xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ควักงบ 7 พันล้านลดพนักงาน สัญญาณหายนะ”การบินไทย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประกาศแผนลดจำนวนพนักงาน 1,401 คนและ นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย ยืนยันชัดเจนว่าเป็นเรื่องจริง โดยบริษัทฯมีแผนการปรับลดจำนวนพนักงาน ซึ่งในปีนี้เป็นการลดตาม โครงการเกษียณอายุโดยสมัครใจหรือ “ลาออกโดยสมัครใจ”

โดยมุ่งไปที่พนักงาน 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่เกี่ยวข้องจากการยกเลิกหรือลดเที่ยวบิน, กลุ่มอัตรากำลังที่เกินหลังจากปรับโครงสร้าง , กลุ่มพนักงานตั้งแต่ระดับ 7 ขึ้นไปและอายุ 50 ปีขึ้นไป

สำหรับตัวเลขออกมาที่ 1,401 คนนั้นเป็นผู้สมัครใจเข้าโครงการทั้งหมด โดยจะได้รับค่าตอบแทนที่ 30 บวก 10 เดือนใช้งบทั้งสิ้น 5,300 ล้านบาท และในปี 2559 ตั้งงบสำหรับการ “ลาออกโดยสมัครใจ”อีก 2,000 ล้านบาท โดยจะต้องรอการปรับโครงสร้างงานอีกครั้ง จึงจะทราบจำนวนพนักงานที่เหมาะสมในแต่ละส่วน และจะทำให้ทราบถึงจำนวนพนักงานที่ขาดและเกินของแต่ละส่วนงาน

ดีดีการบินไทย ระบุว่า ตามแผนปฏิรูปองค์กรมุ่งไปที่การลดค่าใช้จ่าย ซึ่งจะต้องดูทุกเรื่อง ทุกมิติ เพราะถือว่าค่าใช้จ่ายที่เกินความจำเป็น เป็นการสูญเปล่า โดยมีเป้าในการลดต้นทุนลงปีละ 20,000 ล้านบาท ส่วนการลดจำนวนพนักงานนั้น จะสอดคล้องกับการลดกำลังการผลิต ยกเลิกเส้นทาง ลดเที่ยวบิน ทุกอย่างต้องเชื่อมโยงกัน ซึ่งในตารางบินฤดูหนาว 2015/2016 เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป บริษัทมีการยกเลิกเส้นทางบิน กรุงเทพฯ - โซล - ลอสแองเจลิส, และ กรุงเทพฯ - โรม

นอกจากนี้ ยังมีการลดเที่ยวบินในบางเส้นทาง มีการเปลี่ยนขนาดเครื่องบินในบางเส้นทาง ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพตลาด ความต้องการของลูกค้า และบางเส้นทางยกเลิกไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่นลอนดอนเพราะ SLOT แน่นมาก ถอนออกแล้วจะกลับไปใหม่ไม่ได้ ดังนั้นต้องบินต่อไป โดยไปเน้นเรื่องขายตั๋วให้มากขึ้น

นายจรัมพรกล่าวว่า การปฏิรูปองค์กร จะเห็นผลชัดเจนใน 2 ปี ขาดทุนจะลดลงแน่นอน เพราะการยกเลิกเส้นทางที่ขาดทุน เท่ากับค่าใช้จ่ายด้านน้ำมัน ลดลง ค่าเช่าสำนักงานลดลง เป็นต้น และปี 2560 การบินไทยจะกลับสู่ภาวะที่มีความแข็งแกร่งมากขึ้น รายได้จะกลับมาเพิ่มขึ้น

แน่นอน วันนี้อาจจะยังเห็นภาพไม่ชัดแม้ว่ายอดขายจำนวนที่นั่งจะเพิ่มขึ้น แต่รายได้ไม่เข้าเป้า เพราะการแข่งขันทางราคาสูง การบินไทยต้องมีโปรโมชั่นแรงๆ เพื่อดึงดูด

ขณะที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ความเห็นถึงเรื่องลดพนักงานของการบินไทยว่า เป็นไปตามแผนปฏิรูป ไม่ใช่เรื่องที่ไม่รู้กันมาก่อน ซึ่งแผนปฏิรูปการบินไทย มุ่งหวังเพื่อแก้ปัญหาองค์กร ซึ่งจะมี 6 เรื่องหลัก คือ ปรับลดเส้นทางบินที่ขาดทุนหรือทำกำไรต่ำ 2.ปรับฝูงบินใหม่ 3. ปรับกลยุทธ์การตลาดปรับเรื่องการขายตั๋วใหม่เพราะการบินไทยมีปัญหาขายตั๋วได้น้อย 4.ปรับโครงสร้างองค์กร...ซึ่งจะตามด้วยการปรับอัตราพนักงาน 5. โครงการเกษียณอายุโดยสมัครใจ และ6. เรื่องธุรกิจหลัก หรือ Core Business

โดยทุกเรื่องจะเชื่อมโยงกัน มีเหตุผลต่อกัน การลดคนจะเป็นไปตามความสมัครใจ และเกลี่ยคนจัดอัตรากำลังในแต่ละกลุ่มงานให้เหมาะสม แผนจะเดินไปหลายปี เป้าหมายลดคนยืดหยุ่นไปแต่ละปี ซึ่งจะมีทั้งที่เกษียณอายุตามเกณฑ์ปกติ และพนักงานที่สมัครใจเกษียณก่อน และยังมีพนักงานเข้าใหม่ ต้องไปวางแผนว่าแต่ละปี จะมีการรับใหม่เท่าไร ออกแบบสมัครใจเท่าไร โดยคร่าวๆ การบินไทยไม่ควรมีพนักงานถึง 20,000 คน

