xs
xsm
sm
md
lg

ต้านโลกร้อนวอน ครม.ทบทวนงบ ทส.20 ล้าน - ยกโขยงบินฝรั่งเศส-นโยบายปกป้องไม่ชัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้โพตส์ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์คัดค้าน ทส.-หน่วยงานเกี่ยวข้องยกโขยงกว่าร้อยชีวิตบินฝรั่งเศส ร่วมประชุมภาวะโลกร้อนครั้งที่ 21 ชี้ขัดนโยบายนายกฯ ที่ประกาศบนเวทียูเอ็น ใช้งบบังหน้าบินไร้ประโยชน์ ซัด รบ.ไม่มีความชัดเจนปกป้องปัญหาโลกร้อนที่แท้จริง ยกปัญหา “โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-ท่าเรือขนถ่านหิน” ตัวก่อโลกร้อน เผยคนในรัฐบาลเคยตำหนิตัวเลขเจ้าหน้าที่บิน 97 คน ก่อนลดเหลือ 81 คน ใช้งบ 20 ล้าน จับตาเข้า ครม.พรุ่งนี้

วันนี้ (16 พ.ย.) มีรายงานว่า นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวโดยออกแถลงการณ์คัดค้านกรณีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติให้ผู้บริหารและคณะทำงานกว่า 80 คนเดินทางไปร่วมประชุมโลกร้อนที่ประเทศฝรั่งเศสด้วยงบแผ่นดินกว่า 20 ล้านบาท

โดยมีใจความว่า สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนขอคัดค้านแผนงานดังกล่าว เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจของประเทศกำลังอยู่ในภาวะซบเซา อีกทั้งเป็นการขัดต่อนโยบายของรัฐบาลที่เคยประกาศไว้ในเวทีกระประชุมสหประชาชาติหรือ UN ในเรื่องเศรษฐกิจอย่างชัดแจ้ง

ที่สำคัญกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในคณะรัฐบาลยุคนี้ ไม่ได้แสดงออกถึงการให้ความสำคัญต่อการปกป้อง หรือควบคุมปัญหาที่เป็นสาเหตุของโลกร้อนเลย ตรงกันข้ามกลับดำเนินนโยบาย เอื้อประโยชน์และเห็นชอบโครงการที่นำไปสู่การก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนมากยิ่งขึ้น เช่น การส่งเสริมการใช้ถ่านหิน การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เทพา แม่เมาะ ฯลฯ รวมทั้งการอนุญาตให้ใช้ถ่านหินในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ การสร้างท่าเรือขนถ่ายถ่านหินมากมายหลายพื้นที่ เช่น ที่อำเภอนครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ที่บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา และที่ จ.สมุทรสาคร เป็นต้น

การยกโขยงกันไปฝรั่งเศสครั้งนี้จึงเป็นเพียงข้ออ้างบังหน้าในการเอางบประมาณและเวลาราชการไปเพื่อประโยชน์อย่างอื่น มากกว่าที่จะไปนำเนื้อหาสาระของการประชุมมาเพื่อประยุกต์ใช้กับบริบทของประเทศไทย ในเมื่อรัฐบาลมีโยบายที่ชัดแจ้งว่าเดินหน้าตรงข้ามกับเวทีโลกร้อนนานาชาติ การเอาผู้บริหารฝ่ายการเมืองและข้าราชการยกโขยงไปประชุมกว่า 80 คนจะเกิดประโยชน์อะไรต่อไปกับประเทศชาติ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ขอเรียนร้องมายังคณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้โปรดทบทวนแผนงานดังกล่าวเสีย ก่อนที่จะได้ชื่อว่ารัฐบาลปากกับการกระทำไม่ตรงกันเลย

มีรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 พ.ย.นี้ กระทรวงทรัพยากรฯ จะเสนอขออนุมัติกรอบท่าทีเจรจาของไทย ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 และการประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 11 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 30 พ.ย. - 11 ธ.ค. 2558 และองค์ประกอบคณะผู้แทนประเทศไทยที่จะเดินทางไปร่วมประชุม จำนวน 81 คน จาก 27 หน่วยงาน เช่น หน่วยงานหลักในการเจรจา อย่างกระทรวงทรัพยากรฯ มีข้าราชการจำนวน 32 คน เป็นผู้บริหารระดับสูงอีก 7 คน อาทิ นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ พล.อ.อรรถนพ ศิริศักดิ์ เลขานุการ รมว.ทรัพยากรฯ พล.ท.ธรณิศวร์ โรจนสุวรรณ และ พ.ต.หญิงภณิชชา ธีระเดชพงศ์ คณะทำงาน รมว.ทรัพยากรฯ เป็นต้น รวมเป็น 39 คน

ส่วนหน่วยงานอื่น เช่น กระทรวงการต่างประเทศ 10 คน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2 คน กระทรวงพลังงาน 4 คน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 1 คน กระทรวงสาธารณสุข 3 คน กระทรวงอุตสาหกรรม 3 คน ส่วนราชการอิสระ 3 คน เป็นต้น โดยมี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรฯ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศไทยเดินทางไปประชุมวันที่ 5-11 ธ.ค.

ทั้งนี้ แต่เดิมกระทรวงทรัพยากรฯ จะนำคณะไปร่วมประชุม ในครั้งนี้ถึง 97 คน แต่เมื่อมีการทักท้วงจากผู้ใหญ่ในรัฐบาล ทำให้มีการปรับลดจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมเหลือ 81 คน โดยตัดผู้แทนจากกรมป่าไม้ กรมทรัพยากรน้ำ กรมควบคุมมลพิษ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งออกไป แต่ก็ยังได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมากว่า จำนวนคนที่จะเดินทางเข้าร่วมประชุมมากเกินความจำเป็นและทำให้เสียงบประมาณจำนวนมาก เฉพาะค่าเดินทางไปกลับ ค่าที่พัก ค่าเบี้ยเลี้ยง ต้องใช้งบประมาณเกือบ 20 ล้านบาท

มีรายงานด้วยว่า นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ จะเดินทางไปร่วมประชุมวันที่ 5-10 ธ.ค.หรือมีเจ้าหน้าที่บางคนต้องเดินทางไปกลับถึง 4-5 รอบ เป็นต้น แต่เวลาจะเสนอให้ ครม.อนุมัติ จะต้องเสนอรายชื่อทั้งหมดพร้อมกัน โดยงบประมาณค่าใช้จ่าย แต่ละหน่วยงานเป็นผู้รับผิดชอบ โดยก่อนหน้านี้มีจำนวนคนที่จะเดินทางมากกว่านี้ แต่ตัดอออกไปจำนวนหนึ่ง

ขณะที่จะมีการประชุมองค์กรย่อยด้านการดำเนินงานสมัยที่ 43 เพราะประเทศไทยจะต้องเป็นประธานกลุ่ม 77 (G77) บวกจีน ต่อจากประเทศแอฟริกาใต้ เป็นการเจรจาและวางกรอบการทำงาน เพราะในปี 2559 จะมีการประชุมที่เกี่ยวเนื่องถึง 9 ครั้ง

การประชุมในครั้งนี้ ทางการฝรั่งเศสออกมายืนยันว่าการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 21 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส หรือซีโอพี 21 ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 11 ธันวาคม จะเป็นไปตามกำหนดเดิม

ขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนว่า นายกรัฐมนตรีไทยจะมีกำหนดการเดินทางไปร่วมประชุมครั้งนี้หรือไม่ หลังจากเมื่อ 5 ต.ค.ที่ผ่านมาอดีตทูตฝรั่งเศสได้มาเชิญนายกรัฐมนตรีของไทยเข้าร่วมการประชุมด้วย และยินดีที่ไทยได้ประกาศเป้าหมายการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ (Intended Nationally Determined Contributions - INDCs) แล้วในเว็บไซต์ของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change - UNFCCC)


พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรฯ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศไทยเดินทางไปประชุมวันที่ 5-11 ธ.ค.
กำลังโหลดความคิดเห็น