xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กป๊อก” ย้ำเหตุไม่ปกติจนมีข้อเสนอ รบ.ปรองดอง - “ตู่” ไล่ “บวรศักดิ์” ไปพบจิตเเพทย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย
“บิ๊กป๊อก” ยกสถานการณ์ไม่ปกติเหตุมีข้อเสนอตั้ง “รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ” แก้ขัดแย้งชาติ ด้านประธาน นปช.ไล่ “บวรศักดิ์” ไปพบจิตเเพทย์ เหตุเสนอยืดอำนาจ ส่วน “สปช.วันชัย” ยันบ้านเมืองอยู่ในภาวะไม่ปกติ เขียนรัฐธรรมนูญต้องตรงไปตรงมา ไม่ต้องอ้อมค้อม

วันนี้ (13 ส.ค.) ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงข้อเสนอคำถามประชามติตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในชาติ ของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ตนยังไม่ทราบเรื่อง ต้องแล้วแต่ประชาชนข้อเสนอดังกล่าว ไม่มีความเห็นส่วนตัว ส่วนจะเป็นการแก้วิกฤตหรือไม่นั้นก็ไม่ทราบ แต่ถ้าเป็นทางออกก็แล้วแต่ผู้ที่เสนอกันมา

ส่วนกรณีที่บางฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ เป็นการต่อท่อ หรือสืบทอดอำนาจว่า ขณะนี้ไม่ใช่สถานการณ์ที่ปกติ ในการที่จะมีคณะใดทำให้การบริหารประเทศเป็นไปอย่างครบทุกด้าน ในการปฏิรูปและความสงบเรียบร้อยให้เป็นไปตามกรอบน่าจะเป็นสิ่งที่ดีต่อประเทศชาติ อย่างไรก็ตามในส่วนข้อวิจารณ์ ข้อเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตรฯจะเป็นความพยายามสร้างอำนาจไปครอบอำนาจ ก็ยังไม่เห็นกันเลย แล้วจะไปบอกได้ไง ท่านยังไม่เห็นอำนาจ แล้วจะไปคุยได้อย่างไร

อีกด้าน นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.กล่าวผ่านรายการมองไกล ถึงแนวคิดการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ของนายบวรศักดิ์ว่า หากเขียนไว้แบบนี้คือมีการยึดอำนาจโดยคณะรัฐประหารที่ผ่านกลไกรัฐธรรมนูญ พูดง่ายๆ คณะรัฐประหารกลายสภาพเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ ถามว่ากรรมการ 23 คนนั้นมีตัวแทนเหล่าทัพกี่คน กลไกของกองทัพอยู่ในคณะกรรมการชุดนี้ มันเป็นคำตอบแล้ว การเขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้มันคือศรีธนญชัย ตนขอเสนอว่า หากจะอยู่ในอำนาจก็อยู่ต่อไปยาวๆ เลย อย่ามาเขียนกฎหมายให้เสมือนว่าคนไทยโง่และประเทศไทยเป็นตัวตลกบนเวทีโลก เพราะเรื่องแบบนี้ไม่มีในโลก บทเฉพาะกาลนี้มันคือการประจานตัวเอง คสช.จะอยู่ต่อไปอีก 5 ปีก็อยู่ไปเลย อย่ามาเขียนกฎหมายแบบนี้ เพราะมันคือการเขียนรัฐธรรมนูญแบบหน้าด้าน นิโคโล มาเคียเวลลี ผู้เขียนหนังสือ The Prince ก็ไม่สามารถเขียนอะไรที่เป็นอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตอนนี้ได้เลย ขณะเดียวกัน ข้อเสนอให้ ครม.แต่งตั้ง ส.ว.123 คน และ ส.ว.เลือกตั้ง 77 คนนั้น ถามว่า 123 คนมาจากไหน

ครม.ชุดนี้มาจากไหน มาจาก คสช.ใช่หรือไม่ เมื่อเจอไปแบบนี้ก็จบข่าว มันคือการปิดทางทุกด้านของประชาชน อย่าทำให้คนไทยรู้สึกโง่ไปกว่านี้เลย หากต้องการอำนาจก็เอาไปดีๆ การทำแบบนี้น่าสมเพช

