อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและบริหารความเสี่ยง สาขาวิชาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
และ
ศาสตราจารย์ นพ. ดร. อภิวัฒน์ มุทิรางกูร
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาการแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของไทย
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและบริหารความเสี่ยง สาขาวิชาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
และ
ศาสตราจารย์ นพ. ดร. อภิวัฒน์ มุทิรางกูร
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาการแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของไทย
"... แต่มีข้อเท็จจริงอยู่ ข้อหนึ่งว่ากฎหมายทั้งปวงจะธำรงความยุติธรรมและถูกต้องเที่ยงตรง หรือจะธำรงความศักดิ์สิทธิ์และประสิทธิภาพเต็มเปี่ยมอยู่ได้หรือไม่เพียงไรนั้น ขึ้นอยู่กับการใช้ คือถ้าใช้ให้ได้ถูกวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นๆ จริงแล้ว ก็จะทรงความศักดิ์สิทธิ์และประสิทธิภาพอันสมบูรณ์ไว้ได้
แต่หากนำไปใช้ให้ผิดวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์โดยการพลิกแพลงบิดพลิ้วให้ผันผวนไปด้วยความหลงผิดด้วยอคติหรือด้วยเจตนาอันไม่สุจริตต่างๆ กฎหมายก็เสื่อมความศักดิ์สิทธิ์และประสิทธิภาพลงทันที และกลับกลายเป็นพิษเป็นภัยแก่ประชาชนอย่างใหญ่หลวง ผู้ที่ต้องการจะใช้กฎหมายสร้างสรรค์ความผาสุกสงบและความเป็นปึกแผ่นก้าวหน้าของประชาชนและบ้านเมือง
จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาวัตถุประสงค์อันจริงแท้ของกฎหมายแต่ละฉบับไว้ให้แน่วแน่เสมอไป อย่างไม่มีข้อแม้ประการใดๆ พร้อมทั้งต้องรักษาอุดมคติ จรรยา ความสุจริต และมโนธรรมของ นักกฎหมายไว้โดยรอบคอบเคร่งครัด เสมอด้วยรักษาชีวิตของตนเอง"
ความตอนหนึ่งของพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
ในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สอบไล่ได้ตาม
หลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม 2520
ในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สอบไล่ได้ตาม
หลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม 2520
ปัญหาการใช้เงินผิดประเภทและผลประโยชน์ทับซ้อนในองค์กรเอกชนและองค์กรอิสระทางสาธารณสุขเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติและมีความสำคัญ ทำให้สาธารณสุขของประชาชนกลายเป็นสาธารณทุกข์ ของประชาชนทั้งประเทศได้เนื่องจากทำให้เงินที่ต้องนำมาใช้ในการแพทย์และการสาธารณสุขขาดประสิทธิภาพและนำไปใช้ไม่ถูกทางแทนที่จะนำไปใช้เพื่อประชาชนทั้งปวงอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โปรดดูตัวอย่างได้จาก
1. องค์การอิสระและองค์การเอกชนในเครือข่ายตระกูล ส : การไขว้ตำแหน่งและการขัดกันแห่งผลประโยชน์ www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000118009
2. ความเข้าใจผิดร้ายแรงเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ในพระราชบัญญัติ สสส. พ.ศ.2544 www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000125375
3. เพราะผลประโยชน์ทับซ้อนแทนที่ สสส. จะเขยื้อนภูเขาแต่กลับขยับได้แค่เนินทราย : ปัญหานี้แก้ได้ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง www.mgronline.com/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000121744
4. ศอตช. ชงแก้กฎหมาย สสส. 3 ประเด็น ใช้งบรัดกุมมากขึ้น ขจัดผลประโยชน์ทับซ้อน – ปัดสอบทุจริต โยน สธ. ลุยต่อ thaipublica.org/2015/10/thaihealth-26-10-2558/
5.รายชื่อ “กรรมการ – ผู้ทรงคุณวุฒิ” ที่เกี่ยวข้องกับมูลนิธิรับเงินจากสสส. 8 ปีกว่า 3,000 ล้านบาท thaipublica.org/2015/10/thaihealth-26-10-2558/
