xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูปพลังงานไทยไม่คืบหน้า…แต่โลกเขาไปไกลแล้ว (ครับท่านนายกฯ)

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

ผมได้ฟัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีพูดในที่ประชุม “แม่น้ำ 5 สาย” แล้วผมรู้สึกว่าท่านมีความตั้งใจที่จะปฏิรูปประเทศเป็นอย่างมากจริง แต่ท่านยังไม่รู้ว่าจะปฏิรูปอย่างไรดี

ในที่นี้ ผมจะกล่าวเฉพาะเรื่องพลังงานซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากและเชื่อมโยงหรือเกี่ยวพันกันกับมิติอื่นๆ เกือบทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคอร์รัปชัน (ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติได้เลือกให้เป็นปัญหาสำคัญที่สุด) ความเหลื่อมล้ำในสังคม การท่องเที่ยว โลกร้อน และการละเมิดสิทธิมนุษยชน พบว่าก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้าใน 3 เรื่องหลัก คือ

หนึ่ง เรื่องสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ท่านนายกฯ ได้เสนอให้ตั้งกรรมการ 3 ฝ่ายมี ภาคราชการ ภาคนักวิชาการที่สนับสนุนแนวคิดของราชการ และภาคประชาชนที่เห็นต่างเท่าที่ผมทราบ ทางกระทรวงพลังงานโดยรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่จะทำเหมือนเดิม คือจะเปิดสัมปทานในต้นปีหน้า

สอง เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ ก่อนการเลิกอดอาหารประท้วง ท่านนายกฯ สั่งให้ตั้งกรรมการแบบเดิม แต่ไม่ได้มีการประชุมกันเลย ขณะเดียวกันทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยก็เดินหน้าในพื้นที่ พร้อมกับการโฆษณาเท็จทางโทรทัศน์ต่อไป

สาม การปฏิรูปเร็วที่เสนอโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติเรื่อง “โซลาร์รูฟเสรี” ก็ไม่มีอะไรคืบหน้าแม้แต่น้อย

ผมดีใจมากที่ท่านนายกฯ พูดตอนหนึ่งในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ (30 ตุลาคม 58) ว่า “พื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย ต้องไม่ไปรบกวนคนอื่น ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน เขาเรียกว่าประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ไม่ละเมิดสิทธิ์เขา และกฎหมายจะทำให้สังคมมีความเท่าเทียมกัน กฎหมายอันเดียวกัน”

ผมขอเรียนท่านนายกฯ ในที่นี้เลยว่า ความคิดดังกล่าวของท่านนั้นถูกต้องแล้วครับ และในปัจจุบันนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับกิจการพลังงานได้ด้วยครับ แต่โรงไฟฟ้าถ่านหินทำให้คนอื่นเดือดร้อนอย่างแน่นอนครับ ในอดีตชาวโลกให้การยอมรับโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ในปัจจุบันนี้เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนได้เกิดขึ้นแล้ว ต้นทุนก็ถูกกว่าถ่านหิน ชาวโลกเขาจึงร่วมใจปฏิเสธถ่านหิน ซึ่งผมจะนำเสนอในตอนท้ายๆ ของบทความนี้

ความจริงแล้ว สิ่งที่ท่านนายกฯ พูด เป็นเพียงหนึ่งในสองของ “คุณค่าหลัก 2 ประการของมนุษย์” อีกข้อหนึ่งที่เหลือคือ “ความเป็นอิสระและพึ่งตนเองของมนุษย์” การสนับสนุนให้คนสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองบนหลังคา ที่เหลือแบ่งปันหรือขายให้กับสายส่งไฟฟ้า คือหลักการพึ่งตนเอง ไม่เป็นทาสใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อค้าถ่านหิน หรือเป็นหลักเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเองครับ การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ซึ่งส่วนใหญ่อยู่บนพื้นที่บก บนพื้นที่ทำกินของเกษตรกรนอกจากจะทำให้คนอื่นเดือดร้อนแล้ว ยังไม่มีความจำเป็นในขณะนี้ เพราะสามารถใช้แสงแดดแทนได้

