ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การปรับย้ายเป็นเหตุผลของตำรวจ ซึ่งมีเหตุผลของเขา จะเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม แต่อย่าไปคิดว่าทำเรื่องนี้เรื่องเดียวแล้วจะเก่งที่สุดในโลก เป็นซุปเปอร์แมน การจะไปจับทหารหรือใครผมไม่สนใจ จะใครก็จับไป จับพล.ท.กี่คนก็จับไป ผมไม่เดือดร้อน มีคนบอกว่าถูกเขียนขู่ฆ่า วันนี้ผมน่ากลัวกว่า ผมยังไม่กลัว ผมยังไม่ลาออก ทำความดีแล้วจะไปกลัวอะไร ถ้าคิดว่าไม่เป็นธรรมก็ร้องเรียนมา มันมีขั้นตอนของมันอยู่แล้ว ข้าราชการต้องเป็นแบบนั้น ไม่ใช่จะมาพูดผ่านสื่อ แต่ต้องระวังถ้าร้องไปแล้วเกิดข้อเท็จจริงมันไม่ใช่ ต้องโดนเบิ้ลสองเด้งอีก ต้องมั่นใจนะ อย่างที่บอกว่า คดีค้ามนุษย์ประกันตัวไม่ได้ ใหญ่โตจากไหนก็ไม่ให้ประกัน เห็นมีวิ่งเต้นกันเยอะ แต่ยืนยันไม่ให้ประกัน ไปสู้คดีกันมา”
คำสัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งมีในวันเดียวกันระหว่าง ศาลอาญาแผนกคดีค้ามนุษย์ นัดตรวจพยานหลักฐานตามพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง นายบรรจง ปองพล นายปัจจุบัน หรือโกโต้ง อังโชติพันธ์ อดีตนายกฯ อบจ.สตูล พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก กับพวกรวม 88 คน ในความผิด 16 ข้อหาตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พ.ร.บ.ป้องกันและปราปบรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2546 หลังจากโอนคดีจากศาลนาทวี มาพิจารณาคดีที่แผนกคดีค้ามนุษย์ของศาลอาญา กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา
แน่นอนว่า ท่าทีของนายกรัฐมนตรี ต่อประเด็นร้อนที่กำลังเกิดขึ้นนอกจากสังคมจะพอมองเห็นอะไรบางอย่างแล้ว พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์ ที่กำลังเป็นดาวเด่น “สีกากี” คงจะต้องปรับ รวมถึงประคับประคองอุปสรรคในช่วงนี้ผ่านพ้นไปให้ได้ เพราะปฏิกริยาของท่านนายกฯ ออกมาในลักษณะบวก หรือลบ วิญญูชนที่ได้ยินหรือได้อ่าน ย่อมพิจารณาลงความเห็นกันได้
ก่อนแสดงความเห็นคงต้องนำปัญหาการค้ามนุษย์ที่กระทบต่อประเทศไทย มาประกอบการเขียนพอสังเขป มีผู้รู้บอกว่า กฎหมายคุ้มครองเหยื่อค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ นอกจากใช้ช่วยเหลือมวลมนุษยชาติ เพื่อสร้างเครดิตแก่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาแล้ว ยังเป็นเครื่องมือเพื่อใช้เล่นงานกับประเทศเพื่อนบ้านที่สร้างปัญหาให้กับเขา กฎหมายดังกล่าว อนุมัติโดยรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อ ค.ศ.2000 ประเมินสถานการณ์และดำเนินการต่อต้านการค้ามนุษย์ทั่วโลก 188 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ที่ก่อการปฏิวัติยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 22 พ.ค.57
สหรัฐฯ จัดอันดับความรุนแรงขบวนการค้ามนุษย์ประเทศไทยให้เป็นอันดับ 3 ถือว่าต่ำสุด มีความรุนแรงของการค้ามนุษย์ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฏหมายสหรัฐฯ
