xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ดร.เกษมสันต์ จิณณวาโส “ประชุมเวทีโลกร้อนใช้เงิน 2 ล้าน ไม่ใช่ผลาญงบ 20 ล้าน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ดร.เกษมสันต์ จิณณวาโส
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -จั่วหัวข่าวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผลาญงบ 20 ล้าน ยกโขยงประชุมเวทีโลกร้อน การประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 หรือ Cop 21 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 30 พ.ย. - 11 ธ.ค. 2558 ส่งผลให้กระทรวงแห่งนี้โดนติติงอย่างหนัก แม้ผู้ที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจ้งข้อเท็จจริงแล้วว่าใช้เงินเพียง 2 ล้านบาท ส่วน 20 ล้านบาท เป็นงบประมาณส่วนของกระทรวงการต่างประเทศในฐานะประธานกลุ่มจี 77

ประเด็นเผือกร้อนชนิดที่ว่าเจ้ากระทรวง พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการ ขอถอนตัวมอบหมายงานแทนหวังช่วยประหยัดงบแผ่นดิน

สัมภาษณ์พิเศษฉบับนี้ ได้ผู้นำทัพงานประชุม Cop 21 ดร.เกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาชี้แจงถึงประเด็นร้อนฉ่าที่สั่นสะเทือนกระทรวงแห่งนี้อย่างสาหัสสากรรจ์

หลังจากโดนประโคมข่าวกรณี ก.ทรัพย์ ผลาญงบประชุมโลกร้อน 20 ล้าน แม้จะไม่เป็นความจริงแต่กระทบกับภาพลักษณ์องค์กรไม่น้อยเลยทีเดียว

คนพาดหัวข่าว.. ผมอยากรู้ได้ประโยชน์อะไร? จรรยาบรรณมีหรือเปล่า? มันไม่ได้จรรโลงสมอง เป็นสิ่งที่คิดว่ามันไม่ถูก ไร้สาระครับ บางคนอ่านแต่พาดหัวไม่อ่านข้างใน พออ่านพาดหัวเสร็จก็ไป ผมดูจากในเฟซบุ๊กไทยรัฐออนไลน์คอมเม้นต์ด่ากันต่อกันเป็นแถวเลย แต่อย่างน้อยผมก็มีโอกาสชี้แจงสื่อ ปีนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ Cop 21 มี 10 กระทรวงเข้าร่วม ผมคิดยังไงค่าใช้จ่ายมันก็เยอะ คนหนึ่งเฉลี่ยประมาณ 1 แสนไม่เกิน ใช้เงิน 2 ล้าน ไม่ใช่ 20 ล้าน ถามว่าพวกนี้ไปไหนบ้าง ไม่ได้ไปเลยก็นอนจากโรงแรมตื่นเช้าไปประชุม กว่าจะกลับมาก็เที่ยงคืน เราจะเจอกันทุกเช้าช่วง morning break สรุปงานแต่ละวัน เสร็จแล้วก็ต่างคนต่างไปประชุมก็แยกไป ขณะนี้มีคนลงทะเบียน 20,000 คน ที่ประชุมกับโรงแรมที่เราจองมันไกลกันนะ อย่างที่ทราบกันว่าปารีสเองเจอสถานการณ์ก่อการร้าย เขาก็ต้องเพิ่มเรื่องความปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ของเรามีความกังวลบ้าง

ประเด็นภาวะโลกร้อนที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ ประเทศไทยภายใต้การดำเนินงานของ ก.ทรัพย์ มีบทบาทอย่างไร