ผมเข้าใจท่านดีว่า ท่าน พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เตรียมตัวมาเพื่อจะเป็นนายกรัฐมนตรี จึงไม่มีการตกผลึกทางความคิดในเรื่องที่ค่อนข้างจะเฉพาะทางอย่างเรื่องพลังงาน ประกอบกับท่านไม่มีความเข้าใจในหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งเป็นหลักการสำคัญและค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศไทย ท่านจึงได้เคยสารภาพออกมาครั้งหนึ่งว่า “ถ้าไม่ให้ผมฟังข้าราชการแล้วจะให้ผมฟังใคร”

ผมขอเรียนตามตรงว่า ความคิดของท่านนายกฯ ประยุทธ์ได้ล้าสมัย (แม้ท่านจะมีเจตนาดีมาก) และไม่สอดคล้องบริบทของสังคมโลกยุคใหม่ที่มนุษย์สามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วมาก

ผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องอนาคต (Futurist) ท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า “ในอีก 15 ปีข้างหน้า (นับจาก 2015) เด็กชนบทในทวีปแอฟริกาจะมีความรู้มากกว่าประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในวันนี้” ข้อความนี้คงจะทำให้เราเห็นได้ว่าโลกในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วขนาดไหน

นอกจากเรื่องความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของสังคมแล้ว ท่านนายกฯ ยังพูดเองว่า “ต้องตัดเสื้อให้เข้ากับคน” นั่นคือการมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งต้องมีขั้นมีตอนที่สำคัญครบถ้วน จะทำแบบลวกๆ เหมือนที่ข้าราชการไทยนิยมทำกันไม่ได้แล้วครับ

ผมเคยเขียนบทความชิ้นหนึ่งในทำนองว่าใช้ “ยุทธศาสตร์โลกล้อมประเทศไทย” คือเอาเรื่องดีๆ จากต่างประเทศมาสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนไทยเรา (ซึ่งไม่มีความคืบหน้า อืดเหมือนเรือเกลือ-สำนวนคนปักษ์ใต้) มาวันนี้ผมขอนำเสนอ 3 ชิ้น ชิ้นแรกถือเป็นข่าวดีของโลก ส่วนอีก 2 ชิ้นเป็นงานศึกษาและข้อมูลล่าสุดที่น่ากลัวมาก

เอาข่าวดีก่อนนะครับ มาจากที่ประชุมที่เกิดจากการรวมตัวอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนของผู้นำทางด้านการเงินของโลก เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม นี้เองที่ Guildhall in the City of London ในเรื่องที่เกี่ยวกับความเสี่ยงทางการเงิน ก่อนการประชุมใหญ่ของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (COP21) ที่จะมีขึ้นที่กรุงปารีสในวันที่30 พฤศจิกายนนี้

ข่าวจาก http://blueandgreentomorrow.com/ ระบุว่าในการประชุมนี้จะมีการฉายวิดีโอของเจ้าฟ้าชายชาลส์ (HRH The Prince of Wales) ซึ่งพระองค์ตรัสว่า “การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกำลังเพิ่มความเสี่ยงให้กับภาคการเงิน ซึ่งมี 2 ปัจจัยที่จะต้องพิจารณา คือ หนึ่ง จะถอนการลงทุน โดยเฉพาะจากภาคการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยตรง ซึ่งจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงมากจากพันธสัญญาที่จะจำกัดอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงถึง 2 องศาเซลเซียส หรือข้อที่สอง จะลงทุนในภาคที่สนับสนุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ซึ่งจะทำให้มีสถานะที่ดีกว่าในแง่ของความเสี่ยงและโอกาส นักลงทุนบางคน เช่นกลุ่มกองทุนหรือมูลนิธิรักโลกหรือเพื่อนมนุษย์ คงจะต้องพิจารณาว่าจะยังคงลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคาร์บอนสูงซึ่งมีความขัดแย้งที่ชัดเจนต่อภารกิจและเป้าหมายโดยรวมของพวกเขา”

อีกตอนหนึ่งพระองค์ตรัสว่า “นักลงทุนทั้งหลายต้องตัดสินใจว่าจะเป็นผู้เอาประโยชน์จากอนาคตหรือจะเป็นผู้สร้างอนาคต” ดังข้อความในภาพประกอบ

