xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปิดฉาก"เรือขุดเอลลิคอตต์"ฉาว คุกอธิบดีเจ้าท่ากับพวกคนละ2ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ไปเป็นประธานในพิธีเปิดตัวมูลนิธิต่อต้านการทุจริต ซึ่งจัดขึ้นที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีนายวิชา มหาคุณ กรรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะประธานมูลนิธิฯ พร้อมด้วยผู้บริหารจากภาคราชการ ภาคเอกชน นักการเมือง และภาคประชาสังคม เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้พูดถึงปัญหาการทุจริต คอร์รัปชันว่า เป็นปัญหาของบ้านเมืองที่มีมาอย่างยาวนาน เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามาก็พยายามเร่งแก้ปัญหาตามเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงต้องมีมาตรการลงโทษคนโกงอย่างเด็ดขาด ตามกฎหมายที่มีอยู่ โดยเฉพาะในระบบราชการ จะไม่ยอมให้มีการทุจริตแบบสมยอมเกิดขึ้นอีกต่อไป และจะไม่ให้อภัยคนกระความทำผิดที่ไม่เข้ากระบวนการยุติธรรม โดยจะพยายามทำให้เข้าสู่กระบวนการให้ได้

ในวันเวลาเดียวกันนั้น ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีทุจริตการจัดซื้อเรือขุดหัวสว่าน ของกรมเจ้าท่า ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ฟ้อง นายจงอาชว์ โพธิสุนทร อดีตอธิบดีกรมเจ้าท่า กับพวก ประกอบด้วย ร.ต.สัญชัย กุลปรีชา อดีต รองอธิบดีกรมเจ้าท่าฝ่ายปฏิบัติการ ร.ต.ประเวช รักแผน นักวิชาการขนส่ง 9 ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการเดินเรือ กรมเจ้าท่า นายอิทธิพล กาญจนกิจ นิติกร 8 สำนักงานเลขานุการกรมเจ้าท่า นายดนัย ศรีพิทักษ์ นายช่างขุดลอก ฝ่ายแผนงานบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเล กรมเจ้าท่า ร.ต.วิเชฎฐ์ พงษ์ทองเจริญ เจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 กรมเจ้าท่า และ นายปัญญา ส่งเจริญ เจ้าพนักงานตรวจเรือ 7 ฝ่ายตรวจเรือ สำนักงานเจ้าท่าที่ 2 กรมเจ้าท่า เป็นจำเลยในความผิด ฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต และร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับรองเอกสารได้กระทำการรับรองเอกสารอันเป็นเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ มาตรา 162

คดีนี้อัยการยื่นฟ้องเมื่อเดือนม.ค. 47 โดยระบุความผิดของจำเลยว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย.40 ร.ท.วิทย์ วรคุปต์ อธิบดีกรมเจ้าท่าในขณะนั้น จัดทำสัญญาซื้อเรือขุดแบบหัวสว่าน 3 ลำ พร้อมเรือพี่เลี้ยง ในราคาประมาณ 2,000 ล้านบาท จาก บริษัทเอลลิคอตต์ กำหนดส่งมอบงานภายในวันที่ 24 มี.ค.42

ต่อมาเมื่อนายจงอาชว์ โพธิสุนทร จำเลยที่ 1 เป็นอธิบดีกรมเจ้าท่าได้มีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ 2-7 เป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างและระหว่างวันที่ 30 ก.ย.41 - 6 ส.ค. 42 จำเลยทั้ง 7 ร่วมกันกระทำผิด โดยการตรวจรับเครื่องยนต์ขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจำนวน 3 เครื่อง ทั้งที่ไม่ใช่เครื่องจักรหลักตามข้อกำหนดทางเทคนิค และเงื่อนไขสัญญา นอกจากนี้พวกจำเลยยังร่วมกันรับรองบันทึกรายงานผลการตรวจรับงาน ลงวันที่ 30 ก.ย.41 เสนอให้จำเลยที่ 1 อนุมัติให้จ่ายเงินค่าค่าซื้อเรือดังกล่าว ซึ่งเป็นการกระทำที่ส่งผลให้กรมเจ้าท่าได้รับความเสียหาย

ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ม.ค.44 พวกจำเลยยังร่วมกับ บริษัทเอลลิคอตต์ แก้ไขสัญญาเงื่อนไข และการชำระเงิน จากเดิมให้ชำระร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 9 รวม 3 งวด ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย 
      
 เรื่องนี้ ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.49 ให้ยกฟ้องจำเลยทั้ง 7

ต่อมาวันที่ 15 ก.พ.49 พนักงานอัยการฯ ได้ยื่นอุทธรณ์ โดยระบุว่า โจทก์ไม่เห็นพ้องกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องจำเลยทั้ง 7 คน เนื่องจากได้วินิจฉัยคลาดเคลื่อนต่อข้อมูลเอกสารทางราชการที่บันทึกไว้ และเก็บเป็นหลักฐาน โดยพนักงานอัยการชี้ให้เห็นถึงความเสียหายของรัฐเป็นจำนวนมาก เนื่องจากนายจงอาชว์กับพวก ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและทุจริต ปล่อยให้บริษัทเอลลิคอตต์ เลี่ยงสัญญา และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ สนับสนุนกระทำเอื้อประโยชน์ให้บริษัท อีกทั้งหาช่องทางช่วยเหลือ เบี่ยงเบนตีความในสัญญา และระเบียบปฏิบัติทางราชการทุกวิถีทาง ให้เป็นช่องทางออกโดยไม่สมเหตุผล

ซึ่งในชั้นอุทธรณ์นี้ ศาลได้พิเคราะห์ถึงอำนาจหน้าที่และแนวทางที่ได้ปฏิบัติของจำเลย ตามสัญญาที่เป็นเอกสาร หลักฐาน ที่มีการปรับแก้เงื่อนไขสัญญาดังกล่าวแล้ว เห็นว่า ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนา และแผนการแก้ไขสัญญาตั้งแต่ต้น โดยการหาเหตุผลต่างๆ มาอ้างเพื่อลดการรับงาน แต่ต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนสูง เป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทผู้ขาย เป็นการทำให้รัฐเสียหาย

ส่วนจำเลยที่ 4-5 เป็นเพียงผู้ใต้บังคับบัญชา ของจำเลยที่ 1 เบิกความรับว่า ไม่เคยได้รับรู้ข้อมูลของบริษัทผู้ค้า ซึ่งไม่มีสภาพความมั่นคง และหากรับรู้จะไม่ลงชื่อในเอกสาร จึงน่าเป็นไปได้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้ข้อมูลทั้งหมดกับจำเลยทั้งสอง จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยทั้งสอง
     
  ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม มาตรา 157 ให้จำคุก 2 กระทงๆ ละ 5 ปี รวมจำคุก 10 ปี ส่วนจำเลยที่ 2,3,6,7 มีความผิดตาม มาตรา 157 และ 162 ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดตาม มาตรา 157 จำคุก 2 กระทงๆ ละ 5 ปี รวมจำคุกคนละ 10 ปี และพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 4-5

ต่อมาพนักงานอัยการฯ ได้ยื่นฎีกาขอให้พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 4 และ 5 ขณะที่ จำเลยที่ 1,2,3,6 และ 7 ได้ยื่นฎีกา สู้คดี

เมื่อศาลฎีกาประชุมตรวจสำนวน ปรึกษากันแล้ว มีประเด็นวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 7 ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขสัญญาการอนุมัติจ่ายเงินงวดที่ 5 ก่อให้เกิดความเสียหายหรือไม่ เห็นว่า

