xs
xsm
sm
md
lg

ทองคำปิดบวก ดาวโจนส์ทะยาน น้ำมันร่วง หลังสต็อกน้ำมันดิบพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (7 ต.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อสัญญาทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ นอกจากนี้ สัญญาทองคำยังคงได้รับแรงหนุนจากรายงานที่ว่า ธนาคารกลางหลายแห่งเข้าซื้อทองคำไว้ในทุนสำรองเดือนส.ค.

สัญญาทองคำตลาดโคเม็กซ์ - COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค.เพิ่มขึ้น 2.30 ดอลลาร์ หรือ 0.20% ปิดที่ระดับ 1,148.70 ดอลลาร์/ออนซ์

นักลงทุนเข้าซื้อสัญญาทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจาก IMF ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้สู่ระดับ 3.1% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินในปี 2009 โดยลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับตัวเลขคาดการณ์ในเดือนก.ค.ที่ระดับ 3.3% และต่ำกว่าการขยายตัวในปีที่แล้วที่ 3.4%

IMF ยังออกรายงานเตือนว่า ความเสี่ยงใหญ่ที่สุดต่อเศรษฐกิจโลกขณะนี้อยู่ที่ตลาดเกิดใหม่ ซึ่งบริษัทเอกชนได้ก่อหนี้จำนวนมาก ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน

นอกจากนี้ สัญญาทองคำยังได้รับแรงหนุนหลังจากสภาทองคำโลกรายงานเมื่อวานนี้ว่า ธนาคารกลางหลายแห่งได้ซื้อทองคำรวม 47 ตันไว้ในทุนสำรองของประเทศในเดือนส.ค. หลังจากที่มีการซื้อทองคำ 62 ตันในเดือนก.ค.

ทั้งนี้ จีนและรัสเซียเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุด เนื่องจากธนาคารกลางของทั้ง 2 ประเทศต้องการกระจายทุนสำรองให้อยู่ในรูปทองคำเพิ่มขึ้น ขณะที่ลดการถือครองดอลลาร์

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (7 ต.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อหุ้นกลุ่มพลังงาน กลุ่มเหมืองแร่ และกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นนิวยอร์กยังได้รับแรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของตลาดหุ้นทั่วโลก ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาดูรายงานการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประจำวันที่ 16-17 ก.ย. ซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 16,912.29 จุด พุ่งขึ้น 122.10 จุด หรือ +0.73% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดที่ 1,995.83 จุด เพิ่มขึ้น 15.91 จุด หรือ +0.80% ดัชนีแนสแด็ก ปิดที่ 4,791.15 จุด เพิ่มขึ้น 42.79 จุด หรือ +0.90%

ตลาดหุ้นนิวยอร์กได้รับแรงหนุนจากการพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งของตลาดหุ้นทั่วโลก โดยเมื่อวานนี้ดัชนีฮังเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงปิดพุ่งขึ้นกว่า 3% ขานรับกระแสคาดการณ์ที่ว่าทางการจีนจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม หลังจากเศรษฐกิจชะลอตัวลง ขณะที่ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวปิดพุ่งขึ้นกว่า 130 จุด หลังจากที่ประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเพิ่มฐานเงินที่อัตรา 80 ล้านล้านเยนต่อปี ผ่านทางการซื้อสินทรัพย์ขนานใหญ่

นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากการดีดตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มเหมืองแร่ หลังจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับตัวขึ้น โดย หุ้นฟรีพอร์ท-แมคมอแรน พุ่งขึ้น 10% หุ้นนิวมอนท์ ไมนิง และหุ้นโมซาอิค ต่างก็ปรับตัวขึ้นอย่างน้อย 3.2% หุ้นทรานส์โอเชียน และหุ้นเมอร์ฟีย์ ออยล์ ต่างก็ปรับตัวขึ้นกว่า 2.8%

ส่วนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพปรับตัวขึ้นเช่นกัน โดยหุ้นเซลจีน คอร์ป และหุ้นแอมเจน อิงค์ ต่างก็พุ่งขึ้นกว่า 4.2%

นักลงทุนจับตาดูการรายงานผลประกอบการของบริษัทรายใหญ่ รวมถึง อัลโค อิงค์ซึ่งจะเปิดเผยผลประกอบการในวันนี้ ขณะที่จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน, อินเทล คอร์ป และเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค จะเปิดเผยผลประกอบการในสัปดาห์หน้า

สำนักข่าวซินหัวรายงานโดยอ้างผลสำรวจของธอมสัน รอยเตอร์ ว่า ผลประกอบการของบริษัทที่จดทะเบียนในดัชนี S&P500 มีแนวโน้มลดลง 4% ในไตรมาส 3 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาดูรายงานการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประจำวันที่ 16-17 ก.ย. ซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ รวมทั้งข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่จะมีการเปิดเผยในสัปดาห์นี้ รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์, ข้อมูลราคานำเข้าและส่งออกเดือนก.ย. และสต็อกสินค้าและยอดค้าส่งเดือนส.ค.

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (7 ต.ค.) หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้นมากเกินคาดในสัปดาห์ที่แล้ว นอกจากนี้ รายงานของ EIA ยังระบุว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ส่งมอบเดือนพ.ย. ลดลง 72 เซนต์ หรือ 1.5% ปิดที่ 47.81 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ ส่งมอบเดือนพ.ย. ลดลง 59 เซนต์ หรือ 1.1% ปิดที่ 51.33 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบอ่อนแรงลง หลังจาก EIA รายงานว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่แล้วเพิ่มขึ้น 3.1 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 461 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน และปรับตัวขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.5 ล้านบาร์เรล

ขณะที่สต็อกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 1.9 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล ลดลง 2.5 ล้านบาร์เรล ส่วนอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันลดลงสู่ระดับ 87.5%

นอกจากนี้ ข้อมูลของ EIA ยังระบุว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้น 76,000 บาร์เรล สู่ระดับ 9.172 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ทั้งนี้ EIA คาดการณ์ว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐโดยเฉลี่ยในปีนี้จะอยู่ที่ 9.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ 8.8 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2559
กำลังโหลดความคิดเห็น