ตามความเข้าใจของผมแล้ว ผมคิดว่าการประชุมเรื่องโลกร้อนของสหประชาชาติครั้งที่ 21 ครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกที่เกิดผลในทางปฏิบัติจากผู้นำประเทศเพราะมาตรการที่เรียกว่า “ถอนการลงทุนจากพลังงานฟอสซิล” หรือ “เก็บมันไว้ในดิน” นั้นมีพลังและเติบโตอย่างรวดเร็วมากกระจายไปทั่วโลก

รายงานข่าวระบุว่า ปัจจุบันได้มีการถอนการลงทุนจากพลังงานฟอสซิลแล้วจำนวน 2.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 6.8 เท่าของจีดีพีประเทศไทยปี 2557 จาก 400 สถาบันการศึกษา 430 บริษัท และ 2,040 ปัจเจกบุคคลจาก 43 ประเทศซึ่งรวมถึงดาราชื่อดังอย่าง Leonardo DiCaprio

ผมได้นำภาพสรุปสั้นๆ เกี่ยวกับอุณหภูมิของอากาศโลกไว้ด้วยครับซึ่งสรุปได้เป็น 2 กรณี

ถ้าประชากรทั้งโลกยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามปกติ (โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเลย) ในปี 2100 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกโดยเฉลี่ยจะสูงขึ้น 4.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรมซึ่งขณะนี้ได้สูงเกินไปแล้วประมาณ 0.84 องศาเซลเซียส

ถ้าทำตามแผนที่ได้ยื่นไว้แล้ว ตราบถึงวันที่ 21 ตุลาคม 58 ประเทศต่างๆ ได้เสนอแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไว้แล้ว อุณหภูมิจะลดลงมาเหลือ 3.5 องศาเซลเซียสแต่เป้าหมายที่ปลอดภัย คือ 2 องศา ดังภาพประกอบ

โดยสรุปก็คือ ถ้าทุกประเทศทำทุกอย่างตามที่ตนได้เสนอไว้สำหรับการประชุมคราวหน้า รวมกันแล้ว ยังคงทำให้โลกตกอยู่ในอันตราย ยังไม่ถึงระดับที่ปลอดภัย จึงต้องลดให้มากกว่าที่ได้เสนอมาแล้ว

ยังเหลือข่าวร้ายๆ อีก 2 ข่าวตามสัญญาครับ

ข่าวแรกเป็นผลงานวิจัยของอาจารย์มหาวิทยาลัย 3 คน จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และ University of California, Berkeley สหรัฐอเมริกา ซึ่งผลงานดังกล่าวเพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature (วารสารวิทยาศาสตร์แบบสหวิทยาการ ของประเทศสหราชอาณาจักร เริ่มตั้งแต่ปี 1869) เมื่อ 21 ตุลาคม 2558 ในชื่อเรื่อง “Global non-linear effect of temperature on economic production” โดย Marshall Burke (ภาควิชาวิทยาศาสตร์ระบบโลก), Solomon M. Hsiang (เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ)& Edward Miguel (ภาควิชาเศรษฐศาสตร์)

เป็นการศึกษาถึงผลกระทบต่อผลิตภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Productivity) อันเนื่องมาจากอุณหภูมิของโลก ในปี 2100 หรืออีก 85 ปีข้างหน้า เป็นการศึกษาด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ โดยใช้ข้อมูลด้านเศรษฐศาสตร์และอุณหภูมิประมาณ 190 ประเทศ

ผมได้อ่านวิธีการศึกษาของเขาแบบผ่านๆ แล้วครับ จะถูกจะผิดประการใด ผลงานได้ผ่านการตรวจสอบจากนักวิชาการแล้วครับ ในที่นี้ผมขอนำผลการศึกษาเป็นรายประเทศซึ่งปรากฏอยู่ในแผนที่แล้วครับ

โดยภาพรวม การศึกษาพบว่า ในประเทศที่มีอากาศหนาว อุณหภูมิที่สูงขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจจะดีขึ้นโดยที่อุณหภูมิที่เหมาะที่สุดอยู่ที่ 13 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิสูงกว่านี้ผลิตภาพทางเศรษฐกิจจะลดลงทั้งด้านแรงงานและการเกษตร โดยสรุปการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจะปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจของโลกใหม่ ประเทศในเขตหนาวจำนวนไม่กี่ประเทศจะดีขึ้น ในขณะที่ประเทศที่อุณหภูมิปานกลางและร้อนจะแย่ลง

