xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“อิออน” รุกแนวรบใหม่ ขยายอาณาจักร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -30 ปีของ “อิออนกรุ๊ป” ในสมรภูมิค้าปลีกไทยฝ่าวิกฤตหลายรอบ เริ่มจากแผนบุกธุรกิจศูนย์การค้า “สยามจัสโก้” ก่อนเจอศึกแข่งขันดุเดือดจนต้องพลิกโหมดเข้าสู่โมเดลซูเปอร์มาร์เก็ต “จัสโก้” โดน “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เสียเวลาฟื้นฟูกิจการหลายปี ที่สุดแปลงร่างเป็นบริษัท อิออน ไทยแลนด์ จำกัด

ล่าสุด ณ วันนี้ บริษัทแม่ประเทศญี่ปุ่นประกาศทุ่มเม็ดเงินเดินหน้าขยายอาณาจักรรอบใหม่ เพื่อเจาะธุรกิจค้าปลีกทุกรูปแบบตามแผน Vision 2020 ที่ตั้งเป้าเป็นผู้นำตลาดค้าปลีกในภูมิภาคเอเชีย( Asia’s No.1 Super-Regional Retailer) โดยวาง 4 ยุทธศาสตร์หลัก คือ เร่งขยายเข้าสู่ตลาดอาเซียน เจาะตลาดชุมชนเมือง จับกลุ่มเป้าหมายในยุคสังคมผู้สูงวัยที่มีกำลังซื้อสูงและเร่งขยายตลาดดิจิตอลตามเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค

ขณะเดียวกันอาณาจักรธุรกิจค้าปลีกอิออนใช้เวลามากกว่า 46 ปี ขยายเครือข่ายบริษัทลูกเกือบ 200 บริษัท ใน 3 ธุรกิจหลัก ครอบคลุมทั้งกลุ่มธุรกิจค้าปลีก กลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มธุรกิจเงินทุน-ประกันภัย

แต่ต้องถือว่า ธุรกิจค้าปลีกเป็นธุรกิจหลักและจุดเริ่มต้นสำคัญ ตั้งแต่ยุคที่ยังใช้ชื่อ ”จัสโก้ (JUSCO)” ก่อนมาประกาศเปลี่ยนชื่อใหม่ “อิออน(AEON)” เมื่อปี 2532 มีรูปแบบค้าปลีกครอบคลุมทุกเซกเมนต์ ทั้งศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ชอปปิ้งเซ็นเตอร์ คอมมูนิตี้มอลล์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ดิสเคานต์สโตร์ มินิซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านสเปเชียลตี้สโตร์ร้านขายยาและสินค้าสุขภาพ รวมถึงธุรกิจสินค้าเฮาส์แบรนด์และธุรกิจชอปปิ้งออนไลน์

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องอย่างสวนสนุก Molly Fantasy และโรงภาพยนตร์ รวมถึงการสร้างธุรกิจเงินทุนเข้าเสริมการจับจ่ายอย่างครบวงจร ทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล

ปัจจุบัน อิออนกรุ๊ปเข้ามาเปิดบริษัทในประเทศไทย 5 บริษัท ได้แก่ บริษัท อิออน ไทยแลนด์) จำกัด บริหารธุรกิจค้าปลีก บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ จำกัด (มหาชน) บริหารธุรกิจสินเชื่อและบัตรเครดิต

บริษัท อิออน อินชัวรันส์ เซอร์วิส ไทยแลนด์) จำกัด บริหารธุรกิจประกันภัย บริษัท เอซีเอส เซอร์วิสซิ่ง(ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินธุรกิจบริหารหนี้สิน หรือการติดตามเร่งรัดหนี้สิน และบริษัท เอซีเอส แคปปิตอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ดำเนินธุรกิจบริการรถเช่า

ทั้ง 5บริษัท ถือเป็นการปูทางสู่รูปแบบการจับจ่าย “One-stop Shopping” ในศูนย์การค้าหรือโครงการค้าปลีกแห่งหนึ่งที่มีทั้งร้านค้าจำหน่ายสินค้าหลากหลายชนิด บริการต่างๆ สิ่งบันเทิง สวนสนุก โรงภาพยนตร์ และบริการทางการเงินที่สะดวกรวดเร็ว

สเต็ปต่อไปหลังจากนี้ อิออนกรุ๊ปเตรียมนำธุรกิจเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น เพื่อใช้ไทยเป็นฐานการขยายธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านหรือตลาดอาเซียน โดยที่เห็นชัดเจนแล้วได้แก่ อิออนมอลล์ ซึ่งเป็นธุรกิจค้าปลีกแบบศูนย์การค้าขนาดใหญ่ อิออนซีเนม่า ธุรกิจโรงภาพยนตร์ระบบซีนีเพล็กซ์ และอิออนเพ็ท ซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวกับโรงพยาบาลสัตว์เลี้ยง