Climate Change พอเราเริ่มอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ถูกบังคับ กับกลุ่มที่สมัครใจ ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่สมัครใจ เป็นการแสดงท่าทีของประเทศไทยว่าเราเห็นด้วยกับมาตรการตามตกลง อนุสัญญา ซึ่งไม่ใช่สัญญา หมายความว่าเป็นเรื่องที่แสดงให้กับประชาคมโลกเห็นว่าเราก็เป็นหนึ่งประเทศในสมาชิกของโลกจาก 134 ประเทศ ที่จะช่วยกันรณรงค์ไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องก๊าซเรือนกระจก หลังจากนั้นมาอนุสัญญาที่มีการทำมาก็มีการหารือแนวคิดจะอย่างไรให้มันลด ก็ไปเกิดการประชุมที่ ประเทศญี่ปุ่น พิธีสารเกียวโต ที่ปีนี้เป็นปีสุดท้ายจะหมดในปี 2015 ซึ่งบายน์ดิ่งแล้วจะลดอุณหภูมิลงกี่องศา โดยเฉลี่ยก็ประมาณ 2 องศาที่ตกลงกันไว้ ทำยังไงก็ได้ให้มันลงแต่ไม่ให้เพิ่ม หารือกันถึงแนวทางแก้ปัญหา เช่น น้ำทะเลสูงท่วมชายฝฝั่งทะเลแก้ปัญหาป้องกันอย่างไร ปลูกฝังให้ความรู้ความเข้าใจ และก็ทำให้เกิดการปรับตัวพร้อมการสร้างจิตสำนัก

การดำเนินงานของประเทศไทยทุกปีจะมีการประชุมย่อยเป็นเหมือนอนุกรรมการด้านต่างๆ การประชุมปีนึงก็จะมี 8- 9 ครั้ง เรียกว่า Back-to-Back (ประชุมในช่วงเวลาและสถานที่เดียวกัน) ประชุมเรื่องนี้แล้วก็ประชุมต่อ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง แต่คนเข้าไปประชุม ตาย! เพราะว่ามันต้องนั่งเฝ้าประชุมตั้งแต่ 9 โมง เลิก 4 ทุ่มบ้าง เที่ยงคืน ตี 1 ตี 2 วัน พอประชุมเสร็จมันต้องพิมพ์สรุปเพื่อติดตามประเด็น

ปีนี้เป็นการประชุมใหญ่ cop 21มี 200 กว่าประเทศเข้าร่วม ที่ได้มีการลงนามในอนุสัญญาพิธีสารมาแล้ว เราได้ทำอะไรกันบ้าง ยกตัวอย่างเช่น จากที่เรามีการศึกษาติดตามความพยายามของประเทศไทยในการลดก๊าซเรือนกระจก ที่ผ่านมาเราคำนวณจากภาคพลังงาน ลดได้จากภาคพลังงาน ภาคของเสีย ภาคเกษตรกรรม เราลดได้อย่างต่ำ 20 เปอร์เซ็นต์ และถ้าเราสามารถดำเนินการได้ครบถ้วนทุกมาตรการใน 20 เปอร์เซ็นต์นี้ จะสามารถลดได้สูงสุด 25 เปอร์เซ็นต์

จัดทำรายงานการดำเนินงานทุก 4 ปี กำหนดจากกรอบข้อตกลงในอนุสัญญาว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้างในเรื่องของการปรับตัวลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวในบริบทต่างๆ ของประเทศไทย และรายงานรอบ 2 ปีที่จะอธิบายลักษณะภูมิประเทศไทยเป็นอย่างไร โครงการการผลิตต่างๆ ภาคเกษตร อุตสาหกรรม ภาคของเสีย เรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้ เพื่อเป็นแนวทางกำหนดการแก้ปัญหา วิธีการตรวจวัดหรือการทำบัญชีลดก๊าซเรือนกระจกอย่างไร สำหรับรายงานฉบับแรกซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติพิจารณารายงานไปก็เห็นชอบ ซึ่งเรื่องของการตรวจสอบวิธีการติดตามประเมินผลเราได้รับความร่วมมือจากประเทศออสเตรเลียมาวางระบบ การทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกต่างๆ มันก็มีประเด็นสาระสำคัญ เราทำเสร็จเรียบร้อย และเป็นแนวทางที่แนะนำให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน ว่าเราพัฒนามาอย่างนี้แล้วเขาจะนำต้นแบบไปใช้บ้างจะทำอย่างไร ในเรื่องของการลดก๊าซเรือนกระจกประเทศไทยเราได้ทำกันมาค่อนข้างสัมฤทธิผลมากกว่าหลายๆ ประเทศ

ความคืบหน้าของปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าเป็นอย่างไรบ้าง

