กฎข้อที่ 2 บริษัทคือเรื่องของบุคลากร ไม่ใช่ทรัพย์สิน
โดย บลจ.อเบอร์ดีน
พนักงานมีความสำคัญต่อบริษัทมากน้อยเพียงใด? พนักงานเป็นเส้นเลือดของบริษัทหรือไม่? หรือเป็นแค่ฟันเฟืองตัวหนึ่งของบริษัท? คำตอบอาจขี้นอยู่กับความเห็นของท่านว่าใครสำคัญ เมื่อเราเอ่ยถึงประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือฝ่ายบริหาร ความสำคัญของบุคคลเหล่านี้ก็ดูจะเด่นชัด เพราะเขาเหล่านี้คือผู้นำของบริษัท และเป็นหน้าเป็นตาของบริษัท
สำหรับคนรุ่นก่อนประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทที่ประสบความสำเร็จเป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่อง ลองนึกถึง แจ็ค เวลช์ หรือริชาร์ด แบรนสัน ทุกวันนี้คนเหล่านี้ดูเหมือนเป็นสีสันที่ได้รับการยกเว้น แต่หลังจากวิกฤตการเงินที่ผ่านมา มีการให้ความสำคัญมากขึ้นต่อการปฏิบัติตามกฎระเบียบ บริษัทต้องแสดงให้เห็นว่ามีความพร้อมในการบริหารงานได้อย่างชาญฉลาด และเหมาะสม คณะกรรมการของบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทต้องสามารถถูกตรวจสอบได้
ไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่แนวคิดใหม่นี้เกิดขึ้นจากภาคธุรกิจธนาคาร ในขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจยังกำลังหาทางในการควบคุมดูแลธุรกิจธนาคารมาเป็นเวลานานกว่า 7 ปีว่าจะป้องกันการเกิดวิกฤตอย่างที่เกิดขึ้นในครั้งก่อนไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีกได้อย่างไร เมื่อผู้บริหารของธนาคารมีหน้าที่ดูแลงานตั้งแต่การดำเนินงานตามกลยุทธ์เชิงรุกที่ดูมีความเสี่ยง ไปจนถึงกรณีที่ผิดกฎร้ายแรงที่สุด เช่น การทุจริตทางการเงินอย่างชัดเจน
อเบอร์ดีน ในฐานะนักลงทุนระยะยาวในเอเชีย เราให้คุณค่าต่อความสามารถในการแข่งขันที่เรียบง่ายมากกว่าการโอ้อวดตน เมื่อเรารู้ว่าบริษัทใดสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดี จะทำเงินได้ดีต่อไป เราจะขอเข้าพบประธานเจ้าหน้าที่บริหารเพื่อสัมภาษณ์ และจะพิจารณาว่าเขาผู้นี้จะเป็นที่ไว้วางใจในการสร้างธุรกิจได้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ และจะแบ่งปันผลตอบแทนจากการดำเนินธุรกิจแก่บรรดาผู้ถือหุ้นได้หรือไม่
แต่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารก็ไม่ได้เป็นผู้เดียวที่เราควรไปทำความรู้จัก และไม่ได้มีลักษณะเดียว ในญี่ปุ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเป็นผู้นำ และถูกเปลี่ยนตัวบ่อยเพื่อให้ได้คนที่ดีกว่าในการส่งเสริมความปรองดองในองค์กร และเปิดโอกาสให้ทุกคนมีสิทธิก้าวไปถึงขั้นสูงสุดในองค์กรได้ แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้นำที่ดูแลธุรกิจของครอบครัวมีรูปแบบเหมือนๆ กันมากกว่า
เราไม่มีแนวคิดล่วงหน้าเกี่ยวกับรูปแบบของคนว่าคนแบบใดจะดีที่สุด แต่สิ่งที่สำคัญคือ การตรวจสอบ และถ่วงดุลกันในบริษัท คณะกรรมการส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เป็นผู้บริหารของบริษัทที่อยู่ภายใต้ประธานกรรมการของบริษัทที่เป็นอิสระจะเป็นผู้ปกป้องบริษัทจากการทุจริตนอกลู่นอกทางได้ดีที่สุด ในทางปฎิบัติหลายบริษัทในเอเชียล้วนมีคณะกรรมการที่มีความจงรักภักดีต่อประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เมื่อไม่มีใครกล้าตั้งคำถามต่อประธานเจ้าหน้าที่บริหารก็สามารถทำให้บริษัทเกิดปัญหา หรือแม้แต่สร้างความเสียหายให้แก่บริษัทได้
