xs
xsm
sm
md
lg

ปลุกจิตสำนึก “ไม่โกง” “เอกชน-ราชการ” แข่งกันไหม? / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เพราะปัญหาการพัฒนาประเทศไทย มีสาเหตุใหญ่มาจาก “การทุจริตคอร์รัปชัน” หรือ “การโกง” นี่เอง ที่ทำให้ทิศทางและวิธีการถูกเบี่ยงเบนไปจากความถูกต้องและเป็นธรรม
หากมีการวางแผนและดำเนินงานโดยยึดหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) คือมีความซื่อสัตย์สุจริต ถูกต้อง เป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ การทุจริตประพฤติมิชอบจะไม่เกิดขึ้น
ผู้บริหาร หรือผู้นำกิจการที่ทำเช่นนี้ได้ก็ต้องมีจุดยืนของความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เป็น “รากแก้วความดี”
แต่เพราะระบบในสังคมไทยปล่อยให้นักธุรกิจการเมืองที่คิดแบบค้ากำไรเกินควร สามารถใช้เงินและผลประโยชน์เข้ามา “ประมูลอำนาจทางการเมือง” ผ่านพิธีกรรมที่เรียกว่า “การเลือกตั้ง” ในคราบของ “ระบอบประชาธิปไตย ที่ยังไม่พัฒนา และไม่มีความผิดชอบต่อสังคม” ทั้งผู้เลือกและผู้เสนอตัวให้เลือกโดยผู้มีอำนาจคุมกติกาทุกยุคที่ผ่านมา มีแต่ปล่อยไปตามยถากรรม
จึงมีนักวิชาการต่างประเทศตั้งข้อสงสัยว่าทำไมมีคนไทยที่ยอมเลือก “คนไม่มีคุณภาพและเป็นคนไม่ดี” มาเป็นผู้ปกครองตัวเอง
ผลก็คือ ความถูกต้องในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ถูกบิดเบือน ระบบราชการถูกครอบงำ ระบบคุณธรรมถูกบั่นทอน คนที่หวังเติบโตทางลัดก็ “ยอมรับใช้” หรือ “เสนอตัวรับใช้”นักการเมืองที่ไม่มีอุดมการณ์
“การฉ้อราษฎร์บังหลวง” จึงลุกลามไปทั่วโดยเฉพาะระบบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่ส่งผลถึงคู่ค้า คือ ภาคเอกชนมีการวิ่งเต้นและจ่ายใต้โต๊ะ ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และภาครัฐต้องจ่ายแพงโดยขาดคุณภาพและประสิทธิภาพ
เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ถึงกับกล่าวในปาฐกถาในงานของโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริตช่วงหนึ่งว่า…

“ผมดีใจมากที่ได้เห็นภาคเอกชนมีความเป็นห่วงชาติบ้านเมืองของท่าน ของผม ของเรา ร่วมมือร่วมใจกันคิดแก้ปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือที่เราชอบเรียกกันว่าคอร์รัปชัน อันเป็นปัญหาที่เลวร้ายที่สุดในประเทศของเรา เป็นผลเสียมากที่สุด และเป็นสิ่งที่น่าละอายมากที่สุดสำหรับคนไทย”
งาน “รวมพลังต่อต้านคอร์รัปชัน 2558 : Active Citizen ปลุกสำนึกไทย ต้านภัยคอร์รัปชัน” กับภาคีองค์กรต่อต้านคอรัปชัน (ประเทศไทย) และทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ณ บริเวณ เซ็นทรัลเวิลด์
ขณะที่ ดร.บัญฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ซึ่งทำหน้าที่เลขานุการของแนวร่วมดังกล่าว หรือ CAC ที่เป็นการร่วมมือของสถาบันหลักทางธุรกิจ 8 องค์กรกล่าวว่า

