ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กลายเป็นผู้แพ้ไปโดยปริยายสำหรับ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ หัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา หลังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) สะบัดปากกาอนุมัติให้ลาออกจากราชการ
แถมตอกย้ำด้วยการออกมาแสดงความเห็นของ พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา โฆษกฯตร.โดยระบุว่าไม่เชื่อข่าวอิทธิพลมืดคุกคามนายตำรวจผู้นี้พร้อมให้เหตุผลว่าถ้าเป็นความจริงตำรวจชั้นผู้ใหญ่ คุมคดีสำคัญก็ต้องรู้วิธีการต่อสู้ตามระเบียบแบบแผนซึ่งมีช่องทางอยู่แล้ว
ขณะที่การเคลื่อนไหวของ พล.ต.ต.ปวีณ มีแต่ความเงียบ บางกระแสบอกว่าได้เดินทางหนีภัยมืดไปต่างประเทศพร้อมกับครอบครัวแล้ว นักข่าวบางคนที่มีโอกาสสัมภาษณ์มาหลายครั้งกลับติดต่อไม่ได้แต่มีข้อความเขียนมาขอบคุณสื่อ และประชาชนที่ให้กำลังใจพร้อมกับระบุ “ภัยมืด” ที่ยังคุกคามและชีวิตกำลังอยู่ในภาวะอันตรายอย่างยิ่งยวด
เป็นอันว่าผู้มีอาสาจุดไม้ขีดไฟเพื่อส่องแสงสว่างกลายเป็นคนถูกไล่ล่า หากข่าว หน.พนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา ต้องหอบครอบครัวหนีตายไปต่างประเทศเป็นเรื่องจริงอย่าว่าแต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะเละเป็นโจ๊กเลยแม้แต่รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็คงไม่มีความน่าเชื่อถือไปพูดคุยกับประชาคมโลกที่เขากำลังจับตากันอยู่
ย้อนกลับไปดูบทสัมภาษณ์ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อีกครั้งโดยเฉพาะประเด็นที่พูดถึงมาตรฐานการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจซึ่งถือเป็นมะเร็งร้ายตัวจริงที่สมควรได้รับการแก้ไขเป็นอันดับแรก มากกว่าการปรับโครงสร้างอื่นๆ และปัญหาต่อมาคือการปล่อยปละละเลย “ทิ้งขว้าง” ข้าราชการตำรวจจากผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ กลายเป็นผู้พิฆาตสันติสุข ต้องแปลงร่างเป็นเสือหาเนื้อกินเอง
หรือประเด็นสนับสนุนให้ตำรวจมีอาชีพที่สองเพื่อหารายได้เสริมจุนเจือครอบครัวก็นับว่าเป็นการส่งเสริมผิดๆเพราะแท้จริงแล้วควรผลักดันให้มีความเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพมากกว่าแตกไลน์ไปมีอาชีพที่สองที่สามเพราะนอกจากจะทำให้ขีดความสามารถการเป็นตำรวจไม่ถูกพัฒนาแล้วยังเปิดช่องให้เกิดการทุจริต คอรัปชั่นกันทางอ้อมเช่นอาชีพเสริมจากการขายตรง ขายประกัน บริษัทรักษาความปลอดภัย เป็นต้น
มีผู้ให้นิยาม “อาชีพตำรวจ” ว่าหมายถึงพวกบ้าเครื่องแบบ ชอบแต่งตัวอวดยศถาบรรดาศักดิ์ พกปืน แสดงความเหนือชาวบ้าน วางก้าม ข่มขู่-รีดไถหรือเรียกรับผลประโยชน์ ต่างจากคำว่า “ตำรวจอาชีพ” ที่เข้ามาเป็นตำรวจด้วยอุดมการณ์ อุดมคติ มีจิตวิญญาณ รักเกียรติรักศักดิ์ศรี
“อาชีพตำรวจ”จึงไม่ควรไปข้องเกี่ยวกับอาชีพอื่นๆ
ไม่ว่าอาชีพเสริมจะสุจริตหรือไรก็ตามเพราะเนื้อแท้แล้วการทำงานไม่เต็มกำลังสติปัญญา ทำงานอย่างไม่เต็มที่นั่นก็คือการคอรัปชันอย่างหนึ่ง กระทั่งการทำมาหากินของลูกเมีย หรือครอบครัวก็ตามถ้าเป็นอาชีพที่เกี่ยวพันกับการใช้อำนาจหน้าที่ของตำรวจให้พึงระมัดระวังอย่างที่สุดด้วย
และที่สำคัญมากๆ สมควรให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทยและสังคมผู้มีอำนาจคือการใช้อภิสิทธิ์ชนให้ลุก หลานหรือสมัครพรรคพวกได้รับเข้าบรรจุ “ภายใน” เป็นตำรวจสัญญาบัตรอย่างง่ายดายดังที่เห็นกันมาทุกยุคทุกสมัย
คงไม่ต้องอธิบายเหตุผลอะไรนอกจากถ้า “หัวไม่ส่าย” ซะอย่างหางก็คงไม่กระดิก
ผู้มีอำนาจทั้งทหาร ตำรวจ นักการเมือง ต้องทำให้เป็นตัวอย่าง!?ฃ
สำหรับการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ซึ่งมีปัญหามากมายมาโดยตลอด ยุคหนึ่งฉาวโฉ่เพราะมีการซื้อขายเก้าอี้กันอย่างโจ๋งครึ่ม ยุคหนึ่งเล่นแต่พรรคพวก เอาคนของตัวมาคุมทุกหน่วยงานทั่วประเทศจนเรียกว่าเป็นยุครัฐตำรวจ ผ่านมาอีกยุคตำรวจคนไหนจะเจริญก้าวหน้าต้องผ่านการพิจารณาของบ้านใหญ่ฟาร์มโชคชัย
แม้แต่ยุคคืนความสุข อันมีเป้าหมายการปฏิรูปประเทศและปฏิรูปตำรวจแต่ระบบการแต่งตั้งโยกย้ายกลับไม่เข้าท่า มีการเล่นพรรคเล่นพวกจนเข้าข่ายผิดแบบแผนประเพณีปฏิบัติกันเลยทีเดียว
เช่นเดียวกับโชคชะตาของ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ หัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์ฯแทนที่จะได้บำเน็จความชอบกลับโดนย้ายไป “ล่อเป้า” ให้เสี่ยงตายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ไม่ว่าผู้หลักผู้ใหญ่ของ สตช.หรือรัฐบาล จะให้ความเห็นสวนทางมาอย่างไรแต่ความจริงก็คือความจริง ความผิดประการเดียวของ “ปวีณ” ก็คือเดินสุดซอยจริงๆ และไม่เฉลียวกับคำคมที่ว่า “ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน”
เอาเป็นว่า “รองฯวีณ”มีโอกาสจุดไม้ขีดแค่เพียงก้านสองก้านเท่านั้นก่อนจะถูกน้ำเทลงมาจนเปียกทั้งกล่อง นับต่อนี้ไปสังคมตำรวจคงต้องทบทวนการทำงาน หรือการปฏิบัติหน้าที่กันอย่างจริงจังเสียที และอุดมคติ 9 ประการ เพื่อเป็นแนวทางชี้นำการประพฤติปฏิบัติตนและปฏิบัติหน้าที่เพื่อบรรลุถึงปณิธาน คือ 1.เคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่ 2.กรุณาปราณีต่อประชาชน 3.อดทนต่อความเจ็บใจ 4.ไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบาก 5.ไม่มักมากในลาภผล 6.มุ่งบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน 7.ดำรงตนในยุติธรรม 8.กระทำด้วยปัญญา 9.รักษาความไม่ประมาทด้วยชีวิต
อุดมคติ 9 ประการของ “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” นั้น หากท่านที่เป็นตำรวจจะอยู่ในข่าย “อาชีพตำรวจ” หรือ “ตำรวจอาชีพ” อ่านพบท่านคิดว่าเพื่อความสำเร็จของหน้าที่การงาน ท่านยังเชื่อหรือไม่ว่าอุดมคติ 9 ข้อนี้เพียงพอนำไปสู่ความก้าวหน้าของตัวท่านเอง และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
จำเป็นต้องเพิ่มข้อใดอีกหรือไม่เช่น รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม !?
ในยุคที่ทุกฝ่ายเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพไม่เว้นกระทั่งทหาร ที่ทำหนังสือ 10 ความเห็นและเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญไปยัง มีชัย ฤชุพันธุ์ โดยข้อที่ 8.ระบุว่าข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะทหารต้องมีประสิทธิภาพทุกด้านเช่นเดียวกับประชาชน ไม่ควรถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพแม้กระทั่งสิทธิเสรีภาพการแสดวงออกทางการเมือง ด้วยเหตุแห่งอาชีพในการเป็นข้าราชการทหาร
จึงอยากให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ในฐานะผู้นำองค์กรสีกากี ได้แสดงจุดยืน-บทบาท ของตำรวจยุคปฏิรูปสมควรทำหนังสือเสนอแนะเพื่อประกอบการร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของตำรวจด้วย
ลองไปอ่าน 10 ข้อของทหาร แล้วมาประยุกต์ในส่วนของตำรวจ และอย่าลืมเรื่องสิทธิเสรีภาพของข้าราชการตำรวจทุกคน นอกจากการแสดงออกทางการเมืองเช่นทหารแล้วยังเห็นควรให้สิทธิ์ผู้ใต้บังคับบัญชาวิพากษ์วิจารณ์ผู้บังคับบัญชาได้ตามความเหมาะสม
เฉกเช่นกรณีพล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินท์ หัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา ผู้ถูกกระทำซ้ำซากแม้แต่การออกมาปกป้องตัวเองก็ยังทำไม่ได้เนื่องจากมีวินัยข้าราชการตำรวจค้ำคอ (ชกข้างเดียว) อยู่.