ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ภารกิจในการเข้ามาสางปัญหาความเน่าเฟะของ “รัฐวิสาหกิจ” ที่ย่ำแย่ บริหารขาดประสิทธิภาพ ผลประกอบการขาดทุนบักโกรกมาอย่างต่อเนื่อง ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) งวดเข้ามาทุกขณะถึงระดับที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ ซูเปอร์บอร์ด ลั่นวาจาสิทธิ์ขีดเส้นแจกใบเหลืองและใบแดงกันแล้ว
ถ้าหาก พล.อ.ประยุทธ์ เอาจริงดังว่า คงจะเห็นชะตาอนาคตของ 7 รัฐวิสาหกิจใหญ่ จะอยู่หรือไปในไม่ช้านี้ เพราะเมื่อวันที่9 พฤศจิกายน2558 พล.อ.ประยุทธ์ นั่งหัวโต๊ะประชุม คนร.ได้ขีดเส้นไว้แล้วว่าจะให้ใบแดงรัฐวิสาหกิจยอดแย่เข็นไม่ไปภายในเดือนมีนาคม ปี 2559 แต่จะมีการเตือนครั้งสุดท้ายด้วยใบเหลืองในเดือนธันวาคมนี้ ให้เตรียมตัวเก็บข้าวของกันล่วงหน้าก่อนทั้งผู้บริหารและพนักงานซึ่งต้องแสดงความรับผิดชอบต่อความไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานจนขาดทุนบยับเยิน
“คนร.ได้กำชับให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 7 แห่ง ดำเนินการตามแผนแก้ไขปัญหาองค์กรให้เห็นเป็นรูปธรรม โดย คนร.จะประเมินผลดำเนินงาน2 ระยะคือ สิ้นเดือนธันวาคม 58 จะให้ใบเหลือง และสิ้นเดือนมีนาคม 59 จะให้ใบแดง โทษของใบแดง คงต้องให้ คนร.พิจารณาหลังเดือนมีนาคม 59ทุกคนต้องร่วมรับผิดชอบทั้งพนักงาน ผู้บริหารระดับสูง กรรมการ กรรมการผู้จัดการ.....” นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงผลการประชุมในวันดังกล่าว
อย่างที่รู้กันว่า หลังจากยึดอำนาจ คสช.ได้ตั้ง “ซูเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจ” และคณะอนุกรรมการ3 ชุด เข้ามาสะสางปัญหาและวางยุทธศาสตร์สังคายนารัฐวิสาหกิจใหม่ ด้วยว่ารัฐวิสาหกิจคือขุมทรัพย์ของชาติโดยมูลค่าทรัพย์สินในการถือครองของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งหมด 58 แห่งนั้น มหาศาลถึง 6.6 ล้านล้านบาท สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำมากถึงปีละ 2.7 ล้านล้านบาท ทำกำไรสุทธิ ปีละ 2.3แสนล้านบาท ซึ่งเป็นแหล่งเม็ดเงินที่นำส่งเข้าคลังเป็นรายได้ของประเทศและลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ
การสังคายนารัฐวิสาหกิจตามวาระเร่งด่วนของ คนร. ก็คือ ผ่าตัดใหญ่ 7รัฐวิสาหกิจ ที่อยู่ในอาการโคม่าต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว คือ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (IBANK), บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน), การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.), องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.), ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.), บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ซึ่ง คนร.ให้ไปทำแผนมาแล้วติดตามผลเป็นระยะๆ กระทั่งล่าสุด การประชุม คนร.เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
เมื่อ คนร.ตรวจการบ้านแล้วดูเหมือนจะมีเพียงแต่ ธพว. เท่านั้นที่เอาตัวรอดผ่านไปได้ ขณะที่รายอื่นๆ ยังลูกผีลูกคน โดยเฉพาะการบินไทย อ่วมอรทัยและมีอาการน่าเป็นห่วงที่สุด
สำหรับความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาในภาพรวมของรัฐวิสาหกิจทั้ง7 แห่ง ตามที่ คนร. สั่งให้ไปดำเนินการ มีดังนี้