“คอร์รัปชันเป็นปัญหาหนักอกของนักธุรกิจ เพราะแม้บริษัทส่วนใหญ่จะไม่ชอบคอร์รัปชัน ไม่อยากจ่าย แต่ก็มีบริษัทน้ำเน่าที่พร้อมจะจ่าย พร้อมทุจริตโดยไม่เกรงกลัวกฏหมาย ทำให้การทุจริตคอร์รัปชันได้กลายเป็นเหมือนอาชญากรรมจัดตั้ง กระทบบริษัทที่ต้องการทำธุรกิจอย่างตรงไปตรงมามาก”
ล่าสุด คณะกรรมการ CAC ได้มติให้การรับรองบริษัทที่ผ่านกระบวนการประเมินตนเอง ว่า มีนโยบายและมีแนวปฏิบัติป้องกันการทุจริตภายในองค์กรครบถ้วนตามเกณฑ์ที่ CAC กำหนดอีก 11 บริษัท เพิ่มจากไตรมาส 2 ซึ่งมี 122 บริษัท
ปัจจุบันมีเอกชนสมัครใจเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันกับโครงการ CAC แล้ว 525 บริษัท (เป็นบริษัทจดทะเบียน 295 บริษัท) เพิ่มขึ้นจาก 406 บริษัทเมื่อสิ้นปี 2557 ขณะที่จำนวนบริษัทที่ผ่านการรับรองเพิ่มขึ้นเป็น 133 จาก 78 บริษัทเมื่อสิ้นปี 2557
ทั้งนี้ CAC ตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนบริษัทที่ร่วม ประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันเป็น 600 บริษัท และเพิ่มจำนวนบริษัทที่ผ่านการรับรองเป็น 200 บริษัทภายในสิ้นปี 2558
“การพิจารณาให้การรับรองของ CAC รอบนี้ เป็นครั้งแรกที่ดำเนินการภายใต้กระบวนการใหม่ที่มีความเข้มข้นมากขึ้น การที่มีบริษัทเอกชนเข้ามาร่วมประกาศเจตนารมณ์และยื่นขอรับรองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าภาคเอกชนกำลังตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการป้องกันปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการที่จะสร้างระบบธุรกิจของไทยให้สะอาดปราศจากการทุจริตได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและการลงมือทำจริง” ดร.บัณฑิต กล่าว
อย่างไรก็ตาม ภาคข้าราชการก็มีความเคลื่อนไหวที่ดูดีเหมือนกัน เมื่อเร็วๆ นี้ ที่สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น มีการฝึกอบรมหลักสูตร “ท้องถิ่นสุจริตโปร่งใส” 2 รุ่น ให้กับข้าราชการ 343 คนจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งไว้น่าฟังทีเดียว
“ขอให้ท่านภูมิใจว่าเราไม่โกง ข้างบนต้องนิ่ง ขอยืนยันว่า ไม่เคยโกงแม้แต่บาทเดียว ถึงท้องถิ่นต้องเต็มจำนวน พอลงไปยังประชาชน มั่นใจว่าเกิดการพัฒนาแบบต่างประเทศแน่”
“ผมเหมือนมาปลุกเร้าพวกท่านให้รู้บทบาทหน้าที่ควรจะทำอย่างไร ขอให้มั่นใจว่า กระทรวงมหาดไทยมีความตั้งใจ ตามที่รัฐบาลต้องการ คือการทำงานที่โปร่งใส ให้ได้ตามฐานข้อมูล แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนา และที่สำคัญคือความดี ก็ขอฝากความหวังทุกคน ทำงานให้เต็มที่ ผมไม่มีเจตนาเข้ามาหวังผลประโยชน์กับท้องถิ่น เพราะฉะนั้นคุยกันได้ทุกเรื่อง ไม่มีการแบ่งสี แบ่งฝ่าย”
ข้อคิด...
ประเด็นสำคัญในการปฏิรูปประเทศไทย คือสร้างระบบที่ป้องกันและขจัดกระบวนการฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือ “การโกง” ที่กลายเป็นธรรมเนียมจนที่ยอมรับกันในยุคที่นักธุรกิจการเมืองซึ่งขาดจริยธรรมแพร่เชื้อไว้ และรัฐบาลยุคปัจจุบันที่มา โดยอำนาจพิเศษเด็ดขาด กำลังพิสูจน์ว่าการประกาศเอาจริงในการปราบ “การโกง” ผลลัพธ์จะเกิดขึ้นจริงสมกับความหวังได้เพียงไร
ตอนนี้เราได้เห็นวงการธุรกิจเริ่มตื่นตัวทำการค้าและอุตสาหกรรมแบบที่มีมาตรฐานคุณภาพ ประสิทธิภาพ และมีความเป็นธรรม จึงรวมตัวกันเป็นเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน ขณะที่กลไกกำกับดูแลตลาดทุน คือ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ส่งเสริมให้มีการพัฒนาระบบบริหารองค์กรด้วยหลักธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลให้เติบโตอย่างยั่งยืนและได้รับความเชื่อถือ
แต่สำหรับ คนที่ไม่ต่อต้านการโกง เพราะได้ประโยชน์จากผู้มีอำนาจในการฉ้อฉลก็คงพอใจกับพฤติกรรมแบบเก่าๆ รวมทั้งข้าราชการที่หาประโยชน์จากการโกงเพราะคิดว่าไม่มีใครรู้ หรือสาวไม่ถึงตัวในบริบทของสังคมยุคปัจจุบันที่มีการเข้าถึงข้อมูลและการตรวจสอบจากกลไกต่างๆ สภาวะย่อมไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว
อย่างไรก็ตามการป้องกันและแก้ปัญหาจึงต้องส่งเสริม สนับสนุนและ “ให้รางวัลการทำดี” เช่น การร่วมมือเป็นเครือข่ายของ “ผู้ใฝ่ดี” และมีมาตรการจัดการลงโทษกับ “ผู้ใฝ่ชั่ว” ทำให้กฎหมายมีผลและเสริมสร้างกลไกจัดการเอาผิดอย่างจริงจัง

เป็นกำลังใจแนวร่วมเครือข่ายผู้ใฝ่ดีครับ และน่าติดตามทั้งภาคเอกชน คนทำธุรกิจ หรือภาครัฐ ผู้กำกับกติกาและดูแลการใช้ทรัพยากรของรัฐภาคใดจะทำได้ดีกว่ากัน
suwatmgr@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น