xs
xsm
sm
md
lg

สนช.รับลูกกม.ภาษี โกง-แจ้งเท็จจ่อคุก7ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – ที่ประชุม สนช.มีมติเอกฉันท์เห็นชอบในหลักการ ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรเกี่ยวกับความผิดทางอาญา เผยสาระสำคัญเพิ่มจำคุกจากไม่เกิน 6 เดือนเป็นไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 5 พันเป็นสองแสนบาท เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวานนี้ (5 พ.ย.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 164 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง เห็นชอบในหลักการ ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับความผิดทางอาญา) คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาในรายละเอียดเป็นเวลา 30 วัน
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง กล่าวชี้แจงว่า การเสนอแก้ไขประมวลรัษฎากรมีหลายประเด็น ทั้งการไม่ยื่นแบบ หรือยื่นเท็จ โดยเพิ่มในส่วนของงบการเงินเข้าไป รวมทั้งจากเดิมกำหนดโทษเฉพาะการไม่ยื่น หรือยื่นเท็จเฉพาะ รายรับรายจ่าย แต่ครั้งนี้จะรวมการขอคืนภาษีที่เป็นเท็จจะต้องได้รับโทษจากเดิมที่ไม่ครอบคลุม ต้องไปใช้ประมวลกฎหมายอาญาในส่วนของเรื่องฉ้อโกงมาใช้ แต่โทษเบากว่าและยอมความได้ จึงต้องแก้ไขให้ครอบคลุมส่วนนี้
นอกจากนี้ ในส่วนของโทษ ตามมาตรา 37 ประมวลรัษฎากร โทษยังลักลั่นกันระหว่าง มาตรา 37 กับ มาตรา 37 ทวิ ซึ่ง มาตรา 37 จะกำหนดโทษเฉพาะส่วนที่ไม่ยื่นบางส่วน แต่ 37 ทวิ จะเป็นกรณีไม่ยื่นแบบทั้งหมด ปรับไม่เกิน 5 พันบาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นโทษเท่ากับมาตรา 37 คือ โทษจำคุมกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท
หลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เนื่องจากบทลงโทษทางอาญาตามประมวลรัษฎากร ยังไม่ครอบคลุมถึงกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ยื่นบัญชีที่มีการรับรองพร้อมกับยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี หรือกระทำการใดๆโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใด ทำนองเดียวกัน เพื่อขอคืนภาษี อากร รวมทั้งปรับ อัตราโทษสำหรับความผิดเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงภาษีอากร ยังไม่เหมาะสม กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
สาระสำคัญส่วนแรก คือ กำหนดให้การ “ขอคืนภาษีอากร" ที่เป็นการกระทำโดยความเท็จ เป็นความผิดจากเดิมที่เป็นความผิดเฉพาะการแจ้งรายรับ รายจ่ายที่เป็นเท็จเท่านั้น โดยเนื้อหาจะไปแก้ไข มาตรา 37 ประมวลรัษฎากร เป็น “ผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาท
(1) แจ้งข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถาม ด้วยคำอันเป็นเท็จ หรือ นำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร หรือเพื่อขอคืนภาษีอากร ตาหลักษณะนี้ หรือ (2)โดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร หรือขอคืนภาษีอากรตามลักษณะนี้"
สาระสำคัญส่วนที่สอง คือ การเพิ่มโทษให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยจากเดิม ในส่วนของมาตรา 37 ทวิ ระบุว่า หากผู้ใดโดยเจตนาละเลยไม่ยื่นรายการที่ต้องยื่นตามลักษณะนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือ จำคุกไม่เกินหกเดือนหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่การแก้ไขครั้งนี้ปรับโทษส่วนนี้เป็น “จำคุกไม่เกินเจ็ดปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท
สาระสำคัญส่วนที่สาม เป็นการกำหนดเพิ่มเติมให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่กระทำการใดๆ โดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน เพื่อขอคืนภาษีเป็นความผิด โดยแก้ไข (6) ของมาตรา 90 /4 ในประมวลรัษฎากร ให้เป็น “ผู้ประกอบการจดทะเบียนโดยเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่มหรือขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม กระทำการใดๆ โดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน".
กำลังโหลดความคิดเห็น