xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.ชี้มูลอดีตอธิบดีกรมสรรพากร ทุจริตคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2558 ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ ในฐานะโฆษกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาสำนวนและรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีกล่าวหานายศุภกิจ ริยะการ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 และนายสาธิต รังคสิริ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร กรณีทุจริตคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเท็จ พยานหลักฐานรับฟังได้ว่า

การกระทำของนายศุภกิจ ริยะการ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนระเบียบแนวทางปฏิบัติของกรมสรรพากร โดยได้ยุติการตรวจสภาพกิจการของบริษัทผู้ขอคืนภาษีเท็จ ไม่พิจารณาว่ามีการประกอบกิจการจริง แต่ได้พิจารณาคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทเท็จดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของบริษัทที่ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มและเพื่อประโยชน์ของนายสาธิต รังคสิริ ที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เงินที่บริษัทขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้รับจากกรมสรรพากรโดยมิชอบ ได้นำไปซื้อทองคำแท่ง และนายสาธิต รังคสิริ เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในทองคำแท่งดังกล่าว การกระทำของนายศุภกิจ ริยะการ ทำให้ทางราชการได้รับความเสียหายจำนวน 3,146,175,475.93 บาท (เฉพาะสำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 )

นายสาธิต รังคสิริ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร ได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสั่งคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มของสำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 เป็นอย่างดีว่า บริษัทผู้ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มทั้ง 25 บริษัท ไม่ได้เป็นผู้ส่งออกจริง ไม่มีความมั่นคง ไม่มีความน่าเชื่อถือ แต่ได้ร่วมกระทำความผิดกับเจ้าหน้าที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 ที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยมีส่วนเกี่ยวข้องในการแจ้งรายชื่อบริษัทที่ไม่มีสิทธิ์ขอคืนภาษีให้กับสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 ติดตามเร่งรัดให้มีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยรวดเร็วผิดปกติ ระงับเรื่องไม่ให้มีการตรวจสอบความถูกต้องตามแนวปฏิบัติของกรมสรรพากรเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่า ผู้ขอคืนภาษีเป็นผู้ประกอบการส่งออกจริงหรือไม่ และเมื่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ตรวจสอบพบว่า มีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นจำนวนมากผิดปกติ และปฏิบัติไม่ถูกต้องตามระเบียบของกรมสรรพากร แต่นายสาธิต รังคสิริ กลับสั่งการไม่ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ นอกจากนี้นายสาธิต รังคสิริ ยังได้ระงับเรื่องไม่ให้มีการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่สำนักตรวจสอบภาษีกลางได้ดำเนินการตรวจสอบบริษัท ซึ่งอยู่ในระหว่างการเชิญผู้ชำระบัญชีมาพบเจ้าหน้าที่ เนื่องจากทั้งสองบริษัทได้แจ้งเลิก และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีไว้แล้ว ทั้งนี้เพื่อไม่ต้องการให้พบข้อเท็จจริงว่าบริษัทดังกล่าวไม่ได้ประกอบการจริง จากการไม่ดำเนินการตรวจสอบหรือไม่สั่งการให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงของนายสาธิต รังคสิริ ดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้ นายศุภกิจ ริยะการ ปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนระเบียบแนวทางปฏิบัติของกรมสรรพากร ให้กับบุคคลและกลุ่มบริษัทที่ร่วมกระทำความผิดหลายครั้งโดยทุจริตและนายสาธิตฯ ได้รับผลประโยชน์โดยได้นำเงิน ที่บริษัทขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้รับจากกรมสรรพากรโดยมิชอบ จำนวน 179,869,250 บาท ไปซื้อทองคำแท่งนายสาธิต รังคสิริ เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในทองคำแท่งดังกล่าว

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การกระทำของนายศุภกิจ ริยะการ และนายสาธิต รังคสิริ มีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนเอง หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย และฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ หรือเจ้าของทรัพย์นั้น และฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 มาตรา 151 และมาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต และกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 82 (2) ประกอบมาตรา 85 (7) และตามมาตรา 85 (1) และ (4)

ส่วนนายสาธิต รังคสิริ ยังมีมูลความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามมาตรา 123/1 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 อีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น