ส่วนธุรกิจค้าปลีก ซึ่งฝังรากลึกกว่า 3 ทศวรรษนั้น อิออน (ไทยแลนด์) วางแผนขยายธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ต “แม็กซ์แวลู” และมินิซูเปอร์มาร์เก็ต “แม็กซ์แวลู ทันใจ” ครบ 500 สาขาภายในปี 2020 หรือปี 2563 และเร่งศึกษาโมเดลค้าปลีกอื่นๆ ที่เหมาะกับตลาดไทย ล่าสุดเปิดตัวโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ “อิออน ศรีราชา” เมื่อวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิด NSC (Neighborhood Shopping Center) ซึ่งถือเป็นการหวนคืนสมรภูมิศูนย์การค้าขนาดใหญ่อีกครั้งหลังจากปิดตัวศูนย์การค้าจัสโก้มานานกว่า 20 ปี

มาซามิซึ อิคุตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิออน (ประเทศไทย) กล่าวว่า การเปิดตัวโครงการอิอน ศรีราชา ในประเทศไทยครั้งนี้เป็นรูปแบบการลงทุนโมเดลคอมมูนิตี้มอลล์นอกประเทศญี่ปุ่นเป็นแห่งแรกของโลก เพื่อรุกเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกอย่างเต็มที่ โดยตั้งเป้าขยายสาขาเพิ่มปีละ 1 แห่งในพื้นที่ที่มีกำลังซื้อสูงก่อนที่จะลงทุนดำเนินธุรกิจห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่เต็มรูปแบบ พร้อมๆ กับการเดินหน้าธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน อิออนเปิดแม็กซ์แวลูในไทยทั้งสิ้น 27สาขา และแม็กซ์แวลู ทันใจ 50 สาขา โดยปี 2558 วางสัดส่วนรายได้จะมาจากแม็กซ์แวลู 70% แม็กซ์แวลู ทันใจ 20% และอิออน ศรีราชา 10%

สำหรับ อิออน ศรีราชา อยู่ใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ใช้เงินลงทุน 300 ล้านบาท เนื้อที่ 7 ไร่ พื้นที่ใช้สอยรวม 10,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่ซูเปอร์มาร์เกต 2,500 ตร.ม. ร้านอาหารญี่ปุ่น 4,500 ตร.ม. ที่เหลือเป็นลานจอดรถ โดยชูจุดขาย “ชอปปิ้งเซ็นเตอร์ที่มีกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่น” เน้นการจำหน่ายสินค้าและร้านอาหารที่ส่งตรงจากประเทศญี่ปุ่น 20%

เช่น ร้าน Ringer Hut-Nagasaki Champon ที่มีสาขาในญี่ปุ่นและทั่วโลกกว่า 600 สาขา ร้าน Yakiniku จากโตเกียว ร้าน Tackle Berry จำหน่ายอุปกรณ์ตกปลาที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น รวมถึงแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นภายใต้การดำเนินงานของผู้ประกอบการไทย

อย่างไรก็ตาม การเลือกทำเลศรีราชาเปิดตัวคอมมูนิตี้แห่งแรกอาจดูห่างไกลจากการรับรู้ของลูกค้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เนื่องจากอิออนต้องการสร้างแบรนด์ “AEON” ให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มลูกค้า ซึ่งการเลือกทำเลที่มีชาวญี่ปุ่นจำนวนมากจะทำให้การสื่อสารขยายแบรนด์สู่คนไทยง่ายขึ้นและรวดเร็วขึ้น

ศรีราชาจึงถือเป็นทำเลที่มีศักยภาพสูง เนื่องจากอยู่ใกล้กับสวนอุตสาหกรรมที่มีชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่และทำงานจำนวนมาก มีชาวญี่ปุ่น และชาวไทยที่มีรายได้สูงอาศัยอยู่มากถึง 1,300 ครัวเรือน ถือเป็น “ลิตเติ้ลโตเกียว” แห่งหนึ่ง มีการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก ทั้งคอนโดมิเนียม เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ และที่พักอาศัยต่างๆ มากมาย ขณะที่บริเวณดังกล่าวมีคอมมูนิตี้มอลล์สไตล์ญี่ปุ่น “เจพาร์ค” ของกลุ่มสหพัฒน์เพียงแห่งเดียวและเปรียบเทียบกับเจพาร์คแล้ว อิออน ศรีราชา อยู่ในทำเลตัวเมืองมากกว่า