1.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ธอท.) หรือ (IBANK) มีมติให้หาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญดำเนินธุรกิจธนาคารตามหลักชารีอะฮ์เข้ามาร่วมลงทุน เพื่อบริหารจัดการองค์กรอย่างมืออาชีพและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยให้กระทรวงการคลัง ถือหุ้นต่อไป ส่วนการบริหารหนี้ด้อยคุณภาพให้โอนไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์(AMC) ที่จัดตั้งโดยกระทรวงการคลัง และให้รายงานความคืบหน้าให้ คนร.ทราบภายใน 2 เดือน
“ไอแบงค์ ใครๆ ก็ใช้ได้” มีปัญหาถึงระดับที่เรียกว่าหนักหนาสาหัสไม่น้อย และยังมีความเสี่ยงต่อเนื่องถึงอนาคต ซึ่งปัญหาใหญ่ของไอแบงก์ก็คือ ปัญหาหนี้เสีย หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
รายงานของสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ระบุข้อมูล ณ วันที่ 31มีนาคม 2558 ไอแบงก์มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ(Non Performing Financing: NPFs) อยู่ที่ 57,000 ล้านบาท เปรียบเทียบกับ ณ สิ้นปี 2557 มียอดสุทธิอยู่ที่ 47,878 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9,122 ล้านบาท ขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้างปรับตัวลดลง 4,641 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ยอดปรับตัวสูงขึ้นจาก 43.56% เป็น 54.16%ของสินเชื่อคงค้าง
หากไปดูงบการเงินของ ธอท. ที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ยังพบว่า ธนาคารยังมีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต กรณีลูกค้าไม่ปฏิบัติตามสัญญาผูกพัน อาทิ การรับอาวัลตั๋วเงิน, ภาระตามตั๋วแลกเงินค่าสินค้าเข้าที่ยังไม่ครบกำหนด, L/C และภาระผูกพันอื่นๆ คิดเป็นวงเงินรวมอีก 7,515ล้านบาท ณ สิ้นปี 2557 ธอท. ได้ตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญไปแล้ว 25,329ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 53% ของหนี้ด้อยคุณภาพ ทำให้สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงติดลบ13.23%ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานและกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย2547 ที่กำหนดให้ธนาคารต้องดำรงสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงไม่น้อยกว่า8.5%
เวลานี้ คนร.ให้โอนหนี้เสียของไอแบงก์ไปให้ AMC บริหารจัดการ แต่ดูงบการเงินของไอแบงก์ตามที่สตง.ว่าแล้วปัญหาคงไม่หยุดอยู่เพียงแค่นั้น ความเสียหายนี้ไม่ได้จำกัดวงเฉพาะไอแบงก์แต่ยังลามไปถึงผู้ถือหุ้นใหญ่ซึ่งมีอยู่ 3 ราย คือ กระทรวงการคลัง (48.54%),ธนาคารออมสิน (39.81%)และธนาคารกรุงไทย (9.83%) ซึ่งรายหลังนี้จดทะเบียนในตลาดหุ้นด้วย
หนี้เน่าของไอแบงก์พุ่งกระฉูดขนาดนี้เกิดขึ้นในยุคสมัยของรัฐบาลใด ใครเป็นผู้บริหาร ใครเป็นผู้อนุมัติสินเชื่อจนทำให้เกิดความเสียหาย โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้ที่ปิดกิจการหนีไม่ให้ความร่วมมือกับแบงก์ในการแก้ปัญหาหนี้ที่มีวงเงินหนี้เน่าร่วมหมื่นกว่าล้านบาท ต้องลากคอมารับผิดชอบให้เป็นเยี่ยงอย่าง อย่าเอาเรื่องศาสนามาเป็นข้ออ้างบังหน้าเพราะว่ากันว่าหนี้เน่าส่วนใหญ่ไม่ใช่ลูกหนี้ที่เป็นมุสลิม เรื่องนี้ คสช.ต้องล้วงลึกเข้าไปดูว่าใช่เป็นหนี้เน่าที่มาจากใบสั่งปล่อยกู้ของนักการเมืองหรือไม่ต้องขยายผล หากต้องการหยุดเลือดให้ได้
2.บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) คนร. ได้รับทราบแผนการแก้ไขปัญหาระยะสั้นตามที่บริษัทเสนอ โดยจะเพิ่มรายได้ 1,428 ล้านบาท ลดค่าใช้จ่ายได้ 1,560 ล้านบาท รวม 3,000 ล้านบาท ซึ่งต้องทำให้ได้ภายในเดือนธันวาคมปีนี้ รวมทั้งมาตรการลดค่าใช้ที่ไม่จำเป็น ปรับลดพนักงานให้เหมาะสมกับภารกิจ
