xs
xsm
sm
md
lg

เราสามารถจัดกลุ่มนักลงทุนไทยตามพฤติกรรมการลงทุนได้กี่ประเภท?

เผยแพร่:   โดย: อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์, อาจารย์ ดร.ธนากร ลิขิตาภิวัฒน์ และ น.ส.ธัญญฉัตร์ รุ่งศรีสวัสดิ์

อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและบริหารความเสี่ยง สาขาวิชาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

อาจารย์ ดร. ธนากร ลิขิตาภิวัฒน์
ภาควิชาการเงินและการธนาคาร คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นางสาว ธัญญฉัตร์ รุ่งศรีสวัสดิ์
มหาบัณฑิตสาขาวิชาสถิติประยุกต์ วิชาเอกวิทยาการ ประกันภัยและบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
Actuarial Analyst, บริษัท เอไอเอ (ประเทศไทย) จำกัด


แต่ละคนมีพฤติกรรมการออมและการลงทุนแตกต่างกัน บางคนชอบซื้อที่ดิน บางคนชอบลงทุนในหุ้นสามัญที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ บางคนซื้อทองเก็งกำไร งานวิจัยชิ้นนี้ได้ไปนำเสนอที่ SEC working papers forum เรื่อง “Investment: Expectation & Reality การลงทุน…ความหวังกับความจริง” ในวันพุธที่ 18 พ.ย. 2558 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และ Morningstar Research

วัตถุประสงค์ของงานชิ้นนี้มีความสนใจศึกษาว่าถ้าเราจะจัดประเภทกลุ่มนักลงทุนไทย ตามพฤติกรรมซึ่งสนใจไปที่สัดส่วนการลงทุน เช่น หากมีเงิน 100 บาท จะแบ่งไปลงทุนในรูปแบบการลงทุนแบบต่างๆ 1.เงินฝากธนาคาร 2. สลากออมสิน/ธกส 3.หุ้นสามัญ 4.อสังหาริมทรัพย์ 5.โลหะมีค่าเช่น ทอง 6.การเล่นแชร์ 7.กรมธรรม์ประกันชีวิต 8. ฝากเงินหรือถือหุ้นสหกรณ์ออมทรัพย์ 9.พันธบัตรรัฐบาล 10.พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ 11. หุ้นกู้ 12.ตราสารอนุพันธ์ 13.การปล่อยกู้นอกระบบ 14.กองทุนรวม 15.กองทุนรวมระยะยาว (LTF)/ กองทุนรวมเพื่อการเกษียณ (Retirement Mutual Fund) 16.Exchange-traded fund 17.กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) และ 18.กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) อย่างละเท่าใด และเมื่อเราใช้วิธีการวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางสถิติที่เรียกว่า การวิเคราะห์จัดกลุ่ม (Cluster Analysis) ทำให้เราสามารถจำแนกนักลงทุนไทยตามสัดส่วนการลงทุนในรูปแบบการลงทุนประเภทต่างๆ ดังกล่าวได้เป็นกี่กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีลักษณะพฤติกรรมการลงทุนอย่างไรบ้าง

กลุ่มตัวอย่างสำหรับงานวิจัยชิ้นนี้มีจำนวน 2,255 คนโดยเป็นคนในวัยทำงานที่อายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไปที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจากหลากหลายอาชีพ เช่น พนักงานในอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร พนักงานในอุตสาหกรรมประกันภัย พนักงานในบริษัทเอกชนอื่นๆ ทหาร พ่อค้า ข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ

ผลการจัดกลุ่มนักลงทุนไทย โดยจำแนกกลุ่มนักลงทุนตามสัดส่วนในรูปแบบการลงทุนต่างๆ เช่น เป็นตัวแปรจัดกลุ่ม พบว่านักลงทุนไทยสามารถแบ่งออกได้เป็นสามกลุ่มคือ 1 กลุ่มผู้ถือเงินสด (Cash holder) 2 กลุ่มนักลงทุนยุคเก่า (Old-fashioned investors) และ 3 กลุ่มนักลงทุนยุคใหม่ (Modern investors)

ร้อยละของเงินลงทุนเฉลี่ยของประเภทการลงทุนและประเภทนักลงทุนแสดงในตารางข้างล่างนี้

โปรไฟล์ของแต่ละกลุ่มนักลงทุน แสดงดังรูปนี้

กลุ่มผู้ถือเงินสดนิยมฝากเงินของตนในบัญชีสะสมทรัพย์ เพียงอย่างเดียวโดยเฉลี่ยมากถึงร้อยละ 95 ของเงินที่มีเพื่อออมหรือลงทุนซึ่งถือว่าสูงมาก และแทบจะไม่ลงทุนในรูปแบบการลงทุนอื่นๆ เลย

