ภัยจากสีผสมอาหารที่พบในปลาดิบ และน้ำส้ม ที่เป็นข่าวในสัปดาห์ที่ผ่านมา น่าตระหนก เพราะมีงานวิจัยพบว่า สีสังเคราะห์ผสมอาหารหลายชนิด อาจเป็นสารก่อมะเร็ง ทางออกคือ หันมาใช้สีผสมอาหารจากธรรมชาติ
อาหารอร่อย นอกจากรสชาติที่ถูกปากแล้ว มักมีส่วนผสม สีสัน ที่เพิ่มเสน่ห์ทางสายตาให้แก่อาหาร การเลือกซื้ออาหารในซูเปอร์มาร์เก็ต เรามักจะให้ความสนใจกับอาหารที่มีสีสดใส เตะตา ผู้ผลิตจึงผสมสีในอาหารให้น่าซื้อ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ขนม สำหรับเด็กหรือผู้ใหญ่ เช่น เครื่องดื่มซีเรียล ลูกอมขนมขบเคี้ยว ขนมอบ ขนมหวาน แม้กระทั่งผักดองและน้ำสลัด เป็นต้น
สีเป็นสารอินทรีย์ เดิมสังเคราะห์จากน้ำมันดิน ซึ่งมาจากถ่านหิน ปัจจุบันนิยมสังเคราะห์จากปิโตรเลียม เพราะมีราคาถูกกว่า และให้ความสว่างกว่าสีธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการดังกล่าวจะทำให้มีสารอันตรายปนเปื้อน
สีสังเคราะห์ผสมอาหารที่เรารับประทานทุกวันนี้ แม้ว่าจะได้รับอนุญาตให้ใช้ผสมอาหารได้ แต่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ตั้งแต่ การแพ้ พิษต่อระบบประสาท รวมทั้งมะเร็ง (http://cspinet.org/new/pdf/food-dyes-rainbow-of-risks.pdf) ตัวอย่างเช่น
สีแดง 40 (Allura Red) เป็นสีสังเคราะห์ ที่มีสีแดงเชอรี่ และ สีส้มแดง นิยมใช้ในขนมเค้ก ช็อกโกแลต ขนมอบธัญพืช เครื่องดื่มค็อกเทลผลไม้เชอรี่ เหล้ากลั่น
มีรายงานพบว่า สีแดง 40 มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ ดังตัวอย่าง
•ทำให้เกิดอาการแพ้(http://cspinet.org/new/pdf/food-dyes-rainbow-of-risks.pdf)
•เนื้องอกของระบบภูมิคุ้มกันในหนู mice (http://cspinet.org/new/pdf/schab.pdf)
•สาร P-Cresidine ที่เป็นส่วนประกอบใน สีแดง 40 จัดว่าเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ระดับ “ที่คาดการณ์ได้อย่างสมเหตุผล (reasonably anticipated)” (http://ntp.niehs.nih.gov/ntp/roc/content/profiles/cresidine.pdf)
สีสังเคราะห์แต่ละชนิดได้รับอนุญาตให้ผสมในอาหารไม่เกินปริมาณที่กำหนดไว้ แต่เราบริโภคอาหารมากมายในแต่ละวัน รับเอาสีสังเคราะห์หลากหลายชนิดไปสะสมในร่างกาย จึงย่อมมีโอกาสเกิดอันตรายจากพิษสะสม
ประเทศไทย โชคดีที่มีสีธรรมชาติจำนวนมาก เช่น สีแดง สีม่วงแดง สีส้มแดง หาได้จาก เมล็ดคำแสด ดอกกระเจี๊ยบแดง แก่นฝาง หัวบีทรูท พริก และ แก้วมังกร
นโยบาย ลด ละ เลิก การใช้สีสังเคราะห์ผสมอาหาร และกลับไปใช้สีธรรมชาติ น่าจะเป็นการป้องกันความเสี่ยงต่อผู้บริโภคได้ดี ในภาวะที่มีสารพิษมากมายอยู่แล้วในปัจจุบัน
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่