อย่างชัดเจน

3. ในระหว่างหนูที่กินน้ำตาลผลไม้ด้วยกันจะพบว่า หากมาจากกลุ่มหนูที่กินน้ำมันมะพร้าวก็จะมีน้ำหนักน้อยกว่ากลุ่มหนูที่กินน้ำมันถั่วเหลือง

4.กลุ่มหนูที่กินน้ำมันถั่วเหลืองมากจะมีไขมันพอกตับมากและมีลักษณะมีเซลล์ไขมันโป่งพอง ในขณะที่น้ำตาลผลไม้ก็ทำให้เกิดไขมันพอกตับได้ด้วยเช่นกันแต่ไม่เกิดการเกิดของเซลล์ไขมันโป่งพอง ซึ่งอาหารทั้งน้ำมันจากถั่วเหลืองและน้ำตาลผลไม้นั้นต่างทำให้เกิดไขมันพอกตับได้ทั้งสิ้น ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยว่าการกินน้ำตาลผลไม้มากทำให้เกิดไขมันพอกตับในมนุษย์ได้ ในขณะที่กลุ่มหนูที่กินน้ำมันมะพร้าวไม่มีปัญหาไขมันพอกตับเหมือนกับกลุ่มหนูที่กินน้ำตาลผลไม้มาก และกลุ่มหนูที่กินถั่วเหลืองมาก

5.หนูกลุ่มที่กินน้ำตาลผลไม้มากและ หนูกลุ่มที่กินน้ำมันมะพร้าวมากไม่ได้ทำให้เกิดภาวะเบาหวานหรือภาวะต้านอินซูลิน แต่น้ำตาลผลไม้อาจจะทำงานร่วมกับน้ำมันถั่วเหลืองในการทำงานของไตและทำให้เกิดภาวะเบาหวาน และต้านอินซูลิน (หมายถึงน้ำมันถั่วเหลืองเป็นสาเหตุ)

6.กลุ่มหนูที่กินน้ำตาลผลไม้มากทำให้เกิดภาวะลำไส้ตรงปลิ้น หรือลำไส้ตรงยื่นห้อยออกมานอกทวารหนัก ซึ่งอาการของโรคดังกล่าวเป็นดัชนีชี้วัดของภาวการณ์อักเสบของระบบทางเดินอาหาร (Inflammatory bowel disease (IBD)) หากการอักเสบดังกล่าวเพิ่มขึ้นก็จะต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งลำไส้ได้

7.จากรายงานจำนวนมากพบว่าการกินอาหารที่ปราศจากน้ำตาลผลไม้จะช่วยบรรเทาปัญหากระเพาะอาหารและลำไส้ในมนุษย์

ดังนั้นไม่แปลกใจเลยว่าทำให้คนในยุคเราที่ใช้ไขมันไม่อิ่มตัวกันมาก กินน้ำตาลผลไม้มาก จะเป็นโรคเบาหวานมาก โรคไตมาก โรคอ้วนมาก โรคไขมันพอกตับมาก โรคทางเดินอาหารมาก ฯลฯ ก็เพราะอาหารที่หวานมากและไขมันไม่อิ่มตัวที่นำมาผัดทอดมากนี้เอง



กำลังโหลดความคิดเห็น