เป็นปฏิบัติการเพื่อบังคับใช้กฎหมายต่อพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกปลูกยางพารา จากการรวบรวมข้อมูลทั้งจากแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศและการเดินเท้าเข้าสำรวจในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ จนนำมาสู่การออกแผนปฏิบัติการทวงคืนผืนป่า เมื่อช่วงต้นปี 2558 รัฐบาลตั้งเป้าทวงคืนผืนป่า 600,000 ไร่ หลังพบมีการรุกป่าอนุรักษ์ปลูกยางเกือบทั้งประเทศ ซึ่งตามรายงานการป้องกันรักษาการบุกรุกพื้นที่ป่า / คุ้มครองสัตว์และพันธุ์พืช ระหว่าง 12ก.ย. 57 - 12 ก.ย. 58 พื้นที่ป่าที่มีการบุกรุกมีการดำเนินคดีกับผู้บุกรุกและคดีถึงที่สุดแล้ว 76,962 ไร่ (จากการป้องกันและปราบปรามการลักลอบบุกรุกพื้นที่ รวมทั้งสิ้น 106,706,272 ไร่)

ก่อนหน้านี้เราพบว่ามันมีปัญหาการบุกรุกทำลายป่าเยอะ มีการเข้าไปครอบครอง ยึดครอง แผ้วถางเผื่อที่จะเอาพื้นที่ป่าไม้มาทำประโยชน์ ทีนี้ เราพบว่าในหลายพื้นที่มีตั้งแต่เรื่องของการปลูกยางพาราขึ้นมา สมัยก่อนเราก็จะพบการปลูกยางพาราอยู่ในภาคใต้ ตอนหลังพอยางพารามีราคาดีมันก็ลาม มีการส่งเสริมต่างๆ คนก็แห่ปลูกเยอะไปหมด สิ่งที่เกิดขึ้นคือมันไปกระตุ้นซัพพลายไซต์ทำให้มีการผลิตยางพาราเพิ่มขึ้น เป็นตัวจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกในพื้นที่เกษตรกรรม หรือพื้นที่บุกเบิกแผ้วถาง

พอเป็นอย่างนี้ประกอบกับนโยบายทวงคืนผืนป่าที่มีการแผ้วถางมาก รัฐบาลประกาศเป็นนโยบาย ซึ่งการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เริ่มแรกจะมีปัญหาขลุกขลัก หลังจากที่มีการประชุมเรามีแนวทางดำเนินการทำอย่างนี้

เริ่มแรกนำภาพถ่ายทางอากาศหลายชั้นปีมาตรวจสอบ ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่าหลังจากดูภาพถ่ายทางอากาศ ลักษณะของการปลูกจะเป็นระเบียบเป็นแถวเป็นแนว จากการดูภาพถ่ายตอบได้ในเรื่องของชนิดพันธุ์ที่ปลูก ตอบได้ในเรื่องของแปลงว่าเป็นแปลงเล็กแปลงใหญ่ ตัวแปลงนี้เองจะไปตอบสนองในเรื่องผู้ถือครอง ซึ่งโดยปกติ ยางพาราต้องใช้เวลาปลูก 5 ปีกว่าจะกรีด เพราะฉะนั้น ถามว่าคนที่เป็นคนยากจนจริงๆ ถ้าปลูกยางวันนี้จะกินอะไรใน 5 ปี ข้างหน้า? เป็นภาพที่เราต้องเข้าใจ พอมีการตรวจสอบเสร็จ พบว่า 1. มีเจ้าของตัวจริง ซึ่งอาจจะทำตั้งแต่ขนาดเล็กไล่ขึ้นมา 2. เป็นผู้ถือครองแทน 3. เป็นนายทุน ตามกระบวนการที่ถูกต้องเมื่อตรวจสอบที่ดินแปลงข้อมูลพื้นฐานครบถ้วน สิ่งที่ต้องดำเนินการคือตรวจสอบกับผู้นำท้องถิ่นเพื่อเป็นการตรวจสอบข้อมูลว่า ที่ตรงนี้มันมีใครถือครองจริง หรือเป็นการบุกรุก หรือเป็นตัวแทนถือครองแทน