เมื่อพยากรณ์ไปถึงปี 2100 พบว่า รายได้ของประชากรโลก (ในสถานการณ์ที่เกิดโลกร้อน) จะลดลง 23% เมื่อเทียบกับรายได้ที่ไม่มีสถานการณ์โลกร้อนการศึกษานี้ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น พายุ เป็นต้นซึ่งผมได้กล่าวถึงในบทความเมื่อสัปดาห์ก่อน

เมื่อพิจารณาเฉพาะประเทศไทย พบว่า ผลิตภาพทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)จะลดลงถึง 90% จากกรณีที่ไม่มีปัญหาโลกร้อน ไม่ใช่จีดีพีในปัจจุบันนะครับสำหรับประเทศในเขตหนาว เช่น รัสเซีย สวีเดน แคนาดา จะเพิ่มขึ้น 200-419%

ที่น่าสนใจ คือ สหรัฐอเมริกาซึ่งได้ปฏิเสธไม่ยอมลงนามในพิธีสารเกียวโตเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาตลอด ผลการศึกษาพบว่าจีดีพีเฉลี่ยจะลดลง 36%ออสเตรเลีย และญี่ปุ่นก็ลดครับ

มิน่าละ สหรัฐอเมริกาดูท่าทางเอาจริงเอาจังกับการประชุมสหประชาชาติที่จะเริ่มขึ้นในสิ้นเดือนนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแผนพลังงานสะอาดของประธานาธิบดีโอบามา

ผลงานวิจัยนี้ยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจอีกมากครับ สมควรอย่างยิ่งที่นักวิชาการในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์มหาวิทยาลัยจะได้ศึกษาให้ลึกซึ้งและวิพากษ์วิจารณ์แล้วนำไปสอนลูกศิษย์ลูกหา สำหรับผมเองเกษียณมาหลายปีแล้วครับ

ต่อไปเป็นข่าวร้ายชิ้นที่สองครับเรากำลังพูดถึงปัญหาโลกร้อนซึ่งเกิดจากการใช้พลังงานฟอสซิล ผมจึงจะขอนำเสนออุณหภูมิที่ร้อนที่สุดในโลกประจำเดือนตุลาคมปีนี้ แต่กลับพบว่าเป็นปีที่ร้อนที่สุดตั้งแต่มีการจดบันทึกในประวัติศาสตร์ คือร้อนถึง 48.4 องศาเซลเซียส เกิดขึ้นที่ประเทศแอฟริกาใต้ครับ ผมนำกราฟมาให้ดูเป็นหลักฐาน เพื่อตอกย้ำว่านี่เป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เพ้อเจ้อ (ผมไม่อยากใช้คำว่า “มโน” เพราะจริงๆ แล้วเป็นคำที่มีความหมายในทางที่ดี แต่ถูกทำให้มีความหมายไปในด้านลบ เช่นเดียวกับชื่อ “ประสาท”)

มาถึงบทสรุปครับ ผมได้เริ่มต้นด้วยความไม่คืบหน้าในการปฏิรูปพลังงานของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งๆ ที่ประชาชนไทยได้เรียกร้องอย่างแข็งขัน ยาวนาน ได้เห็นความก้าวหน้าของชาวโลกโดยการประสานของสหประชาชาติ และการกดดันขององค์กรภาคประชาชนทั่วโลก เราได้เห็นความก้าวหน้าเชิงนโยบาย ได้เห็นผลงานวิจัยที่ออกไปทางน่ากลัวมากๆ ได้เห็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์

ผมขอเพิ่มผลสรุปที่เป็นข่าวดีอีก 2 ชิ้นสั้นๆ คือ รัฐบาลจีนกำลังจะยกเลิกการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ในช่วง 2016-2020 และงานวิจัยของธนาคารเพื่อการลงทุน, Goldman Sachs ของสหรัฐอเมริกาว่าความต้องการถ่านหินจะลดลงและไม่มีทางกลับมาฟื้นใหม่ได้อีก

แต่ประเทศไทยเรากำลังจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่อีก 9 โรง 8,000 เมกะวัตต์ ท่านนายกฯ ช่วยคิดหน่อยครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น