กลุ่มนักลงทุนยุคเก่ามีแนวโน้มที่จะลงทุนส่วนใหญ่ในรูปแบบการลงทุนดั้งเดิม เช่น อสังหาริมทรัพย์ ฝากสหกรณ์ ทองและโลหะมีค่า การปล่อยกู้เงินให้คนอื่น หุ้นสามัญ คำว่านักลงทุนยุคเก่าไม่ได้หมายความเป็นนักลงทุนที่มีอายุมาก แต่มีแนวโน้มจะลงทุนในรูปแบบการลงทุนที่ค่อนข้างจะเป็นที่รู้จักกันดีหรือมีมานานแล้ว

ส่วนกลุ่มนักลงทุนยุคใหม่ นิยมลงทุนในรูปแบบการลงทุนสมัยใหม่ เช่น หุ้นสามัญ ตราสารอนุพันธ์ กองทุนรวมเพื่อการเกษียณ กองทุนรวมระยะยาว หุ้นกู้ ประกันชีวิต พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุน ETF กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) และการปล่อยกู้เงินให้คนอื่น ซี่งเราจะเห็นได้ว่ากลุ่มนักลงทุนยุคใหม่มีการกระจายการลงทุน (Diversification) สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ

เราค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างการเป็นสมาชิกกลุ่มนักลงทุนกับความแตกฉานทางการเงิน (Financial literacy) โดยพบว่านักลงทุนแต่ละกลุ่มมีความแตกฉานทางการเงินแตกต่างกัน

1. กลุ่มนักลงทุนสมัยใหม่มีความแตกฉานทางการเงินสูงกว่าทั้งกลุ่มนักลงทุนยุคเก่าและกลุ่มผู้ถือเงินสด
2. กลุ่มนักลงทุนยุคใหม่คิดว่ารูปแบบการลงทุนสมัยใหม่สามารถเข้าถึงได้ง่าย เข้าใจได้ง่าย
3. มีความมั่นใจในความรู้ของตนเองเกี่ยวกับรูปแบบการลงทุนใหม่ๆ สูงกว่ากลุ่มนักลงทุนยุคเก่าและกลุ่มผู้ถือเงินสด
4. นักลงทุนยุคใหม่มีแนวโน้มจะรับรู้ว่าผลตอบแทนจากการลงทุนของรูปแบบการลงทุนต่างๆ ค่อนข้างสูงกว่ากลุ่มนักลงทุนยุคเก่าและกลุ่มผู้ถือเงินสด
5. นักลงทุนยุคใหม่ยังมีความคิดว่ารูปแบบการลงทุนต่างๆ นั้นมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนต่ำกว่ากลุ่มนักลงทุนยุคเก่าและกลุ่มผู้ถือเงินสด
6. กลุ่มนักลงทุนยุคใหม่มีแนวโน้มจะมีระดับการศึกษาสูงกว่ากลุ่มนักลงทุนยุคเก่าและกลุ่มผู้ถือเงินสด และ
7. กลุ่มนักลงทุนยุคใหม่มีแนวโน้มจะเป็นพนักงานในอุตสาหกรรมการเงินและการธนาคาร ส่วนกลุ่มนักลงทุนยุคเก่ามักเป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ


เรามีความเห็นจากผลการวิจัยว่า นโยบายสาธาระณะเพื่อพัฒนาตลาดทุนและพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนไทย ควรส่งเสริมการศึกษาด้านการเงินการลงทุน และการเงินส่วนบุคคล เพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาเช่นในต่างประเทศ โดยบรรจุเนื้อหาดังกล่าวให้นักเรียนได้เรียนในโรงเรียนตั้งแต่ยังเยาว์ เพื่อให้คนไทยมีความรู้ด้านการออมและการลงทุนสำหรับอนาคต รู้จักวางแผนทางการเงินเพื่อรองรับภาวะสังคมผู้สูงอายุ ทำให้คนไทยยกระดับความแตกฉานทางการเงิน ในระยะสั้นอาจจะดำเนินนโยบายให้การศึกษาทางการเงินสำหรับผู้สนใจที่ไม่มีพื้นฐานทางการเงินเพื่อเสริมสร้างความรู้อย่างถูกต้องและเพิ่มความมั่นใจในความรู้ทางการเงิน ทำให้สามารถตัดสินใจลงทุนได้อย่างถูกต้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น