xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูปพลังงานไทยไม่คืบหน้า…แต่โลกเขาไปไกลแล้ว (ครับท่านนายกฯ) / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์  :  โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท  มีแต้ม
 
ผมได้ฟัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพูดในที่ประชุม “แม่น้ำ 5 สาย” แล้วผมรู้สึกว่าท่านมีความตั้งใจที่จะปฏิรูปประเทศเป็นอย่างมากจริง แต่ท่านยังไม่รู้ว่าจะปฏิรูปอย่างไรดี

ในที่นี้ ผมจะกล่าวเฉพาะเรื่องพลังงานซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก และเชื่อมโยง หรือเกี่ยวพันกันกับมิติอื่นๆ เกือบทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคอร์รัปชัน (ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติได้เลือกให้เป็นปัญหาสำคัญที่สุด) ความเหลื่อมล้ำในสังคม การท่องเที่ยว โลกร้อน และการละเมิดสิทธิมนุษยชน พบว่า ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้าใน 3 เรื่องหลัก คือ

หนึ่ง เรื่องสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ท่านนายกฯ ได้เสนอให้ตั้งกรรมการ 3 ฝ่าย มี ภาคราชการ ภาคนักวิชาการที่สนับสนุนแนวคิดของราชการ และภาคประชาชนที่เห็นต่าง เท่าที่ผมทราบทางกระทรวงพลังงานโดยรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่จะทำเหมือนเดิม คือ จะเปิดสัมปทานในต้นปีหน้า

สอง เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ ก่อนการเลิกอดอาหารประท้วง ท่านนายกฯ สั่งให้ตั้งกรรมการแบบเดิม แต่ไม่ได้มีการประชุมกันเลย ขณะเดียวกัน ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ก็เดินหน้าในพื้นที่ พร้อมกับการโฆษณาเท็จทางโทรทัศน์ต่อไป

สาม การปฏิรูปเร็วที่เสนอโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติเรื่อง “โซลาร์รูฟเสรี” ก็ไม่มีอะไรคืบหน้าแม้แต่น้อย

ผมดีใจมากที่ท่านนายกฯ พูดตอนหนึ่งในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ (30 ตุลาคม 58) ว่า “พื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย ต้องไม่ไปรบกวนคนอื่น ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน เขาเรียกว่าประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ไม่ละเมิดสิทธิเขา และกฎหมายจะทำให้สังคมมีความเท่าเทียมกัน กฎหมายอันเดียวกัน” 

ผมขอเรียนท่านนายกฯ ในที่นี้เลยว่า ความคิดดังกล่าวของท่านนั้นถูกต้องแล้วครับ และในปัจจุบันนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับกิจการพลังงานได้ด้วยครับ แต่โรงไฟฟ้าถ่านหินทำให้คนอื่นเดือดร้อนอย่างแน่นอนครับ ในอดีตชาวโลกให้การยอมรับโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ในปัจจุบันนี้เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนได้เกิดขึ้นแล้ว ต้นทุนก็ถูกกว่าถ่านหิน ชาวโลกเขาจึงร่วมใจปฏิเสธถ่านหิน ซึ่งผมจะนำเสนอในตอนท้ายๆ ของบทความนี้

ความจริงแล้ว สิ่งที่ท่านนายกฯ พูด เป็นเพียงหนึ่งในสองของ “คุณค่าหลัก 2 ประการของมนุษย์” อีกข้อหนึ่งที่เหลือคือ “ความเป็นอิสระ และพึ่งตนเองของมนุษย์” การสนับสนุนให้คนสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองบนหลังคา ที่เหลือแบ่งปันหรือขายให้แก่สายส่งไฟฟ้า คือ หลักการพึ่งตนเอง ไม่เป็นทาสใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อค้าถ่านหิน หรือเป็นหลักเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเองครับ การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ซึ่งส่วนใหญ่อยู่บนพื้นที่บก บนพื้นที่ทำกินของเกษตรกรนอกจากจะทำให้คนอื่นเดือดร้อนแล้ว ยังไม่มีความจำเป็นในขณะนี้เพราะสามารถใช้แสงแดดแทนได้

ผมเข้าใจท่านดีว่า ท่าน พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เตรียมตัวมาเพื่อจะเป็นนายกรัฐมนตรี จึงไม่มีการตกผลึกทางความคิดในเรื่องที่ค่อนข้างจะเฉพาะทางอย่างเรื่องพลังงาน ประกอบกับท่านไม่มีความเข้าใจในหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งเป็นหลักการสำคัญ และค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศไทย ท่านจึงได้เคยสารภาพออกมาครั้งหนึ่งว่า “ถ้าไม่ให้ผมฟังข้าราชการแล้วจะให้ผมฟังใคร” 