การบินไทย เคยได้ชื่อว่าเป็นรัฐวิสาหกิจชั้นดีของไทยและเป็นสายการบินระดับโลกที่ประเทศไทยภาคภูมิใจ แต่เมื่ออุตสาหกรรมการบินของโลกมีการแข่งขันสูงในทุกด้าน การบินไทยก็ไม่สามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้เกิดปัญหาขาดทุนสะสมต่อเนื่องจนเกิดภาวะวิกฤต ติด 1 ใน 7 รัฐวิสาหกิจยอดแย่ที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน โดยล่าสุด นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2558 (มกราคม - กันยายน) ว่า บริษัทขาดทุนรวมสุทธิ 18,100 ล้านบาท จากรายได้ที่ได้ทั้งหมด 137,000 ล้านบาท
การขาดทุนของการบินไทย ทำให้บอร์ดบริษัทฯ มีมติเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีมติปรับลดเงินเดือนระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่จำนวน 8 คน ลง 10% ในเดือนที่ผลประกอบการติดลบ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้ถึงสิ้นปี 2559 ส่วนการลดพนักงานนั้น คาดว่าในสิ้นปีจะลดได้ 1,200 คน ขณะที่ผลประกอบการในปี 2557 ขาดทุน 15,573 ล้านบาท มากกว่าปี 2556 ซึ่งขาดทุนราว 12,000 ล้านบาท โดยหวังว่าแผนปฏิรูปใช้ระยะเวลา 2 ปี คือตั้งแต่ปี 2558-2559 บริษัทจะกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง
คนร.ได้เร่งรัดให้การบินไทย เดินหน้าแก้ไขปัญหาตามมาตรการเร่งด่วนเพื่อเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่ายรวมกันประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยการปรับปรุงเส้นทางบินและเที่ยวบิน การจัดเครื่องบินให้เหมาะสมกับเส้นทางบิน รวมทั้งบริหารจัดการทรัพย์สินให้มีความคุ้มค่าทางธุรกิจมากขึ้น ควบคู่ไปกับการลดค่าใช้จ่าย
นอกจากนั้น คนร.ยังให้ชะลอแผนลงทุนที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน รวมถึงปรับลดค่าใช้จ่ายในการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ปรับลดค่าใช้จ่ายทำงานล่วงเวลา ปรับลดเงินบริจาค สนับสนุนและช่วยเหลือแก่องค์กรต่างๆ และปรับปรุงการจัดซื้อจัดจ้างให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยให้การบินไทยเสนอแผนที่ปรับปรุงแก้ไขแล้วต่อกระทรวงคมนาคม ภายในเดือนพฤศจิกายน 2558 และเริ่มดำเนินการตามแผนภายในเดือนธันวาคม 2558
สำหรับแผนปฏิรูปการบินไทย จะมีขั้นตอนฟื้นฟู 3 ขั้นตอนหลัก และ 6 แผนการดำเนินการ โดย 3 ขั้นตอนหลักประกอบด้วย 3 S คือ S ที่ 1 Stop the bleeding เพื่อหยุดการขาดทุนให้ได้ S ที่ 2 คือ Strength Buildingการสร้างความแข็งแกร่งในการแข่งขันหรือขั้นตอนการปรับปรุงประสิทธิภาพในการหารายได้ให้มากขึ้น และ S ที่ 3 คือ Sustainable Growth ให้เติบโตอย่างมีกำไรในระยะยาว
ส่วน 6 แผนดำเนินการปฏิรูป ประกอบด้วย 1.ปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางการบินโดยยกเลิกเส้นทางบินที่ขาดทุนที่ไม่สามารถเยียวยาได้ รวมทั้งลดความถี่หรือเปลี่ยนขนาดเครื่องบินให้เหมาะสมในเส้นทางที่จำเป็นต้องบินต่อ 2.ปรับปรุงฝูงบินใหม่ ลดจำนวนและแบบของเครื่องบินลงให้เหมาะสมกับการบริการ 3.เร่งเพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้เพิ่มขึ้น 4.การปรับปรุงการปฏิบัติการ และต้นทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพตามมาตรฐานสากล 5. การปรับปรุงโครงสร้างองค์กร และ 6.การจัดกลุ่มธุรกิจของบริษัทอย่างเป็นระบบ