“ตอนนี้ ทราบว่า เรื่องการยกเลิกหรือลดเที่ยวบิน ถือว่าได้ครบตามแผนแล้ว จะมีปรับอีกบ้างตามสถานการณ์ แต่จะไม่มากแล้ว ส่วนเรื่องปรับฝูงบิน ยังไม่เสร็จ เป็นแผนที่ต้องทำเพื่อหยุดเลือดไหล เพื่อสร้างความเข้มแข็ง ทำให้การบินไทยเดินหน้าต่อไปได้ เป็นวิธีที่จะทำให้การบินไทยอยู่รอด”

“ขอให้มองภาพการบินไทยตอนนี้ ว่ามีวงกลม 2 วง โดยวงกลมด้านในเป็นส่วนที่กำไร วงกลมด้านนอกเป็นส่วนที่ขาดทุน เป็นการขาดทุนแบบเลือดไหลไม่หยุดด้วย วันนี้พยายามทยอยลดวงกลมด้านนอกเพื่อหยุดเลือดก่อน เป้าหมายเพื่อให้เหลือแต่วงกลมด้านใน ที่มีกำไรเท่านั้น”พล.อ.อ.ประจินอธิบายน

ทั้งนี้ ตามแผนการปฏิรูป จะขับเคลื่อนโดย 6 กลยุทธ์ ได้แก่

1. การปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางบิน (Network Strategy) โดยประเมินผลทุก 3 เดือน เพื่อปรับลดหรือเพิ่มเส้นทางได้อย่างเหมาะสม

2. การปรับปรุงฝูงบิน (Fleet Strategy) โดยปรับลดเครื่องบินจาก 9 รุ่น 11 แบบ ให้เหลือ 6 รุ่น 8 แบบ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านการซ่อมบำรุง ค่าอะไหล่และด้านพนักงานลงตามไปด้วย

3. การพาณิชย์ (Commercial Strategy) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้เพิ่มขึ้น โดยหาทางเพิ่มรายได้จากทุกช่องทางการขายตั๋ว ทั้งอินเทอร์เน็ต เอเยนต์ ลูกค้าองค์กร เพราะยังมีที่นั่งว่างอยู่มาก

4. การปรับปรุงการปฏิบัติการและต้นทุน (Operations & Cost Strategy) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพตามมาตรฐานสากล รวมถึงการควบคุมค่าใช้จ่าย 5. การปรับปรุงโครงสร้างองค์กร (Organization Strategy) เพื่อให้การตัดสินใจที่รวดเร็วขึ้น 6. การจัดการกลุ่มธุรกิจของบริษัทฯ (Portfolio Strategy) อย่างเป็นระบบ กำหนดธุรกิจหลัก (Core Business) และธุรกิจสนับสนุน (Non-core Business) ให้ชัดเจน

กล่าวสำหรับการบินไทยก่อตั้งเมื่อปี 2503 อายุ 55 ปีแล้ว ถ้าเป็นคนก็ถือว่าผ่านร้อนผ่านหนาว เต็มไปด้วยประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจการบิน ผลประกอบการ มีกำไรต่อเนื่องจนกระทั่งปี 2551 เป็นต้นมา แทบสะกดคำว่ากำไรไม่เป็น เข้าสู่ยุคตกต่ำ ช่วงขาลง ขาดทุนหลักหมื่นล้านบาท...ไม่น่าเชื่อ ซึ่งไม่ใช่ว่า ธุรกิจการบินจะเพิ่งมีการแข่งขันหรือเพิ่งมีคู่แข่ง การแข่งขันมีมายาวนาน ฝ่าวิกฤตหนักๆ อย่างปัญหาเศรษฐกิจโลก วิกฤติน้ำมัน ต้มยำกุ้ง เหตุการณ์ 911 โรคซาร์ส เป็นต้น ซึ่งในทุกๆ วิกฤติ มีหลายสายการบินต้องปิดกิจการ แต่การบินไทยก็ยืนหยัดอยู่ในระดับแนวหน้า เป็นสายการบินชั้นนำของโลกมาได้

ดังนั้นวิกฤติที่เกิดขึ้นกับการบินไทยตอนนี้...คืออะไร...ตรงไหน
หรือใคร? คือจุดอ่อน

เพราะข้อเท็จจริงผู้บริหารระดับสูง เป็นผู้กำหนดกลยุทธ์ต่างๆ

พนักงานและลูกจ้าง เป็นผู้ขับเคลื่อนองค์กร

ไม่ว่าช่วงขาขึ้น หรือช่วงขาลง ช่วงวิกฤติหรือไร้ปัญหาการบินไทยไม่เคยขาดทุน

หรือผู้บริหารในยุค10 ปีหลัง จะไร้ฝีมือ

ด้วยเหตุดังกล่าว คำถามจึงเกิดขึ้นว่า....การลดพนักงานและการมุ่งลดขนาดองค์กรของการบินไทย จะเข้าตำรา “เกา...ไม่ถูกที่คัน สุดท้ายยังไงก็ไม่หายคัน..หรือไม่



กำลังโหลดความคิดเห็น