จำเลยที่ 1 ในฐานะอธิบดีกรมเจ้าท่าได้ได้สั่งการให้จำเลยที่ 2-7 เป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างโครงการจัดซื้อเรือขุด ซึ่งในสัญญาระบุแบ่งการส่งมอบออกเป็น 5 งวด คือ งวดที่ 1 กับ 2 เป็นการส่งมอบเครื่องจักรหลัก งวดที่ 3 เป็นการจัดวางกระดูกงู งวดที่ 4 งานจัดระบบขุดของเรือ โดยไม่มีข้อกำหนดที่เกี่ยวกับการส่งมอบเรือพี่เลี้ยง จำนวน 3 ลำ และ งวดที่ 5 เป็นขั้นตอนที่กำหนดให้บริษัทจัดส่งเรือขุดจากสหรัฐฯ มายังประเทศไทย จึงจะได้รับเงินจำนวน 20 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่างาน ย่อมแปลได้ว่า งานในงวดที่ 5 เป็นงานที่บริษัทผู้ขายจะต้องดำเนินการสงมอบเรือ จำนวน 3 ลำ พร้อมส่งเรือพี่เลี้ยงไปให้กรมเจ้าท่าตามสัญญา ซึ่งงานในงวดที่ 5 มีความสำคัญ จำเลยทั้ง 7 จึงมีหน้าที่ดำเนินการให้บริษัทผู้ค้าดำเนินสัญญาให้ถูกต้องครบถ้วนและเคร่งครัด

แต่จำเลยที่ 2-7 ได้ตรวจรับงาน ทั้งที่ทราบดีว่าบริษัทไม่สามารถจัดส่งเรือขุดได้ตามกำหนดสัญญา เนื่องจากบริษัทต่อเรือที่สหรัฐฯ แจ้งว่า คนงานจะหยุดต่อเรือในช่วงก่อนที่จะครบกำหนดสัญญาส่งมอบเรือ วันที่ 24 มี.ค. 42 ซึ่งจำเลยที่ 2-7 ย่อมเห็นว่า มีแนวโน้มว่าบริษัทผู้ค้าจะไม่สามารถต่อเรือให้เสร็จได้

แม้จำเลยจะต่อสู้อ้างว่าไม่มีอำนาจแก้ไขสัญญา แต่จำเลยที่ 1 ได้มอบหมายให้ จำเลยที่ 2-7 พิจารณางานงวดที่ 5 ถือว่า จำเลยที่ 2-7 มีหน้าที่ในการเสนอความเห็นในเรื่องนี้ ซึ่งสำนักนิติกรรมกรมเจ้าท่าเองก็ได้ระบุว่า จำเลยที่ 2-7 มีความเห็นเสนอให้ จำเลยที่ 1 แก้ไขสัญญาการจ่ายเงินในงวดที่ 5 ให้บริษัทผู้ค้า 20 เปอร์เซ็นต์ โดยแบ่งจ่ายเป็น 3 งวดย่อย ตามที่จำเลยที่ 2-7 เสนอแก้ไข

ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2-7 ตรวจรับงาน และเสนอให้จำเลยที่ 1 แก้ไขสัญญา จึงเป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทผู้ค้า และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ส่วนนายจงอาชว์ จำเลยที่ 1 ก็ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาการจ่ายเงินงวดที่ 5 ให้กับบริษัทผู้ค้า ตามข้อเสนอของผู้ค้า โดยแบ่งจ่ายเงิน 3 งวดย่อย จึงเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทผู้ค้า ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของทางราชการ และแม้บริษัทผู้ค้าจะส่งท่อทุ่น และอุปกรณ์เครื่องจักรอื่นมาให้ ก็ไม่เป็นไปตามสัญญา ซึ่งจำเลยที่ 6 ก็เบิกความยอมรับว่า ท่อทุ่นไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ตามสัญญาด้วย ถือว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทผู้ค้าด้วย มีความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

ส่วนที่จำเลยยื่นฎีกาต่อสู้คดีนั้น ก็ฟังขึ้นบางส่วนมีเหตุให้ปรานีแก้โทษให้เบาลง ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขโทษให้เหมาะสม จึงพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1-7 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบเพียง 1 กระทง จำคุกคนละ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา 
     
  จำเลยทั้ง 7 คน จึงถูกส่งตัวไปคุมขัง ยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เป็นการปิดฉากคดีทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐอีกคดีหนึ่ง ซึ่งกินเวลายาวนานถึง 11 ปีเศษ



กำลังโหลดความคิดเห็น