xs
xsm
sm
md
lg

“อำนาจพิเศษต้องเด็ดให้ขาด”

เผยแพร่:   โดย: วิทยา วชิระอังกูร


การเมืองในระบบเลือกตั้งที่ผ่านมา เราได้รัฐบาลหลายต่อหลายชุด ซึ่งเมื่อการครองอำนาจรัฐสิ้นสุดลง ก็ล้วนมีปมปัญหาการใช้อำนาจทางการเมืองทุจริตคอร์รัปชันไม่แตกต่างกัน ในทุกรัฐบาล

และปัญหาการทุจริตที่กลายเป็นปัญหาหมักหมมถมทับกันมาตลอดจนเป็นดินพอกหางหมู ก็เพราะกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้ายืดยาดเป็นเรือเกลือ กว่าจะตัดสินได้แต่ละคดี และกว่าจะลงโทษนักการเมืองที่ทำผิดคิดไม่ชอบฉ้อราษฎร์บังหลวงได้ ก็กินเวลายาวนานมาก และยังไม่มีกรณีตัวอย่างที่สามารถลงโทษชนิดจับกุมคุมขังนักการเมืองได้อย่างเป็นจริงเป็นจังเลย บางคดีนานจนขาดอายุความ หลายคดีกว่าจะพิพากษาได้ คนผิดก็หลบหนีไปต่างประเทศแล้ว

ในยุคของ คสช.ที่ว่ากันว่าเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามคอร์รัปชัน ก็เห็นมีแต่การลงดาบลงโทษเอากับบรรดาข้าราชการประจำแต่ยังสาวไปไม่ถึงต้นตอ การคอร์รัปชันซึ่งมาจากนักการเมืองอย่างแท้จริงเลย หลายเรื่องยังอยู่ในกระบวนการที่ยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดคดีความกันเมื่อใด และผลสุดท้ายจะมีนักการเมืองที่ฉ้อราษฎร์บังหลวงถูกลงโทษตามความผิดจริงหรือไม่ก็ยังไม่ทราบได้

แต่เอาเถอะ การเอาจริงเอาจังจนสามารถลงโทษไล่ออกข้าราชการระดับสูงในระดับอธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือระดับนายพลทหารและตำรวจ ที่เป็นฝ่ายกระทำการทุจริตทั้งด้วยการแสวงหาประโยชน์ส่วนตนหรือร่วมมือรับใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมืองก็ตาม ก็นับว่าเป็นสิ่งที่ดีที่จะปรามการคอร์รัปชันได้ในระดับหนึ่ง อย่างน้อยที่สุดก็จะทำให้ฝ่ายข้าราชการประจำ เกิดความหวาดกลัวระมัดระวังตนในการทำหน้าที่ราชการด้วยความซื่อตรงตามระเบียบแบบแผน และอาจกล้าที่จะขัดขืนไม่กระทำการตามคำสั่งไม่ชอบของนักการเมืองอย่างง่ายดายอีกต่อไป ซึ่งอาจจะไม่ทั้งหมดหรอก เพราะประเภทโลภหลงไม่กลัวน้ำร้อนก็คงต้องมีอยู่ แต่ก็เชื่อว่าส่วนใหญ่จะเริ่มรู้สึกรักตัวกลัวผิด เพราะเห็นตัวอย่างข้าราชการระดับสูงที่แม้จะเกษียณอายุราชการไปแล้ว ยังถูกติดตามยึดทรัพย์ที่ได้ไปโดยมิชอบ และถูกลงโทษไล่ออกจากราชการย้อนหลัง ซึ่งมีผลให้งดเบี้ยหวัดบำนาญ แถมยังถูกเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ด้วย และที่เหนือสิ่งอื่นใด คือความอัปยศอดสูต่อชื่อเสียงเกียรติยศวงศ์ตระกูล และการต้องดำรงตนอยู่ในสังคมปัจฉิมวัยอย่างหมดศักดิ์ศรีโดยสิ้นเชิง