3.การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) มีมติให้จัดทำแผนการพัฒนาที่ดินที่ไม่ใช้ในการเดินรถและจัดส่งข้อมูลที่ดินให้ คนร.ในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อพลิกสถานะจากขาดทุนมาเป็นรายได้ให้ได้ และยังให้จัดหาที่ดินของการรถไฟฯ ในกรุงเทพฯและปริมณฑลมาให้ประชาชนใช้ประโยชน์ เช่น ทำตลาด เพื่อส่งเสริมผู้มีรายได้น้อย และเห็นชอบให้ รฟท.จัดหาเอกชนมาร่วมทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง และแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ แทนที่หน่วยงานรัฐเพื่อลดค่าใช้จ่ายภาครัฐ
กรณีของ รฟท. นั้น ถือเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีผลขาดทุนสะสมมากที่สุดทะลุหลักแสนล้านบาทเมื่อปี 2557 ปัญหานี้ต่างรู้กันดีและมีแนวทางชัดเจนว่าต้องเอาแลนด์แบงก์หรือที่ดินของรฟท.ที่มีอยู่ทั่วประเทศ รวมทั้งทำเลทองในกรุงเทพฯและปริมณฑลมาพัฒนาหาประโยชน์โดยเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุน และปรับค่าเช่าที่ทำเลทองให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง แต่แผนก็ยังเป็นแต่เพียงแผนในวิมานอากาศ
ความจริงแล้ว “เศรษฐีที่ดิน” อย่างรฟท.น่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจที่ทำรายได้ให้ประเทศไม่น้อยหน้ารัฐวิสาหกิจอื่น เพราะกรุที่ดินของ รฟท.นั้นมีมากถึง 234,976 ไร่ รวมราคาประเมิน ณ ปี 2553มีมูลค่า 377,355 ล้านบาท โดยที่ดินที่ไม่ใช้ในการเดินรถ มีอยู่ 36,302 ไร่ และมีทำเลทองผืนใหญ่ในเขตกรุงเทพฯ เช่น สถานีแม่น้ำ, ย่านพหลโยธิน, พื้นที่กม. 11 และย่านรัชดาภิเษก ที่พร้อมนำมาพัฒนาต่อยอดในเชิงธุรกิจได้เป็นอย่างดี ซึ่งแผนพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวนี้ รฟท.ก็บอกว่ามีอยู่แล้วนอนรอในแฟ้มในชาติหนึ่งแล้ว แต่ยังทำคลอดไม่ได้สักที การรถไฟฯ จึงยังคงสถานะขาดทุนไม่มีที่สิ้นสุดแม้ว่าจะเปลี่ยนผู้บริหารไปหลายคนแล้วก็ตาม
ดังนั้น แผนของ รฟท.จะพลิกสถานะจากขาดทุนเป็นเสมอตัวและทำรายได้เข้าประเทศได้หรือไม่ คงต้องพึ่งมีด “หมอตู่” ผ่าตัดใหญ่ เอาเนื้อร้ายออก ให้รฟท.หายจากอาการป่วยเรื้อรังและกลับมาเข้มแข็งให้ได้เสียที
4.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) คนร.เร่งรัดให้ ขสมก. จัดทำแผนเพิ่มรายได้ และลดค่าใช้จ่าย ที่ดำเนินการได้เองทันที เสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาก่อนส่งให้ คนร. เดือนพฤศจิกายนนี้เช่นเดียวกัน ส่วนเรื่องการซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คน ที่ค้างอยู่ก็ให้รีบสรุปจะเอาหรือไม่ รวมทั้งทบทวนแผนจัดซื้อรถโดยสารทั้งประเภทและจำนวนให้เหมาะสมโดยเร็ว
5.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) เรียกได้ว่า เป็นรัฐวิสาหกิจ 1 ใน 7 เพียงแห่งเดียวที่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย
6 .และ 7. คือ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) คนร.รับทราบความคืบหน้าดำเนินการตามแผนการแก้ปัญหาของทั้ง 2 แห่ง โดยให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)กำกับและติดตามการแก้ไขปัญหาของทั้ง 2 แห่ง รวมทั้งการใช้ประโยชน์ทรัพย์สิน และแก้ไขข้อพิพาทโดยสั่งการให้รีบหาข้อยุติเรื่องเสาโทรคมนาคมกับเอกชน รวมทั้งกำหนดทิศทางขององค์กรให้สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล
รอลุ้นกันต่อไปว่ารัฐวิสาหกิจไหนจะเจอใบเหลืองฉลองส่งท้ายปีในเดือนธันวาคมนี้ และจะเจอใบแดงในเดือนมีนาคมปีหน้าหรือไม่ เพราะเท่าที่ดูๆ แล้ว นอกจากแบงก์เอสเอ็มอีแล้ว รายอื่นๆ ล้วนแต่อาการน่าเป็นห่วงทั้งนั้น