รัฐบาลตีกรอบแนวทางจัดการต้นยางพารารวมทั้งกลุ่มผู้รุกล้ำพื้นที่ป่าอย่างไร

สิ่งที่รัฐดำเนินการคือ ถ้าเราพบว่าเป็นยางบุกรุกและตรวจสอบพบว่าอายุต่ำกว่า 4 ปี เพราะ 1 - 4 ยังกรีดยางไมได้ต้องปีที่ 5 เราจะเอาออกตามกฎหมาย ในพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ ในความดูแลของกรมอุทยานฯ หรือกรมป่าไม้ ก็ใช้อำนาจตามมาตรา 22, 25 ในเรื่องของการรื้อถอน ทีนี้ กระบวนการไม่ใช่ตรวจพบรื้อถอนนะ พอตรวจพบต้องไปแจ้งความดำเนินคดี แจ้งให้ผู้ที่ถือครอบครองได้เข้าใจแสดงตนเป็นเจ้าของ ถ้าหาคนไม่ได้ก็แสดงว่าเป็นแปลงที่ไม่คนบุกรุกหาคนบุกรุกไม่ได้ เราจะติดประกาศตามระเบียบ30 และตัดฟันออก

ถ้าเป็นแปลงขนาดใหญ่ ยางอายุเกิน 5 ปี เราจะทำไปตัดสาง แนวสวนยางจะปลูกเป็นแนวตัดสาง 60 : 40 คงไว้ 40 เป็นแปลงยาวสลับ แปลงที่ตัดออกเราจะปลูกไม้ถิ่น ปลูกป่าทดแทน ส่วนของที่คงไว้เราจะทำการอนุญาตให้เกษตรกร คือคนยากจนในพื้นที่จริงๆ เข้ามาดำเนินการกรีดยาง เหมือนกับเข้ามาเก็บหาของป่า เป็นการอนุญาตตามกฎหมาย แต่ผู้ขออนุญาตไม่ใช่บุคคลนะ ต้องเป็นกลุ่มเกษตรกร นี่คือกรอบแนวทางที่ชัดเจน

เป็นนโยบายที่ต้องทำทั่วประเทศ แต่อาจจะขลุกขลักบ้างเพราะจะมีอิทธิพลท้องถิ่น นักการเมือง ข้าราชการ คนมีสตางค์ เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นมันก็เลยทำให้ภาพการผลักดันตามนโยบายมันเจออุปสรรค ซึ่งในส่วนนี้ระดับนโยบายมีการปรึกษาพูดคุยที่จะต้องพยายามทำความเข้าใจ ถ้าครบถ้วนตามขั้นตอนที่กล่าวมา เราจะแก้ปัญหาได้ เราเดินหน้าได้ เราจะแก้ปัญหาคนยากคนจนได้ด้วย สิ่งที่รัฐบาลคำนึงมากที่สุด ไม่อยากให้เข้าใจว่าการทวงคืนผืนป่าแล้วทำให้คนไม่มีที่ดินทำกิน เป็นที่ดินทิ้งมันไม่ใช่

แสดงว่ารัฐบาลมีมาตรการรองรับเกษตรกรในส่วนนี้แล้ว

สิ่งที่รัฐบาลนำมารองรับคือนโยบายเรื่องการจัดสรรที่ดินทำกิน มาดูว่าพื้นที่ที่มีการบุกรุกครอบครอง ทุกคนที่เข้าไปบุกรุกครอบครองเขาต้องการได้เอกสารสิทธิ ซึ่งการได้มาซึ่งเอกสารสิทธิสุดท้ายมันก็ไม่ยั้งยืน เพราะว่าเขาก็เอาเอกสารสิทธิไปจำนองธนาคารกู้เงินมา พอทำเกษตรล้มเหลวก็เป็นหนี้ธนาคาร ก็ไปกู้นอกระบบ สุดท้ายทรัพย์สินก็หลุดออกจากมือ บางรายเอาไปขาย พอเอาไปขายก็เกิดการเปลี่ยนมือ ผิดวัตถุประสงค์เพื่อการเกษตร

