xs
xsm
sm
md
lg

ปิดที่ยืน “ผู้ป่วยจิต” กระตุ้นอาการกำเริบ วอนเข้าใจ-ให้โอกาส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“หมอณรงค์” ชี้ ปฏิรูประบบสุขภาพจิต เปิดวอร์ดจิตเวชใน รพ. จังหวัด ขยายการดูแลลงระดับชุมชน ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงบริการ กลับคืนสังคมได้ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ย้ำ ไม่ยอมรับ ไม่ให้ที่ยืนต่อผู้ป่วยยิ่งสร้างแรงกดดัน ทำอาการกำเริบ แนะเข้าใจ ให้โอกาส เปิดบ้าน “หลังคาแดง” โชว์โมเดลร้านกาแฟฝึกงานผู้ป่วยจิตเวช ช่วยกลับคืนสู่สังคม

วันนี้ (8 ต.ค.) ที่สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปาฐกถาพิเศษ “ผู้ป่วยจิตเวช ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการปฏิรูป” เนื่องในวันอนุสรณ์ ศ.นพ.ฝน แสงสิงแก้ว บิดาแห่งจิตเวชศาสตร์ไทย และวันสุขภาพจิตโลกประจำปี 2558 ว่า ตลอดชีวิตการทำงานในมุมมองของผู้ปฏิบัติงานมองว่าการแก้ปัญหาสาธารณสุข ไม่สามารถแก้ปัญหาที่ระดับนโยบายได้ แต่ต้องแก้ที่ระดับพื้นที่ เพราะแม้จะเป็นโรคเดียวกัน แต่สาเหตุการเกิดขึ้นนั้นแตกต่างกัน โดยจะต้องแก้ปัญหาตามกลุ่มวัย มากกว่าการแก้ปัญหาเป็นโครงการ ที่สำคัญคือจะต้องมีองค์ความรู้ การแก้ปัญหาโรคทางด้านจิตเวชก็เช่นกันต้องอาศัยหลักการดังกล่าว เริ่มจากการปรับระบบบริการก่อน โดยกระจายการดูแลผู้ป่วยจิตเวช พร้อมองค์ความรู้ ไปยังโรงพยาบาลทั้งระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ลงไปถึงสถานีอนามัย และให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ทำอย่างไรให้ผู้ป่วยจิตเวชเข้าถึงบริการ และสามารถกลับคืนสู่สังคมได้ ซึ่งไม่ใช่แต่เพียงการดูแลเฉพาะโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวชเพียงอย่างเดียว

“อย่าง รพ.สวนปรุง จ.เชียงใหม่ พบว่า รับส่งต่อผู้ป่วยจิตเวชจาก รพ.น่าน น้อยที่สุดเพียง 11 ราย เนื่องจากโรงพยาบาลมีการเปิดวอร์ดจิตเวช ขณะที่รับส่งต่อจาก รพ.เชียงราย มากถึง 3,000 ราย เพราะฉะนั้นการจัดระบบบริการจะต้องให้โรงพยาบาลระดับจังหวัดเปิดวอร์ดจิตเวชให้ได้ ส่วนโรงพยาบาลด้านจิตเวช ซึ่งเป็นศูนย์ความเป็นเลิศ ก็ต้องวางตำแหน่งของตัวเองว่าจะพัฒนาต่อไปอย่างไร เมื่อพัฒนาระบบบริการได้แล้วจึงค่อยพัฒนาตาม 6 Building Block คือ 1. การให้บริการ 2. บุคลากร 3. ข้อมูล 4. เทคโนโลยี 5. เงิน และ 6. ธรรมาภิบาล” นพ.ณรงค์ กล่าว

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรสุขภาพจิต กล่าวว่า สังคมยังมีอคติต่อผู้มีปัญหาทางจิต จึงยิ่งทำให้พวกเขาไม่กล้าเปิดเผยตัว ไม่กล้าเข้าสู่ระบบบริการ หรือแม้แต่รักษาแล้ว เมื่อกลับไปอยู่กับครอบครัว หากขาดการดูแลเอาใจใส่ กินยาไม่ต่อเนื่อง ครอบครัว หรือชุมชนยังไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับ แสดงความรังเกียจ กดดัน ล้อเลียน ไม่ให้ผู้ป่วยมีที่ยืนในสังคม อาการก็ย่อมกำเริบ ส่งผลให้การป่วยทางจิตรุนแรงมากขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายร้ายแรงต่อตนเองและผู้อื่น รวมทั้งเป็นเหตุให้ก่อคดีซ้ำได้ การนอนโรงพยาบาล และการรักษาด้วยยาจึงไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด กระบวนการฟื้นฟูทางจิตใจจึงเป็นกระบวนการที่จำเป็น ที่จะช่วยฟื้นฟูการทำงานของสมอง ระบบความคิด การตัดสินใจ และการอยู่กับสังคม

“ขอย้ำว่า ผู้ป่วยทางจิตก่อคดีรุนแรงมีจำนวนไม่มาก และเมื่อใดก็ตามที่ตกเป็นข่าว ผู้เจ็บป่วยทางจิตเวชอื่นอีกจำนวนมากที่ไม่เคยมีคดี มักพลอยถูกตราหน้าและได้รับผลกระทบ เกิดตราบาปติดตัวด้วยเสมอ ซึ่งในความเป็นจริง ผู้ป่วยจิตเวชเหล่านี้สามารถรักษาให้หายและกลับคืนสู่สังคมได้ สามารถประกอบอาชีพ ใช้ชีวิตได้เช่นเดียวกับคนปกติทั่วไป ทั้งนี้ การดูแลผู้ป่วยจิตเวช มีองค์ประกอบ 3 ส่วน ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปดำเนินชีวิตในสังคมได้ คือ 1. การดูแลรักษาตามหลักวิชาการแพทย์ 2. ครอบครัวที่จะให้การสนับสนุน ให้กำลังใจ ให้ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสำคัญที่สุด และ 3. สังคม ที่จะให้โอกาสผู้ป่วยดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันได้” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

นพ.สินเงิน สุขสมปอง ผอ.สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กล่าวว่า การฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตสังคมและอาชีพแก่ผู้ป่วยจิตเวช เพื่อกลับคืนสู่สังคม ได้นำแนวคิดมาจากฮ่องกง จึงได้เปิดร้านกาแฟหลังคาแดงขึ้นในพื้นที่อาคารผู้ป่วยนอกจิตเวช ชั้น 2 ของสถาบันฯ เพื่อให้ผู้ป่วยได้ทดลองทำงานในสถานประกอบการจริง ได้ฝึกทักษะการเข้าสังคม ได้รับการยอมรับ สร้างเสริมความภาคภูมิใจ ช่วยต้านทานไม่ให้ป่วยหรืออาการกำเริบได้ และมีโอกาสกลับมามีที่ยืนอีกครั้งในสังคม

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น