6. Who tell the truth about money? สปสช หรือ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข?
www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000053669
อันที่จริงปัญหาดังกล่าวทั้งหมด สามารถแก้ไขได้โดยง่าย โดยยึดถือปฏิบัติตามพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานไว้ข้างต้น ในเรื่องของการรักษาวัตถุประสงค์อันจริงแท้ของกฎหมายแต่ละฉบับไว้ให้แน่วแน่เสมอไป
โปรดอย่าลืมว่าองค์กรอิสระทุกองค์กรยังเป็นหน่วยงานของรัฐอยู่ ยังใช้งบประมาณแผ่นดินจากภาษีของประชาชนอยู่ ดังนั้นควรสำนึกให้ดีว่าการทำหน้าที่หรือออกคำสั่งใดๆ ก็ตามต้องเป็นไปตามชอบด้วยกฎหมายและยังต้องอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลมิได้อิสระตามอำเภอใจไร้ขอบเขตอยู่นอกกฎหมายแต่อย่างใด
บทความนี้จึงขอนำเสนอประเด็นทางกฎหมายที่สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาสองปัญหาดังกล่าว เพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว ตรงไปตรงมาและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนไม่ใช่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ประการแรก ให้บังคับใช้และปฏิบัติตาม คำสั่ง คสช 69/2557 หากปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวอย่างเคร่งครัดจะแก้ไขปัญหาการใช้เงินผิดประเภทและผลประโยชน์ทับซ้อน ได้ผลดีมาก อันได้แก่ การบังคับใช้พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 อย่างเคร่งครัด โดยบังคับใช้มาตรการทางวินัย มาตรการ ทางปกครอง และมาตรการทางกฎหมายอย่างเฉียบขาดและรวดเร็ว และให้หัวหน้าส่วนราชการหรือผู้บังคับบัญชาที่ปล่อยปละละเลย ไม่ดำเนินการตาม มีความผิดวินัยหรือความผิดทางอาญาแล้วแต่กรณี และให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐดำเนินการแสวงหา รวบรวม และดำเนินการอื่นใด เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในการที่จะทราบรายละเอียดและ พิสูจน์เกี่ยวกับการทุจริตในภาครัฐ ทั้งนี้คำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ย่อมถือว่าเป็นกฎหมายโดยสมบูรณ์
ประการที่สอง เนื่องจากเกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชน คณะรัฐมนตรีควรออกพระราชกำหนดให้ องค์กรอิสระทางสาธารณสุขทั้งหมด อยู่ภายใต้กำหนดของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 และ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2554) โดยเฉพาะในมาตรา 100 ซึ่งว่าด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน หากกรรมการ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทุกคนของทุกองค์กรอิสระเหล่านี้มีรายชื่อในการกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการตามความในมาตรา 100 แห่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแล้ว จะทำให้ประชาชนสามารถไปยื่นเรื่องร้องเรียนที่ ป.ป.ช. หากพบเห็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนได้โดยสะดวก เป็นการป้องกันและควบคุมโดยอาศัยกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน (People participation) ทั้งนี้องค์กรอิสระกลุ่มตระกูล ส ที่ตกอยู่ภายใต้บัญชีรายชื่อในการกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพรบ ป.ป.ช. มาตรา 100 มีเพียง สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส) เท่านั้น ส่วน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) ซึ่งดูแลโครงการบัตรทอง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) ก็ยังไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อในการกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐของ ป.ป.ช. ตามมาตรา 100 เรื่องนี้ หากรัฐบาลออกเป็นพระราชกำหนดในแนวทางเดียวกับที่ได้เคยใช้ในการแก้ปัญหาประมงในทะเลไทยที่ผลักดันโดยองค์กรเอกชนแล้วทำให้ทรัพยากรและสิ่งมีชีวิตในทะเลไทยฟื้นฟูได้อย่างดีมาก ก็สามารถทำได้ การทำให้องค์กรอิสระต่างๆ อยู่ในบัญชีรายชื่อในการกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐมาตรา 100 ของ ป.ป.ช. ทำให้เจ้าหน้าที่ กรรมการ ผู้มีอำนาจต่างๆ ห้ามมีผลประโยชน์ทับซ้อน ผู้บริหารต้องแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินก่อนและหลังการดำรงตำแหน่งตามหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้