ผลของการจัดอันดับดังกล่าว สหรัฐฯ รวมทั้งกลุ่มอียู หรือสหภาพยุโรป ซึ่งมีสมาชิก 28 ประเทศ และเป็นที่ทราบกันดีว่านี่คือตลาดการค้าที่มีมูลค่าส่งออกมาที่สุดของประเทศไทย เขาจึงใช้วิธีกีดกันทางการค้ามาเล่นงานรัฐบาลไทย
สินค้าที่ตกเป็นเป้าหมายได้รับผลกระทบอย่างหนักก็คือ อุตสาหกรรมประมง อาหารทะเล อาหารทะเลแช่แข็ง อาหารทะเลแปรรุป รวมไปถึงสิ่งทอ โดยสหรัฐฯและสหภาพยุโรปยกประเด็นการค้ามนุษย์มาตั้งเป็นกำแพง สร้างเงื่อนไข-ข้อรังเกียจ
ดูเหมือนว่ารัฐบาลไทยก็รู้ตัว และพยายามงัดมาตรการต่างๆ ออกมาแก้ไขเป็นการเฉพาะหน้าอย่างเร่งด่วน โดยหวังว่าเมื่อดำเนินการกวาดล้างขบวนการค้ามนุษย์อย่างจริงจังแล้ว ทั้งสหรัฐฯและอียู จะจัดอันดับความรุนแรงการค้ามนุษย์ในประเทศไทย ให้มีอันดับที่ดีขึ้น และเป็นกุญแจถอดสลักมาตรการกีดกันทางการค้า ซึ่งมีมูลค่าหลายแสนล้านบาท และเราได้เสียหายไปแล้วกว่า 2 แสนล้านบาท
วันที่ 27 ก.ค.58 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงรายงานการค้ามนุษย์ประจำปี 2558 คงอันดับประเทศไทยอยู่เทียร์ 3 อันเป็นกลุ่มที่มีสถานการณ์เลวร้ายติดต่อกันเป็นปีที่ 2 ซึ่งรายงานดังกล่าวมีขึ้นเพียงไม่กี่วัน หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ มีการจับกุมพลเรือน นักการเมืองท้องถิ่น คหบดี ทหาร ตำรวจ แต่สหรัฐฯ มองว่ายังล้มเหลว ไร้ความพยายามเป็นการทำงานแบบผักชีโรยหน้า สถานการณ์ย่ำแย่ เกี่ยวกับการค้ามนุษย์พี่ไทยจึงอยู่ในกลุ่มเดียวกับเกาหลีเหนือ ซิบบับเว อิหร่าน
ทั้งที่รัฐบาลไทยโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ และมีการกวาดล้างอย่างจริงจัง แต่ในสายตาฝรั่งมังค่ากลับมองเห็นความตั้งใจเป็น”ศูนย์” ไม่มีความหมายอะไรเลย
กลายเป็นพฤติกรรม “หน้าไหว้หลังหลอก” ซึ่งในตอนนั้นคนไทยส่วนหนึ่งของขึ้นกันเป็นแถว มีการด่าท่อกล่าวหาว่า มหาอำนาจรังแกประเทศเล็กๆ และพยายามแทรกแซงกิจการภายใน
ไล่เวลาคดีปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์โรฮิงญา ตั้งแต่เดือน พ.ค.58 มาจนถึงวันนี้ มีการจับผู้ต้องหา 153 ราย คดีดังกล่าวถูกโอนย้ายจากศาลนาทวี มายังศาลอาญาแผนกค้ามนุษย์ กรุงเทพฯ นั่นหมายความว่า ทุกฝ่ายเล็งเห็นอันตรายจากอิทธิพลมืดที่มองไม่เห็น แต่เกิดประเด็นของ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ หัวหน้าทีมสอบสวนฯตามที่ปรากฏเป็นข่าวถึงความไม่ชอบมาพากลต่างๆ เช่น มีการกลั่นแกล้งไม่ให้เจริญก้าวหน้าทางราชการ รวมไปถึงการย้ายไปยัง ศตช. พื้นที่อันตรายเหมือนกับต้องการ “ล็อกเป้า”ให้กับบุคคลกลุ่มหนึ่ง
มีการพาดพิงไปยัง พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ตท.16 หนึ่งในผู้ต้องหารายสำคัญ
รวมทั้งพฤติกรรมไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้าย พล.ต.ต.ปวีณ สิรินทร์ หัวหน้าทีมสอบสวน และนายตำรวจระดับรอง ผบก.อีก 4 นาย อันเป็นพนักงานสอบสวนที่ร่วมทำคดีซึ่งปรากฏต่อว่า รอง ผบก.ทั้ง 4 นาย ที่ร่วมเป็นร่วมตายกับการสอบสวนคดีระดับโลกนี้ กลับมีชะตากรรมเดียวกันคือ หมดโอกาสเติบโตตามสิทธิ์พึงมีพึงได้