ส่วนข้อเสนอของนายอเนก เหล่าธรรมทัศน์ สปช.ที่เสนอให้สองพรรคใหญ่ที่มาจากการเลือกตั้งร่วมตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ โดยนายกรัฐมนตรีอาจเป็นคนนอกที่เข้ามาเป็นคนกลางนั้น ตนทราบว่านายเอนกมีเจตนาดีในเรื่องนี้ แต่มันจะมีประโยชน์อะไร เพราะก็รู้กันดีแล้วว่า นายกฯคนใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ก็อาจไม่ได้มาจาก ส.ส. ตอนนี้สังคมก็รู้กันดีแล้วว่าใครจะได้เป็น ฉะนั้นสองพรรคใหญ่ก็จบข่าว เพราะเมื่อมาร่วมรัฐบาลก็เจอคณะกรรมการชุดนี้ที่มีอำนาจเหนือรัฐบาล เพราะคณะกรรมการยุทธศาสตร์มีอำนาจเหนือรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ แม้การตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้จะให้ ส.ส.4 ใน 5 ของสภาลงมติได้ แต่เมื่อมีการระบุว่า ประกาศหรือคำสั่งของหัวหน้าคณะกรรมการชุดนี้คือกฎหมาย ฝ่ายตุลาการจะแก้ไขอะไรได้

นายจตุพรกล่าวว่า “ผมเป็นห่วงนายบวรศักดิ์ที่ทำงานบนแรงกดดันสูง เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มันเครียดสำหรับคนเขียนรัฐธรรมนูญและประชาชน ฉะนั้นควรหาเวลาไปพบจิตแพทย์บ้าง”

มีรายงานว่า นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โพตส์เฟซบุ๊กส่วนตัว แสดงความเห็นมีใจความว่า

“สิ่งที่คณะผู้ยึดอำนาจ หรือ คสช.ต้องทำและต้องทำต่อไปให้กับประเทศนี้ คือ

1. ทำความมั่นคงสงบเรียบร้อยให้ได้
2. สร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น
3. ทำการปฏิรูปประเทศ

เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงของ คสช.ต้องทำให้ได้ในระดับที่มีความมั่นใจว่าประเทศจะเดินต่อไปได้ในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ถ้าทำไม่ได้หรือไม่ได้ทำ ปล่อยทิ้งๆ ขว้างๆ แล้วก็จากไปถือว่าเสียของ เสียคน ไม่มีความรับผิดชอบ

ไม่ต่างอะไรจากการปฏิวัติรัฐประหารที่ผ่านๆ มา ผู้ร่างรัฐธรรมนูญคงเข้าใจในบริบทนี้และก็คงรู้ว่าบ้านเมืองเราไม่ได้อยู่ในภาวะปกติ จะให้เป็นประชาธิปไตยจ๋าคงไม่ได้ จะให้เป็นเผด็จการต่อไปก็คงจะไม่ได้เช่นกัน คงต้องให้มันพอเหมาะพอสมกับสังคมไทยและต้องแก้ปัญหาดังที่ว่านั้นตามหน้าที่ที่ คสช.มีอยู่

จะร่างรัฐธรรมนูญแบบเหนียมๆ แอบๆ กั๊กๆ จะไปทางไหนก็ไม่ไปผมว่าคงไม่ได้ ต้องให้มีความชัดเจน ผมเข้าใจว่าที่ร่างออกมาล่าสุดให้มี ส.ว. 200 คน ครม.ตั้งกรรมการสรรหาแล้วเลือกมา 123 คน เลือกตั้ง 77 คนมีวาระ 3 ปี และให้มีกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติมีอำนาจพิเศษในภาวะวิกฤต วาระ 5 ปี

โดยบอกว่าจะให้ร่วมกันทำภารกิจปฏิรูปและสร้างความปรองดอง... ดูเหมือนว่าจะดีมีอำนาจ แต่ผมพิจารณาดูแล้วเห็นว่ามันครึ่งๆ กลางๆ อิหลักอิเหลื่อ แม้ว่าจะมีเจตนาดีแต่ไปๆ มาๆ ผมว่าคงจะทำอะไรไม่ได้จริงเพราะ

1. ส.ว. 200 คน 2 น้ำก็คงจะเข้ากันไม่ได้ ในที่สุดก็จะเป็นอิหรอบเดิม ขัดแย้งแตกแยกไปอิงแอบทางการเมืองส่วนหนึ่งแล้วก็จะไม่มีพลังอะไรในการทำงาน