ทีนี้ นโยบายของรัฐบาลของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ระบุว่าให้เราจัดหาที่ดิน ซึ่งขณะนี้เราพยายามเร่งอย่างมาก เป้าหมายของรัฐบาล ปีที่ 1 คือมีที่อยู่แล้วประมาณ 150,000ไร่ ที่จะพยายามจะทำพร้อมๆ กันโดยตั้งอนุกรรมการชุดแรก ก.ทรัพย์ ฯ ตรวจสอบแนวเขตที่ดิน กรมป่าไม้ออกใบอนุญาตให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนำที่ดินไปจัดสรร โดยคำนึงว่าให้คนที่อยู่ในพื้นที่ก่อน เมื่อตรวจสอบแล้วมีที่ดินเหลือ อาจจะให้คนที่โยกย้ายจากที่อื่น โดยมีเงื่อนไขต้องทำเป็นกลุ่ม มีสิทธิในการเข้าทำประโยชน์แต่ไม่มีสิทธิในการเอาไปขาย เพราะเราต้องการให้คนยากจนมีที่ดินทำกิน

ประการต่อมา ท่านนายกฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งให้ไปทำแปลงกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร หรือพัฒนาแหล่งน้ำ ก็จะมีอนุกรรมการชุดที่ 2 ก.มหาดไทย เป็นฝ่ายเลขานุการ เนื่องจากงานที่ดินอยู่ในต่างจังหวัดจะมีอนุกรรมการจัดที่ดินระดับจังหวัดขึ้นมา โดยให้ผู้ว่าเป็นประธาน ที่นี้ท่านก็ต้องไปดูว่า ผู้ที่จะเข้ามาทำกินในพื้นที่ที่รัฐจัดไว้ทำประโยชน์นั้นถูกต้องไหม เป็นคนยากจนไหม มีอาชีพไหม เหล่านี้คือสิ่งคณะอนุกรรมการจังหวัดเป็นคนกลั่นกรอง จากนั้นมีอนุกรรมการชุดที่ 3 ในเรื่องของการพัฒนาอาชีพ บางพื้นที่อาจต้องมีการปรับปรุงเส้นทางเพื่อการเกษตร หรือเส้นทางขนส่งสินค้า ก็ให้ ก.เกษตรฯ หรือ ก.คมนาคม ดูแล แต่อยู่ในความรับผิดชอบของมหาดไทย แล้วให้ ก.เกษตรฯ ไปทำเรื่องของการส่งเสริมอาชีพ ก.เกษตร จะมีเมนูอาชีพให้ ดูตามศักยภาพความถนัด จะบอกว่าผลิตอย่างไร นำไปขายที่ไหน มีเกษตรอำเภอให้คำแนะนำ เหล่านี้ก็จะทำให้นโยบายการพัฒนาที่ดินแห่งชาติประสบความสำเร็จ

เมื่อเราพูดถึงนโยบายทวงคืนผืนป่าเราพูดเรื่องเดียวไม่ได้ เราต้องพูดทวงคืนผืนป่าควบคู่ไปกับการจัดที่ดินคู่กัน เพราะฉะนั้น การดำเนินงานตามนโยบายของรัฐดูแล้วขับเคลื่อนช้า ถูกดูแคลนว่าพอเปลี่ยนรัฐบาลก็เลิก! ไม่ครับ ไม่เลิก ทำไมไม่เลิก? เพราะท่านนายกฯ สั่งการให้ไปทำการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ถ้าทุกคนเห็นว่าแนวทางนี้ดี ในช่วงรัฐบาลนี้ก็ให้ทำไปเสร็จแล้วช่วงต่อรัฐบาลก็ปรับกฎหมายมาสานต่อแนวทางที่ผมกล่าวไป ซึ่งจะกลายเป็นหนึ่งในประเด็นคณะกรรมการปฏิรูปแห่งชาติ ที่ต้องไปดำเนินการต่อ

นโยบายของรัฐบาล เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ฯลฯ ซึ่งมีเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีกระแสวิจารณ์ถึงท่าที ก.ทรัพย์ ไม่ให้ความสำคัญทั้งที่มีผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน

ผมจะเล่าให้ฟัง โรงไฟฟ้าถ่านหินของเดิมมีอยู่แล้วไม่ได้สร้างใหม่ เดิมเป็นน้ำมันเตา ผลิตไฟฟ้าให้ จ.กระบี่และจังหวัดข้างเคียงใช้ พอน้ำมันแพงขึ้น แล้วปัญหามลพิษจากน้ำมันเตาเยอะ เราก็เปลี่ยนมาเป็นก๊าซธรรมชาติ ทีนี้ก๊าซก็จะหมดอ่าวไทย หมดจริงๆ นะ แล้วทำอย่างไร? ก็ต้องเปลี่ยนกลับมาเป็นถ่านหินที่เป็นเชื้อเพลิงสะอาด บิทูมินัส ผมอ่านข้อมูลหลายทาง คนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้าไม่มีใครคัดค้านเลย คนที่คัดค้านคือคนข้างนอก และก็มีพวกที่ทำธุรกิจเรือท่องเที่ยวต่างๆ ผมคิดว่า พวกนี้ประเด็นนี้คุยกันด้วยเหตุผลได้ อย่างคนไปเสนอทางเลือกอื่นๆ มันไม่ได้เหมาะ อย่างเช่น ทำเป็นแบบกังหันลม ตรงนั้นมีช่องลมไหม มีความเร็วลมอย่างสม่ำเสมอไหม ความเร็วลมไม่ต่ำกว่า 30 กม. ต่อ ชม. อย่างต่อเนื่องไหม?

เพราะฉะนั้นในการพิจารณาทางเลือกผมคิดว่าต้องดูความเหมาะสมต้องมาดูว่าทำไมคนรอบพื้นที่เขาไม่คัดค้าน คนที่ไปค้านคือคนข้างนอก บางคนก็ไม่เห็นด้วยแต่ก็เสนอทางออก แต่บางคนอ้าปากมาไม่เอาอย่างเดียว ก็ไม่แฟร์ สิ่งที่หลายคนเข้าใจ พอไปดูตัวเลขรวมว่าการผลิตไฟฟ้าสำรองเกินแต่ความเป็นจริงมันไม่ใช่ ถ้าดูในพื้นที่แต่ละแห่ง แล้วภาคใต้เกินไหม? ลองไปดูตัวเลขแถว จ.สงขลา ดีมานด์การใช้ไฟตอนเย็นๆ จะเริ่มขึ้น พอดึกๆ ขึ้นสูงอีก เพราะเป็นเมืองท่องเที่ยว พอเลยเวลามันก็ดร็อบ ดีมานด์มันเพิ่มอย่างนี้ตลอด ถ้าสำรองไม่มีมันก็เกิดผลกระทบ

จากประสบการณ์ทำงานทางด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อม มีประเด็นใดให้ความเป็นสนใจเป็นพิเศษไหม

ผมให้ความสำคัญทุกเรื่อง แต่ที่สำคัญที่สุดคือ คน หนึ่ง - ในฐานที่ผมเป็นเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ถ้าทุกคนเข้าใจเหมือนผมทุกเรื่องเหมือนที่ผมอธิบาย ที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงทวงคืนผืนป่าก็มีมุมมองแค่ซีกเดียว แต่ผมได้หมุนให้เห็นภาพรวมทั้งหมดเหมือนลูกโลก ผมอยากให้คนเข้าใจภาพ ถ้าเข้าใจในเรื่องปฏิบัติยิ่งดี สอง - คนที่เป็นคู่กรณี ถ้าทุกคนไม่แสวงหาประโยชน์ใส่ตน เอาแต่ได้ ปฏิบัติตามหน้าที่ รู้และเข้าใจ ไม่ใช่อ้างว่าบุกรุกป่าเพราะไม่มีจะมีกิน มีอาชีพอีกตั้งเยอะตั้งแยะ แต่ก็ไม่ได้โทษเขานะ ผมคิดว่าถ้าทุกคนเข้าใจและเดินตามกรอบนโยบายที่รัฐบาลวางไว้ในเรื่องด้านการจัดสรรที่ดินแห่งชาติมันก็จะเป็นประโยชน์ เพราะถ้าสิ่งที่รัฐบาลให้ได้ให้โอกาสแล้วเราใช้โอกาสนั้น เพื่อประโยชน์ในการทำมาหากินจริงๆ ผมคิดว่าระยะยาวทุกคนก็จะยืนอยู่ได้






กำลังโหลดความคิดเห็น