“บริษัทต้องการสร้างแบรนด์อิออนให้เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังเข้าใจและรับรู้แบรนด์อิออนเป็นเพียงผู้ประกอบการบัตรเครดิต ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา บริษัทติดตั้งป้ายแบรนด์อิออนคู่กับแม็กซ์แวลูและแม็กซ์แวลูทันใจ เพื่อสร้างการรับรู้ในกลุ่มลูกค้ามากขึ้น แต่ยังมีการเข้าใจผิดว่า อิออนซื้อกิจการแม็กซ์แวลู การเปิดตัวอิออนศรีราชาจึงเป็นแผนประกาศแบรนด์ค้าปลีกให้ชัดเจน” มาซามิซึ อิคุตะ กล่าว

ทั้งนี้ ตามแผนของอิออน การขยายสาขาคอมมูนิตี้มอลล์สาขา 2 ยังต้องพุ่งเป้าในต่างจังหวัด เมืองท่องเที่ยว เมืองที่มีคนญี่ปุ่นลงทุนตั้งโรงงานจำนวนมาก เช่น พัทยา ขอนแก่น เพื่อสร้างแบรนด์อย่างต่อเนื่อง ก่อนทยอยเปิดแนวรบรุกเข้าสู่เขตชานเมืองและเขตกรุงเทพฯ ซึ่งจะเริ่มจากโครงการขนาด 10,000-20,000 ตร.ม.ก่อนขยายเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่เต็มรูปแบบ พื้นที่มากกว่า 300,000 ตร.ม.

ส่วน “อิออนมอลล์” ซึ่งเป็นโครงการศูนย์การค้าปลีกขนาดใหญ่ภายใต้กลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ วางภาพการลงทุนระดับภูมิภาคในตลาดอาเซียน เพื่อขยายธุรกิจในตลาดเกิดใหม่ ทั้งจีน อินเดีย กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ลาว และพม่า โดยปักหมุดแห่งแรกในกัมพูชา ภายใต้แนวคิด “จากทั่วโลกสู่กัมพูชาและจากกัมพูชาสู่ ทั่วโลก (From the world to Cambodia and from Cambodia to the world)” พื้นที่ 100,000 ตารางเมตร แบ่งพื้นที่ 3 ส่วน คือ โซนร้านค้า 200 ร้าน โรงภาพยนตร์และท่าจอดเรือ

ร้านค้า ทั้ง 200 ร้านเป็นร้านค้าของญี่ปุ่น 30% ร้านค้าหรือธุรกิจจากต่าง ประเทศ 30% ที่เหลืออีก 40% เป็นร้านค้าของผู้ประกอบการและ ธุรกิจของชาวกัมพูชา

ภายในปี 2563 อิออนมอลล์คาดว่าจะเปิดห้างสรรพสินค้า 20 แห่งในฮานอย และ 14 แห่งในโฮจิมินห์ ส่วนจีนตั้งเป้าสูงถึง 100 สาขา เม็ดเงินลงทุนรวมกว่า 116,000 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทแม่ญี่ปุ่นประเมินจีดีพีของอาเซียนสามารถเติบโตถึง 22 ล้านล้านบาท และตลาดค้าปลีกใน เอเชียจะเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ส่วนประเทศไทยจะเป็นต้นแบบการทำธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตในอาเซียน เพื่อรองรับกับแผนขยายตลาดในอนาคต โดยปี 2559 เตรียมเงินลงทุน 1,500 ล้านบาท เน้นขยายสาขาซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็กแม็กซ์แวลูทันใจเพิ่มจาก 48 สาขา เป็น 100 สาขาทั่วประเทศ ซูเปอร์มาร์เก็ตแม็กซ์แวลูเพิ่มจาก 18 สาขา เป็น 20 สาขา และภายในปี 2563 จะมีสาขาในไทยครบ 500 สาขา แบ่งเป็น แม็กซ์แวลูทันใจ 400 สาขา และแม็กซ์แวลู 100 สาขา ซึ่งก่อนหน้านี้ อิออน กรุ๊ป ได้ลงทุนธุรกิจค้าปลีกอาเซียนเกือบ 50,000 ล้านบาท ทั้งห้างอิออน ซูเปอร์มาร์เก็ต แม็กซ์แวลู กลุ่มสถาบันการเงินอิออน และเพิ่งซื้อกิจการ “คาร์ฟูร์” ในมาเลเซีย

ที่สำคัญ แผนขยายอาณาจักรรอบนี้ยกมาทั้งกระบวนทัพ ทุกกลุ่มธุรกิจ พร้อมเงินทุนเต็มหน้าตัก เฉพาะปีที่ผ่านมา อิออนกรุ๊ปสามารถสร้างรายได้มากกว่า 2 ล้านล้านบาท ไม่ใช่อดีต “จัสโก้” เมื่อ 30 ปีก่อน แต่เป็น “คู่แข่ง” ที่ทุนค้าปลีกไทยต้องเตรียมรับมืออย่างน่าระทึกใจด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น