ธปท. เผยไอเอ็มเอฟมอง ศก.ไทยฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ประเมินจีดีพีของปี 59 เติบโตได้ 3% และในปี 60 เติบโตได้ 3.2% พร้อมระบุ ธปท.สามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินได้เพิ่มเติม เพื่อดูแล ศก.ซึ่งเติบโตช้ากว่าประเทศอื่นในอาเซียน และเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลสรุปการประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยประจำปี 2559 ของคณะกรรมการบริหารกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (Executive Board of the International Monetary Fund) ที่ประเมินว่า ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำ โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2559 จะขยายตัวได้ที่ 3% และจะขยายตัวได้ 3.2% ในปี 2560 ซึ่งยังเป็นอัตราที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ใน ASEAN รวมทั้งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในอดีต
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นจากผลของราคาน้ำมันที่ลดลงมากในช่วงที่ผ่านมาทยอยหมดไป แต่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายของ ธปท.จากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำตามอุปสงค์ในประเทศที่ยังอ่อนแอ
สำหรับความท้าทายในระยะต่อไป (headwinds) มาจากความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทย และข้อจำกัดของโครงสร้างเศรษฐกิจที่เป็นอุปสรรคต่อศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย อย่างไรก็ดี ปัจจัยพื้นฐานที่เข้มแข็งช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยสามารถเผชิญต่อความท้าทายต่างๆ จากทั้งปัจจัยภายใน และภายนอกได้ โดยเงินสำรองระหว่างประเทศ และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่อยู่ในระดับสูง และหนี้ต่างประเทศมีสัดส่วนต่ำ จะช่วยรองรับผลกระทบจากความอ่อนแอ และความไม่แน่นอนในภาวะเศรษฐกิจการเงินโลก
นอกจากนี้ ระดับหนี้สาธารณะที่ไม่สูง การมีฐานนักลงทุนที่หลากหลาย และภาคธนาคารที่มีฐานะเงินกองทุนในเกณฑ์ดี รวมถึงสถาบันที่ดูแลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง จะเป็นปัจจัยเสริมที่ช่วยรักษาความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ ทางการยังสามารถใช้ policy space ที่มีอยู่ในการดูแลความเสี่ยงด้านต่ำที่อาจเกิดขึ้น
ผลการประเมินของคณะกรรมการบริหารกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (คณะกรรมการฯ) พบว่า คณะกรรมการฯ เห็นสอดคล้องต่อการประเมินของเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ โดยเห็นว่า เศรษฐกิจไทยสามารถเผชิญความท้าทายจากปัจจัยทั้งภายนอก และภายใน และมีสถาบันที่ดูแลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง
คณะกรรมการฯ มองว่า ฐานะภาคต่างประเทศของไทยอยู่ในเกณฑ์ดี โดยได้รับแรงสนับสนุนจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง และหนี้ต่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ สำหรับการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะลดลงในระยะข้างหน้าเมื่ออุปสงค์ในประเทศปรับดีขึ้น และอัตราการค้า (Terms of Trade : TOT) ที่ปรับลดลง ทั้งนี้ การฟื้นตัวของไทยยังมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปและมีความเสี่ยงด้านต่ำอยู่ ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับต่ำจากอุปสงค์ที่อ่อนแอ
คณะกรรมการฯ จึงสนับสนุนให้ทางการดูแลการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง และยั่งยืนด้วยการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบผ่อนปรน รวมทั้งใช้มาตรการเพื่อดูแลเสถียรภาพการเงิน และดำเนินการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจควบคู่กันไป
คณะกรรมการฯ เห็นด้วยต่อการดำเนินนโยบายการคลังแบบผ่อนปรน ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังในระยะปานกลาง (Medium-Term Fiscal Framework : MTFF) และสนับสนุนให้ทางการเร่งดำเนินการตามแผนการลงทุนของภาครัฐ โดยคำนึงถึงธรรมาภิบาล และความโปร่งใส นอกจากนี้ ทางการควรให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม (social safety net) ให้สอดคล้องต่อความท้าทายเชิงโครงสร้างมากกว่าการใช้มาตรการกระตุ้นระยะสั้นในการสนับสนุนรายได้ภาคเกษตร โดยเน้นว่า นโยบายภาครัฐภายใต้ MTFF ควรมุ่งเพิ่มรายได้ภาษีในระยะปานกลาง เพื่อเตรียมรับมือต่อภาระทางการคลัง
คณะกรรมการฯ ชมเชยทางการที่ให้ความสำคัญต่อการออกกฎหมายว่าด้วยความรับผิดชอบด้านการคลัง (fiscal responsibility law) รวมถึงการทบทวนระบบประกันสุขภาพเพื่อดูแลให้ระบบมีความยั่งยืน พอเพียง เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ
คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในปัจจุบันมีความเหมาะสม โดยในระยะต่อไปแม้จะยังสามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินได้เพิ่มเติม แต่ควรคำนึงถึงการรักษาสมดุลระหว่างการสนันสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจกับการดูแลเสถียรภาพการเงิน รวมถึงการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) ในยามจำเป็น
คณะกรรมการฯ ชมเชยกรอบการดำเนินนโยบายการเงินของไทยที่มีมาตรฐานความโปร่งใสสูง และเสนอแนะให้ทางการสื่อสารถึงความตั้งใจที่จะดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายระยะปานกลาง ซึ่งจะช่วยเสริมประสิทธิภาพของช่องทางการส่งผ่านนโยบายให้ดียิ่งขึ้น พร้อมแนะนำให้คงการใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นเป็นปราการด่านแรก (first line of defense) เพื่อช่วยรองรับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก
คณะกรรมการฯ สนับสนุนให้ใช้มาตรการ macroprudential ที่เข้มงวดขึ้น เพื่อดูแลเสถียรภาพการเงินในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งสนับสนุนความพยายามของภาครัฐในการเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions : SFIs) รวมทั้งการประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานกำกับต่างๆ ในการพัฒนากรอบการดำเนินมาตรการ macroprudential รวมถึงปรับปรุงกลไกป้องกันและแก้ไขวิกฤต (crisis prevention and resolution mechanisms)
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เน้นย้ำให้ทางการเฝ้าดูแลความเสี่ยงเชิงระบบ (systemic risks) ที่อาจเกิดขึ้นจากความเชื่อมโยงของกลุ่มธุรกิจการเงิน และหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
คณะกรรมการฯ ย้ำให้ทางการร่วมกันดำเนินมาตรการเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิต และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเน้นถึงความจำเป็นในการสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ (structural transformation) การพัฒนาคุณภาพระบบการศึกษา การฝึกสอนอาชีวศึกษา รวมทั้งการบรรเทาผลกระทบของปัญหาสังคมผู้สูงอายุด้วยการปฏิรูประบบบำนาญ ทั้งนี้ การยกระดับการลงทุน
โครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชน และเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ความคืบหน้าของการรวมตัวทางการค้าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ และการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยคณะกรรมการฯ เห็นว่าเป็นเรื่องดีที่ไทยกำลังประเมินผลกระทบของการเข้าร่วมความตกลง Trans-Pacific Partnership ในระยะต่อไป