“คนจึงเป็นทรัพย์สินที่สำคัญที่สุด” เป็นภาษิตเก่าๆ ที่ฟังคุ้นหูกันมานานและดูมีความหมาย เพราะมีความจริงที่แน่นอนอยู่ว่า บริษัทใดที่สามารถสร้างกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จได้อย่างต่อเนื่องจะต้องอาศัยวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่งเกือบจะตลอดเวลา แต่ในทางตรงข้าม กลยุทธ์ที่ไม่มีวัฒนธรรมองค์กรเป็นแรงสนับสนุนก็จะต้องล้มเหลวเกือบตลอดเวลา
จริงๆ แล้ว งานวิจัยจากเครดิต สวิส เกี่ยวกับผลตอบแทนในระยะยาวจากตลาดหุ้นแสดงให้เห็นว่าบริษัทที่มีราคาหุ้นสูงเด่นมักจะดีต่อไป แต่บริษัทที่มีราคาหุ้นย่ำแย่ก็มักจะแย่ต่อไป มีหลายเหตุผลในประเด็นนี้แต่งานวิจัยได้ชี้ให้เห็นอย่างอ้อมๆ ว่าในบรรดาบริษัทที่เป็นผู้นำในตลาด แผนงานที่ชัดเจน และการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพจนเกิดผลกำไรเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่สำหรับตัวผู้บริหารสูงสุดก็เปลี่ยนคนไปเรื่อยๆ
การกำหนดวัฒนธรรมองค์กรเป็นเรื่องยาก คุณค่า และทัศนคติมักจะกำหนดมาจากคณะกรรมการของบริษัท วัฒนธรรมที่ประสบความสำเร็จส่งเสริมให้พนักงานมีเจตนารมณ์ร่วมกัน มากกว่าจะสงสัยว่า “ฉันจะได้อะไรจากงานนี้” นโยบายของบริษัทต้องสนับสนุนด้วย โดยรับรู้ผลงานของพนักงาน และให้แรงจูงใจ และให้รางวัลเมื่อถึงเวลา ทั้งทางการเงิน และทางอื่น ความภาคภูมิใจในงาน และความจงรักภักดีต่อองค์กรเป็นสิ่งที่จะตามมา
อะไรบ้างคือตัวอย่างของวัฒนธรรมองค์กรที่ดีในเอเชีย? แม้ว่าเอเชียโดยส่วนใหญ่ไม่มีตราสินค้าที่โด่งดังเป็นของตนเอง แต่เอเชียก็ไม่ได้ขาดบริษัทดีที่น่าลงทุนที่จัดว่าเป็นบริษัทชั้นดีเยี่ยม มีบริษัทหนึ่งที่อเบอร์ดีนลงทุนถือหุ้นมานานกว่า 10 ปี ได้แก่ Housing Development Finance Corp ในอินเดีย ซึ่งเป็นบริษัทการเงินที่ให้สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอยู่ภายใต้การนำของบรรดาผู้จัดการอาวุโสที่มากความสามารถ ซึ่งโดยเฉลี่ยทำงานให้แก่ HDFC มานานกว่า 30 ปีแล้ว ซึ่งให้ความสำคัญอย่างหนักแน่นในการควบคุมต้นทุนที่ได้กลายมาเป็นการสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นมาอย่างสม่ำเสมอ
อีกหนึ่งบริษัทที่อเบอร์ดีนให้อันดับสูง ได้แก่ AIA Insurance ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้นของฮ่องกง ซึ่งได้แยกออกมาจากบริษัทแม่ AIG ที่ได้เกิดปัญหาในช่วงวิกฤตการเงินที่ผ่านมา แต่หน่วยธุรกิจในเอเชียไม่ได้เกิดปัญหาไปด้วย รูปแบบธุรกิจของ AIA อาศัยประสบการณ์ที่ยืนยงมานาน 80 ปีในเอเชีย ซึ่งมีทั้งการสร้างนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ การสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน และการบุกตลาดของบริษัท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขายประกันภัยผ่านตัวแทนที่ได้รับค่านายหน้า ซึ่งฝ่ายบริหารมีส่วนสร้างผลงานจากการบริหารจัดการทีมงานที่เป็นตัวแทน ซึ่งหมายถึงการคัดตัวแทนที่มีผลงานน้อยออก และให้รางวัลตัวแทนที่มีผลงานดี
ในเวลาที่ AIA เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงในปี 2553 ซึ่งอเบอร์ดีนไม่เคยซื้อหุ้นของบริษัทใดที่เปิดขายต่อสาธารณะก่อนเข้าตลาดหุ้นมาก่อน แต่เราซื้อหุ้นของ AIA ซึ่งเป็นกรณียกเว้นพิเศษ หลังจากนั้น ราคาหุ้นของ AIA ก็ได้ทะยานสูงขึ้นมาเรื่อยๆ จนมากกว่า 2 เท่า (ณ วันที่ 26 สิงหาคม 2558)
ติดตามตอนที่ 3 ในสัปดาห์หน้า