ในยุคการครองอำนาจรัฐจากการรัฐประหารและมีรัฐบาลควบคู่กับ คสช.สังคมไทยค่อนข้างเชื่อมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตของผู้นำอย่างพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่การควบคุมองคาพยพที่ล้วนมีอำนาจในแต่ละกระทรวงทบวงกรม และหน่วยงานที่กระจัดกระจายในส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ ก็ใช่ว่า จะเชื่อมั่นได้ว่า การทุจริตคอร์รัปชันจะหมดสิ้นไปเพียงเพราะผู้นำสุจริตอย่างเดียว ซึ่งก็มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วในรัฐบาลบางชุดที่มีผู้นำที่เชื่อมั่นว่าสุจริตแน่นอน อย่างนายชวน หลีกภัย หรือนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นต้น ก็ปรากฏว่ายังคงมีการทุจริตในวงการราชการ และหลายเรื่องยังเป็นคดีความคารังคาซังอยู่ในกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้าชวนให้ลืมๆ กันเลยอย่างที่เป็นอยู่

และสิ่งหนึ่งที่ค้างคาใจเป็นเครื่องหมายคำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้ก็คือ เมื่อถึงบทที่จะต้องถอดถอนนักการเมืองที่ทำผิดคิดมิชอบ ซึ่งปรากฏให้เห็นชัดเจนต่อสายตาสาธารณชน องค์กร สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งแต่งตั้งโดย คสช.ที่เขาล้อเลียนกันว่าสภาเรือแป๊ะก็กลับลงมติสวนทางกับความรู้สึกของประชาชน เสมือนหนึ่งทำหน้าที่ปลดปล่อย ฟอกล้างความผิดให้นักการเมืองครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างน่ากังขาต่อแนวทางที่จะปฏิรูปการเมืองตามโรดแมปของ คสช.

แต่แม้จะรู้สึกผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่า สังคมไทยก็ยังจำเป็นต้องตั้งความหวังต่อคำประกาศที่จะเอาจริงเอาจังกับการคอร์รัปชันของผู้นำในยุค คสช.นี้ โดยหวังว่าจะศักดิ์สิทธิ์จริง และอยากเห็นการใช้อำนาจพิเศษเด็ดขาดจัดการกับการทุจริตที่ปรากฏหลักฐานชัดแจ้งอย่างรวดเร็วเห็นผลทันใจสังคมโดยรวม ทดแทนกระบวนการยุติธรรมที่อืดอาดเป็นเรือเกลือ ทั้งขอเป็นกำลังใจ ขอให้รัฐบาลจากการรัฐประหารครั้งนี้อย่าได้มีแผลหรือเปิดแผลให้ขบวนการทักษิณและคนเสื้อแดงตีโต้กลับแบบ “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง” เลยนะเจ้าประคุณเอ้ย

“อำนาจพิเศษต้องเด็ดให้ขาด”
จะใช้มาตราใดก็ไม่ว่า
ที่ทำผิดทายท้าอย่าละเว้น
ดาบในมืออย่าเงื้อง่าอย่าโงนเงน
ฟันให้เห็นว่าเป็นธรรมทุกมาตรา
ถืออำนาจพิเศษต้องเด็ดขาด
อย่าหย่อนยานยืดยาดอย่าไว้หน้า
ชั่วชาติที่มันทำกันตำตา
กฎเกณฑ์ธรรมดาไม่เท่าทัน
มาตราสี่สิบสี่ต้องมีฤทธิ์
กำราบชั่วกำจัดผิดพิษมหันต์
กระบวนการปกติล้วนตีบตัน
อำนาจพิเศษเท่านั้นจึงทันการณ์
ถ้าปล่อยตามกระบวนการปกติ
พิษภัยจะแตกผลิกระฉอกฉาน
เพราะหลายส่วนกระบวนการล้วนพิการ
ที่ยอมให้รัฐประหารเพื่อการนี้
อยากให้ใช้มาตราอาญาสิทธิ์
กำจัดชั่วชำระผิด ที่ผิดวิถี
โดยถูกต้องเป็นธรรมทุกกรรมวิธี
เชิญเถิด ม. 44...อย่ารีรอ

          ว.แหวนลงยา
กำลังโหลดความคิดเห็น