xs
xsm
sm
md
lg

สั่ง สธ.ทุกจังหวัดจัดระบบเตรียมพร้อม Bike for Dad

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปลัด สธ. สั่งสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเตรียมพร้อม 3 เรื่องด่วน จัดระบบบริการรองรับงาน “ปั่นเพื่อพ่อ” จัดทีมแพทย์ประจำจุดและเคลื่อนที่ เร่งกำหนดความรู้ ทักษะพฤติกรรมสุขภาพของ นร. แต่ละช่วงชั้น ป้องกันเจ็บป่วย ตามนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” กำชับรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุตลอดปี

วันนี้ (17 พ.ย.) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ว่า วันนี้ได้ชี้แจงให้ทราบถึง 3 เรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ คือ 1. การเตรียมพร้อมบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อรองรับกิจกรรม “ปั่นเพื่อพ่อ (Bike for Dad)” วันที่ 11 ธ.ค. 2558 ซึ่งมีประชาชนเข้าร่วม 607,909 คน ในต่างจังหวัดให้ นพ.สสจ. เป็นผู้บัญชาการ ส่วนใน กทม. ให้กรมการแพทย์ สธ. ร่วมกับทหาร ตำรวจ โรงพยาบาลรัฐ ทั้งในและนอกสังกัด รพ.เอกชน มูลนิธิต่าง ๆ และ กทม.  สำหรับการวางระบบบริการนั้น ให้โรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ระหว่างเส้นทางปั่น รองรับกรณีอุบัติเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน จัดทีมแพทย์ ประจำจุดที่วางแผนไว้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดเส้นทาง และจัดทีมแพทย์จักรยานเคลื่อนที่และรถพยาบาลฉุกเฉิน ตามขบวนเพื่อดูแลผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรม โดยกำชับให้ทุกจังหวัดเตรียมระบบสื่อสาร ระบบสั่งการให้พร้อมสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งขณะนี้ทั่วประเทศได้เตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี โดยซักซ้อมระบบล่วงหน้า 1 - 2 สัปดาห์

“ขอแนะนำผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมเตรียมความพร้อมก่อนปั่นควรดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรงที่สุด โดยเฉพาะประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ปั่นเป็นประจำ ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรพบแพทย์เพื่อประเมินสุขภาพก่อนเข้าร่วมกิจกรรม และขณะปั่นหากรู้สึกเหนื่อย เพลีย ให้หยุดพักทันที และแจ้งให้ทีมแพทย์ดูแลทันทีเพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ ไม่สร้างความเสี่ยงขณะปั่น คือ ไม่แซงหรือถ่ายรูปตนเอง” ปลัด สธ. กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวว่า 2. นโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ด้านสุขภาพ ได้ข้อให้บูรณาการทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดความรู้ ทักษะพฤติกรรมสุขภาพที่สำคัญในแต่ละช่วงชั้นเรียน นำไปกำหนดกิจกรรมให้สอดคล้องกับ ศธ. เพื่อลดการเจ็บป่วย การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้มีสุขภาพที่ดี เช่น ปัญหาไข้เลือดออก จะมีกิจกรรมให้ความรู้เรื่องโรค ให้นักเรียนสำรวจดัชนีลูกน้ำยุงลาย ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เป็นต้น โดยมีคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนนโยบาย ขับเคลื่อนการดำเนินงาน วิชาการ และติดตามกำกับประเมินผล ทั้งนี้ สิ่งที่ ศธ. ขอรับการสนับสนุน คือ คู่มือการทำงาน สื่อ แหล่งการเรียนรู้และวิทยากร

นพ.โสภณ กล่าวว่า และ 3. การรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุตลอดปี ให้ทุกจังหวัดวิเคราะห์ข้อมูลทางระบาดวิทยา หาจุดเสี่ยงจุดอันตรายในพื้นที่อย่างน้อยจังหวัดละ 5 จุด นำไปวางแผนแก้ไขปัญหาในพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยใช้กลยุทธ์ 5 ส. ได้แก่ 1. สารสนเทศ บูรณาการข้อมูลการบาดเจ็บและเสียชีวิต นำมาวิเคราะห์ให้ทราบสาเหตุ ปัจจัยเสี่ยงและพฤติกรรมเสี่ยง 2. สุดเสี่ยง ชี้จุดเสี่ยง จุดอันตรายที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลทางระบาดวิทยา 3. สหวิชาชีพ บูรณาการการทำงานร่วมกันทุกวิชาชีพ 4. สุดคุ้มใช้ทรัพยากรในพื้นที่ในการแก้ไขปัญหา และ 5. ส่วนร่วม ดำเนินงานโดยประชาชน ชุมชน และหน่วยงานในพื้นที่ โดยจะประเมินผลการดำเนินงานทุก 3 เดือน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น