2. กรรมการยุทธศาสตร์ฯแม้จะดูว่ามีพลังมีอำนาจ แต่ในที่สุดเมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ยิ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามเค้าจะเอาด้วยกับกรรมการยุทธศาสตร์ฯ หรือ? ก็คงขัดแข้งขัดขาปัดกันไปปัดกันมาแล้วในที่สุดก็ทำอะไรไม่ได้ นั่งมองตากันปริบๆ อย่าลืมว่าตอนนั้นรัฐบาลเขามาจากการเลือกตั้งเขาจะฟังกรรมการยุทธศาสตร์ฯหรือ? ถ้าไม่ใช่พวกเขาและเป็นฝ่ายตรงข้าม

3. สรุปว่าที่เขียนมาดูดีแต่ในทางปฏิบัติคงไม่ได้เป็นเช่นนั้น กลับจะกลายเป็นองค์กรที่มานั่งขัดแย้งกันไปเปล่า ที่จะทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย สร้างความปรองดองสมานฉันท์และทำการปฏิรูปประเทศก็คงทำไม่ได้

ไหนๆ เมื่อมันเป็นความรับผิดชอบของผู้ยึดอำนาจคสช.ก็เขียนไปให้ชัดเจนไม่ได้หรือว่าต้องการแบบนี้ ทำอย่างนี้แล้วหลังจากนั้นค่อยให้เป็นประชาธิปไตยจ๋าแบบที่ควรจะเป็นโดย

1. เขียนไว้ในบทเฉพาะกาลเลยว่าในระยะเริ่มต้น 4 ปีแรกให้มีตัวแทนของประชาชนจากการเลือกตั้ง ส.ส. 300 คน โดยเอาจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง (One man, one vote) ไม่ต้องมี ส.ส.สัดส่วนอะไรทั้งนั้น

2. ให้มี ส.ว.จากการสรรหาจากบุคคลทุกสาขาอาชีพที่มีพลังมีอำนาจในสังคมในประเทศ 200 คนมาร่วมกันเป็นสมาชิกรัฐสภา มีอำนาจและหน้าที่ศักดิ์และสิทธิเท่ากับ ส.ส.

3. การดำเนินการดังกล่าวเป็นการประนอมอำนาจของบุคคลที่มาจากการเลือกตั้งและบุคคลที่มีพลังอำนาจทางสังคมในประเทศให้มาทำงานร่วมกัน มาสร้างบ้านแปลงเมือง ช่วยกันทำให้บ้านเมืองเข้ารูปเข้ารอย ทำภารกิจดั่งที่ว่ามานั้น รวมทั้งการปูพื้นฐานของบ้านเมืองในระยะ 4 ปีแรก

4. จะเห็นได้ว่าฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่ใหญ่คับบ้านคับเมืองเกินไปนัก ฝ่ายที่มาจากสรรหามีจำนวนน้อยกว่าก็มาถ่วงดุลช่วยกันทำงานร่วมแรงร่วมใจกันแก้ปัญหาของประเทศในภาวะวิกฤต

5. กรรมการยุทธศาสตร์ฯก็จะมีพลังมีอำนาจช่วยกันขับเคลื่อนประเทศไปพร้อมๆกับรัฐบาลอันเป็นการทำงานที่มีผลสำเร็จได้จริงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

ผมว่าถ้าเขียนรัฐธรรมนูญแบบตรงไปตรงมาแบบนี้แหละไม่ต้องแอบไม่ต้องเหนียมเพราะบ้านเมืองอยู่ในภาวะไม่ปกติ ใครจะว่าอย่างไรก็ช่างเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของ คสช.ที่จะต้องทำต่อ ทำให้เสร็จด้วยกลไกที่ตรงไปตรงมานี่แหละ ไม่ต้องอ้อมค้อมแบบที่ออกมาล่าสุดนั้น... แล้วเราจะสร้างปัญหาไว้ทำไม ถ้าผมเขียนรัฐธรรมนูญได้ผมอยากเขียนอย่างที่ว่านี้แหละครับ... ชัดเจน.. ตรงไปตรงมาดีครับ”
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช.
นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
กำลังโหลดความคิดเห็น