xs
xsm
sm
md
lg

สปท.เตรียมชี้แจงทูตไทย-เทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (3 พ.ย.) นายคำนูณ สิทธิสมาน นายสุวัฒน์ จิราพันธุ์ และ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ทีมโฆษกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แถลงถึง แนวทางการทำงานของ สปท. โดยนายคำนูณ กล่าวว่า หลังจากที่ประชุมสปท.ให้ความเห็นชอบร่างข้อบังคับการประชุมสปท. เมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสปท. จะลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการดำรงตำแหน่งคณะกรรมาธิการสามัญปฏิรูปประเทศทั้ง 11 คณะของ สปท. ขณะนี้ มีสมาชิกสปท.แสดงความจำนงเข้ามาเป็นคณะกรรมาธิการสามัญคณะต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาการดำรงตำแหน่งฯจะพิจารณาเกลี่ยรายชื่อของสมาชิก สปท.ไปดำรงตำแหน่งตาม กมธ.สามัญชุดต่างๆ ส่วนตำแหน่งประธาน และรองประธานกมธ.สามัญการปฏิรูปชุดต่างๆ นั้น แม้ประธานสปท.จะมีอำนาจแต่งตั้งเองได้ แต่ประธานสปท. จะตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาบุคคลมาดำรงตำแหน่งประธานกมธ.สามัญชุดต่างๆ เพื่อให้เกิดความรอบคอบต่อไป
ส่วนข้อเสนอเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญนั้น แม้ สปท.จะไม่มีหน้าที่โดยตรงในการเสนอความเห็น แต่การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ต้องบรรจุในรัฐธรรมนูญ อีกทั้ง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. มีหนังสือถึง ประธานสปท. ขอรับฟังความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น สปท. จะเปิดประชุมให้มีวาระอภิปรายทั่วไป เพื่อให้สมาชิกสปท.แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ คาดว่า จะเปิดประชุมเพื่ออภิปรายวาระดังกล่าวได้ในวันที่ 10 พ.ย. เมื่อได้ข้อสรุปอย่างไร จะส่งให้กรธ.ทราบต่อไป ขณะเดียวกันที่ประชุม สปท. เตรียมเปิดประชุมให้มีวาระอภิปรายเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตด้วย แต่ยังไม่ได้กำหนดวันและเวลา
พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวว่า แนวทางการทำงานของ สปท. จะยึดตามกรอบวาระ และข้อมูลที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)ได้ศึกษาไว้ และเลือกเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วนขึ้นมาดำเนินการก่อน ขณะเดียวกัน จะประสานงานกับแม่น้ำทุกสายในการทำงาน เชื่อว่าภายใน 1 เดือน กมธ.สามัญปฏิรูปทุกชุด จะสรุปแนวทางการทำงานส่งมาให้ที่ประชุม สปท.พิจารณาได้ โดยต้องมีการรายงานผลงานตลอดในช่วง 1 เดือน แต่หากกมธ.ปฏิรูปชุดใด มีมติที่เปลี่ยนแปลงไปก็สามารถทำได้ แต่เรื่องใหม่ๆ ควรคิดให้น้อยที่สุด ควรสานต่องานเดิมของสปช.
นายสุวัฒน์ จิราพันธุ์ กล่าวว่า ในวันที่ 11 พ.ย. เวลา 10.00 น. ทางสปท.จะเชิญคณะทูตต่างๆ ประจำประเทศไทย จำนวน 76 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 19 องค์กร มารับฟังแนวทางการปฏิรูปประเทศของสปท. ที่ห้องสารนิเทศ รัฐสภา เพื่อให้ทูตแต่ละประเทศ เข้าใจเป้าหมายและแนวทางการปฏิรูปประเทศ เพื่อไปชี้แจงกับประเทศของตัวเอง พร้อมเปิดโอกาสให้ทูตต่างประเทศได้ซักถามข้อสงสัยต่างๆ ซึ่ง ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. จะเป็นผู้กล่าวเปิดการชี้แจงวัตถุประสงค์ ส่วนในวันที่ 14 พ.ย.จะเชิญเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศ จำนวน 96 ประเทศ มารับ ฟังแนวทางการปฏิรูปประเทศของสปท.ที่กระทรวงต่างประเทศ เพื่อรับทราบแนวทางการปฏิรูปประเทศของสปท. เป็นข้อมูลไปชี้แจงให้นานาประเทศรับทราบ

** ชงปฏิรูปงบประมาณด้านการศึกษา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมอภิปรายสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ วานนี้ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ สมาชิกสปท. อดีตรองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป ได้อภิปรายเสนอวิธีการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการศึกษา โดยเสนอปฏิรูประบบการคลัง การงบประมาณ ด้านการศึกษา จะเกิดผลเป็นรูปธรรมแบบการปฏิรูประบบสุขภาพ เพียงแต่ต้องกำหนดช่วงเวลาให้มีการปรับตัวเพื่อไม่ให้เกิดความโกลาหล โดยประการแรก ปฏิรูประบบจัดการงบประมาณใหม่ โดยจ่ายงบดำเนินการไปให้ผู้เรียนโดยตรงตามความจำเป็นที่แท้จริงของผู้เรียน แทนการจ่ายให้ ส่วนกลางไปกระจายให้สถานการศึกษา
ประการที่สอง ใช้มาตรการทางภาษีสนับสนุนผู้ประกอบการหรือองค์กรภาคเอกชนที่ร่วมจัดการศึกษา ในปัจจุบันภาคธุรกิจเอกชน สนับสนุนการศึกษาในพื้นที่ต่างๆ อยู่แล้ว หากมีนโยบายทิศทางชัดเจน จะทำให้เกิดแรงจูงใจภาคธุรกิจทั่วประเทศ
ประการที่สาม จัดสรรทุนการศึกษาในรูป "คูปองการศึกษา" การปรับสัดส่วน ให้ผู้เรียนสายสามัญเป็นร้อยละ40 และสายอาชีวศึกษาเป็นร้อยละ60 จะเกิดการปฏิรูประบบอาชีวศึกษาครั้งใหญ่ทั่วประเทศ จบมามีงานทำประกอบสัมมาชีพอย่างมีศักดิ์ศรี
ประการที่สี่ จัดตั้งกองทุนสมทบ (matching funds)แก่ท้องถิ่น หรือภาคประชาสังคม ที่ร่วมจัดการศึกษาพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนในท้องถิ่น และ ประการสุดท้าย มาตรการทางการเงินและภาษี สนับสนุนการพัฒนาตนเองและการเรียนรู้ตลอดชีวิต
นพ.ชูชัย กล่าวสรุปว่า การศึกษานั้นแพง แต่ความไม่รู้แพงยิ่งกว่า ดังนั้นการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อคนทั้งมวล และคนทั้งมวลต้องร่วมกันปฏิรูปการศึกษา จึงจะเกิดผลสำเร็จ
กำลังโหลดความคิดเห็น