ทุกรายละเอียดจึงกลับไปยังรายงานความรุนแรงการค้ามนุษย์ในประเทศไทยที่สหรัฐฯ ยังคงระดับเทียร์ 3 ไว้ให้ด้วยเหตุผล “ผักชีโรยหน้า “หรือ “ล้มเหลว ไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา”
สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่จะกลับไปหลอกหลอนรัฐบาล รวมทั้งคะแนนความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้นำ และเป็นคนกุมชะตาของประเทศแต่เพียงผู้เดียว
มิใช่เรื่องใครเก่งกว่าใคร ใครกล้ากว่าใคร !? รวมทั้งความเชื่อที่ว่า เมื่อทำความดีแล้วจะไปกลัวอะไร อย่าลืมว่า พล.ต.ต.ปวีณ เป็นเพียงข้าราชการดีที่กำลังเป็นลูกแกะในฝูงหมาป่า และอัยการสูงสุดประกาศต่อสาธารณะให้ทราบโดยทั่วแล้วว่า เขาคือพยานคนสำคัญ !?
ถามว่าหากพยานมีอันเป็นไป รุปคดีหรือการเอาผิดกับบรรดาผู้ต้องหาทั้งหลายจะเป็นอย่างไร
เอกสารกว่า 200,000 แผ่น ที่พนักงานสอบสวนรวบรวมมาให้กับคณะอัยการนั้นจำเป็นต้องมีผู้อธิบายขั้นตอนความเป็นมาต่างๆ ที่ต่อเนื่องและเกี่ยวข้องกัน ไม่มีใช่เรื่องของใครเก่ง หรือใครกล้ากว่ากัน อีกทั้งไม่ใช่เรื่องทำความดีแล้ว “ความดี” จะมาคุ้มให้รอดจากกระสุนปืน หรือการถูกลอบปองร้าย
หาไม่แล้วคดีนี้จะถูกโอนย้ายจากนาทวี มายังกรุงเทพมหานคร กันทำไม ถ้าไม่ใช่ห่วงในเรื่องของความปลอดภัย เป็นเรื่องไม่ประมาท ป้องกันไว้ก่อน มิใช่กล้าหรือกลัว ตามความคิดของท่านผู้นำ
อย่าว่าแต่พยานคนนั้นจะเป็นนายพลตำรวจเลย แม้แต่ประชาชนทั่วไป กฎหมายยังต้องให้ความคุ้มครองโดย พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ.2546 มีไว้ป้องกันพยานให้พ้นจากการถูกปองร้ายของผู้กระทำผิดที่มีอิทธิพล รัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้รัฐมีหน้าที่คุ้มครองพยาน และ ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน
จึงไม่ควรหลงประเด็น!?
เช่น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ออกมาให้ข่าวทำนองว่า ตำรวจทุกคนอยู่ตรงไหนก็ทำงานได้ หรือลักษณะไม่แคร์ไม่มีความเอื้ออาทร รวมทั้งใช้คำว่า “ทุรนทุราย” ล้วนแต่เป็นการบ่อนทำลายขวัญกำลังใจทั้งสิ้น
ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหอกคนสำคัญของการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ ที่ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ และขึ้นเวทียูเอ็น ยืนยันแข็งขันจะเดินหน้าอย่างจริงจัง แต่ในความเป็นจริง ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ กลับเกิดจากกลไกของรัฐ
โดยเฉพาะเรื่องราวของ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ จึงมองอื่นไปไม่ได้ นอกจากเป็นไปตามสายตาฝรั่ง คือขาดความจริงใจ “ผักชีโรยหน้า” หรือเดินไม่สุดซอย
อีกทั้งคำสัญญาของท่านผู้นำ ที่จะปกป้องดูแลข้าราชการที่ทุ่มเททำงาน เป็นจริงขนาดไหน ขอให้ย้อนกลับไปอ่านย่อหน้าแรก.