ประการที่สาม ห้ามไม่ให้มีการใช้เงินโดยผิดกฏหมายอีก เช่น ใน พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพ
แหงชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 26 ข้อ 5 กำหนดให้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จายคาใชจายเพื่อบริการสาธารณสุขตามที่คณะกรรมการกําหนดใหแก่หนวยบริการและเครือขายหนวยบริการตามมาตรา 46 เท่านั้น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่สามารถนำเงินไปซื้อยาผ่านองค์การเภสัชกรรม โดยอาศัยช่องว่างของกฎหมายที่ทำให้การนำเข้ายาขององค์การเภสัชกรรม ทำได้ โดยสะดวก เนื่องจาก พรบ ยา 2510 อนุญาตให้องค์การเภสัชกรรม สามารถนำเข้ายาโดยไม่ผ่านการตรวจสอบหรือขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวอาจจะทำให้ได้ยาที่มีมาตรฐานหรือคุณภาพต่ำและอาจจะทำให้เกิดปัญหาเรื่องคุณภาพการรักษา นอกจากนี้การมีเงิน rebate เข้าทั้ง สปสช และองค์การเภสัชกรรมนั้นถือว่าผิดกฎหมาย แม้จะนำเงินมาเข้ากองทุนสวัสดิการของสปสช ก็ตาม เพราะเงินดังกล่าวต้องเข้าสู่กองทุนเพี่อนำไปสู่หน่วยบริการเพื่อการรักษาพยาบาลประชาชนเท่านั้น การกระทำเรื่องนี้ผิดทั้งกฎหมาย สุ่มเสี่ยงต่อคุณภาพการรักษาพยาบาล ถือเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน และเป็นลาภมิควรได้ ในทางกฎหมายทั้งสิ้น ต้องเรียกเงินสวัสดิการดังกล่าวคืนทั้งหมดที่ได้มาจากเงิน rebate การจัดซื้อน้ำยาล้างไตทางช่องท้อง โดยโครงการ CAPD-First ก็ผิดกฎหมายข้อนี้เช่นกัน เป็นความผิดฐานละเมิด จัดการงานนอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ที่ตนมีของ สปสช เรื่องนี้ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช เองก็ยอมรับและกล่าวว่าผิดในการสัมมนาวิชาการประจำปีของเภสัชกรรมสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ประจำปีนี้ที่จัดขึ้น ณ BITEC บางนา ว่าสปสช ออฟไซด์ ทำในสิ่งที่ตัวเองไม่มีอำนาจ โดยอ้างความจำเป็น โดยส่วนตัวผู้เขียนไม่เห็นด้วยว่าไม่ควรทำผิดกฎหมาย แม้ สปสช ไม่ทำ คนที่มีหน้าที่โดยตรงและทำได้อยู่แล้วก็สามารถทำได้เช่นกัน
อนึ่งการให้เงินสนับสนุนองค์กรเอกชน (NGO) กลุ่มต่างๆ ของ สปสช ดังรายละเอียดในบทความ Who tell the truth about money? สปสช หรือ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข? ก็ล้วนแต่ผิดกฎหมายทั้งสิ้น เพราะ พรบ หลักประกันสุขภาพแหงชาติ พ.ศ.2545 ไม่ยอมให้ทำเช่นนั้น
ทั้งหมดนี้ควรยกเลิกไปโดยเร็วที่สุด ไม่ให้มีการทำดังกล่าวอีกในอนาคต เพราะไม่ใช่บทบาทของ สปสช ในการเป็นผู้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนประกันสุขภาพของประชาชน หน้าที่ดังกล่าวเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการทางการแพทย์
ประการที่สี่ ควรดำเนินการเด็ดขาดในการเรียกเงินคืน ตรวจสอบหลักฐานทางการเงิน เส้นทางการเงิน และการเสียภาษีย้อนหลัง
เนื่องจากเกิดความเสียหายในการทำผิด ดังข้อสาม ของสปสช ในการจัดซื้อยาและการให้เงิน NGO ขณะเดียวกัน ก็เกิดปัญหาการใช้เงินผิดประเภท และผลประโยชน์ทับซ้อน ผู้เขียนขอเสนอให้ดำเนินการใน 4 กรณี แตกต่างกันดังนี้
กรณี 1 มีผลประโยชน์ทับซ้อนและใช้เงินผิดประเภท/ผิดกฎหมาย กรณีนี้ร้ายแรงที่สุด ถือว่าเป็นลาภมีควรได้โดยไม่สุจริต ห้ามทำอีกในอนาคต สตง ต้องเรียกเงินคืนจากมูลนิธิองค์กรเอกชนต่างๆ ตรวจสอบหลักฐานใบเสร็จรับเงิน ใบสำคัญรับเงิน ตรวจสอบเส้นทางการเงิน ตรวจสอบการเสียภาษีย้อนหลัง ลงโทษผู้อนุมัติเงินฐานทำให้ราชการเกิดความเสียหายตามมาตรา 157 อาญา และดำเนินคดีตามมาตรา 100 พรบ ป.ป.ช. และพรบ วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539 มาตรา 13-16 ซึ่งว่าด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน
กรณี 2 มีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ใช้เงินถูกประเภท/ถูกกฎหมาย กรณีนี้ร้ายแรงรองลงมา แต่ยังถือว่าเป็นลาภมิควรได้โดยสุจริต และห้ามทำอีกในอนาคต การมีผลประโยชน์ทับซ้อนทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริตประพฤติมิชอบได้แม้จะใช้เงินถูกประเภท/ถูกกฎหมายก็ตาม ดังนั้นจึงเป็นการสมควรที่จะห้ามไม่ให้ทำอีกในอนาคต ต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนอีก นอกจากนี้ควรตรวจสอบหลักฐานใบเสร็จรับเงิน ใบสำคัญรับเงิน ตรวจสอบเส้นทางการเงิน ตรวจสอบการเสียภาษีย้อนหลังหากมีการทุจริตประพฤติมิชอบให้ยึดเงินคืนเท่าที่มีหลักฐานการทุจริต ต้องตรวจสอบการเสียภาษีย้อนหลัง ลงโทษผู้อนุมัติเงินฐานทำให้ราชการเกิดความเสียหายตามมาตรา 157 อาญา และดำเนินคดีตามมาตรา 100 พรบ ป.ป.ช. และพรบ วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539 มาตรา 13-16 ซึ่งว่าด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน
กรณี 3 ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ใช้เงินผิดประเภท/ผิดกฎหมาย ต้องถือว่าเป็นลาภมิควรได้ โดยสุจริต ห้ามทำอีกในอนาคต ควรลงโทษผู้อนุมัติให้เงินฐานทำให้ราชการเกิดความเสียหายตามมาตรา 157 อาญา
กรณีที่ 4 ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และใช้เงินถูกประเภท/ถูกกฎหมาย กรณีนี้ถือว่าปกติ และให้ทำต่อไปได้ในอนาคต
ทั้งนี้การเรียกหลักฐานทางการเงินต่างๆ สตง ได้เคยทำมาแล้วในกรณีเงินอุดหนุนงานพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว) วัดสระเกศ และทำให้ได้รับเงินคืนเข้าท้องพระคลังหลวงเกือบ 30 ล้านบาท
ทั้งหมดนี้เป็นการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ สมดังพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ที่ได้พระราชทานไว้เพื่อให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ รักษาหลักนิติรัฐ และเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนต่อไป
ปัจฉิมลิขิต
พระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสรางเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 ระบุไว้ชัดเจนถึงเจตนารมณ์ในการร่างกฎหมายดังกล่าวไว้ในหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติเอาไว้ว่า “เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันนี้ การบริการด้านสาธารณสุขได้มุ่งที่จะโน้มนำให้ประชาชนเกิดพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพเสียตั้งแต่ในเบื้องต้น และส่งเสริมให้มีการสร้างเสริมสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง อยู่ในภาวะสมดุล และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอันตรายจากการบริโภคสุราและยาสูบหรือสารอื่นที่ทำลายสุขภาพ หรือจากพฤติกรรมการดำรงชีวิตที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น เพื่อที่จะให้มีเงินทุนมาดำเนินการดังกล่าว สมควรจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพขึ้น โดยเก็บเงินบำรุงจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยสุราและกฎหมายว่าด้วยยาสูบ เพื่อใช้ในการสนับสนุน รณรงค์ และชี้ชวนให้ประชาชนสร้างเสริมสุขภาพ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”
ดังนั้นการที่สสส นำเงินไปใช้สำหรับการวิจัยทางการเมืองและเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก จึงขัดกับเจตนารมณ์หรือวัตถุประสงค์ของกฎหมายอย่างสิ้นเชิง และไม่เป็นการสอดคล้องกับพระบรมราโชวาทด้านการใช้กฎหมายให้ตรงตามวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ได้อัญเชิญมาไว้ในตอนต้นของบทความนี้