ผมขอเรียนตามตรงว่า ความคิดของท่านนายกฯ ประยุทธ์ ได้ล้าสมัย (แม้ท่านจะมีเจตนาดีมาก) และไม่สอดคล้องบริบทของสังคมโลกยุคใหม่ที่มนุษย์สามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วมาก

ผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องอนาคต (Futurist) ท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า “ในอีก 15 ปีข้างหน้า (นับจาก 2015) เด็กชนบทในทวีปแอฟริกาจะมีความรู้มากกว่าประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในวันนี้” ข้อความนี้คงจะทำให้เราเห็นได้ว่าโลกในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วขนาดไหน

นอกจากเรื่องความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของสังคมแล้ว ท่านนายกฯ ยังพูดเองว่า “ต้องตัดเสื้อให้เข้ากับคน” นั่นคือ การมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งต้องมีขั้นมีตอนที่สำคัญครบถ้วน จะทำแบบลวกๆ เหมือนที่ข้าราชการไทยนิยมทำกันไม่ได้แล้วครับ

ผมเคยเขียนบทความชิ้นหนึ่งในทำนองว่าใช้ “ยุทธศาสตร์โลกล้อมประเทศไทย” คือ เอาเรื่องดีๆ จากต่างประเทศมาสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนไทยเรา (ซึ่งไม่มีความคืบหน้า อืดเหมือนเรือเกลือ-สำนวนคนปักษ์ใต้) มาวันนี้ผมขอนำเสนอ 3 ชิ้น ชิ้นแรกถือเป็นข่าวดีของโลก ส่วนอีก 2 ชิ้นเป็นงานศึกษา และข้อมูลล่าสุดที่น่ากลัวมาก

เอาข่าวดีก่อนนะครับ มาจากที่ประชุมที่เกิดจากการรวมตัวอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนของผู้นำทางด้านการเงินของโลก เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม นี้เองที่ Guildhall in the City of London ในเรื่องที่เกี่ยวกับความเสี่ยงทางการเงิน ก่อนการประชุมใหญ่ของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (COP21) ที่จะมีขึ้นที่กรุงปารีส ในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้

ข่าวจาก http://blueandgreentomorrow.com/ ระบุว่าในการประชุมนี้จะมีการฉายวิดีโอของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ (HRH The Prince of Wales) ซึ่งพระองค์ตรัสว่า “การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกำลังเพิ่มความเสี่ยงให้แก่ภาคการเงิน ซึ่งมี 2 ปัจจัยที่จะต้องพิจารณา คือ หนึ่ง จะถอนการลงทุน โดยเฉพาะจากภาคการลงทุนที่เกี่ยวข้องต่อเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยตรง ซึ่งจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงมากจากพันธสัญญาที่จะจำกัดอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงถึง 2 องศาเซลเซียส หรือข้อที่สอง จะลงทุนในภาคที่สนับสนุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ซึ่งจะทำให้มีสถานะที่ดีกว่าในแง่ของความเสี่ยง และโอกาส นักลงทุนบางคน เช่น กลุ่มกองทุน หรือมูลนิธิรักโลก หรือเพื่อนมนุษย์ คงจะต้องพิจารณาว่าจะยังคงลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคาร์บอนสูงซึ่งมีความขัดแย้งที่ชัดเจนต่อภารกิจและเป้าหมายโดยรวมของพวกเขา”

อีกตอนหนึ่งพระองค์ตรัสว่า “นักลงทุนทั้งหลายต้องตัดสินใจว่าจะเป็นผู้เอาประโยชน์จากอนาคต หรือจะเป็นผู้สร้างอนาคต” ดังข้อความในภาพประกอบ
 

 
ตามความเข้าใจของผมแล้ว ผมคิดว่าการประชุมเรื่องโลกร้อนของสหประชาชาติ ครั้งที่ 21 ครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกที่เกิดผลในทางปฏิบัติจากผู้นำประเทศเพราะมาตรการที่เรียกว่า “ถอนการลงทุนจากพลังงานฟอสซิล” หรือ “เก็บมันไว้ในดิน” นั้นมีพลัง และเติบโตอย่างรวดเร็วมากกระจายไปทั่วโลก

รายงานข่าวระบุว่า ปัจจุบันได้มีการถอนการลงทุนจากพลังงานฟอสซิลแล้วจำนวน 2.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 6.8 เท่าของจีดีพีประเทศไทยปี 2557 จาก 400 สถาบันการศึกษา 430 บริษัท และ 2,040 ปัจเจกบุคคลจาก 43 ประเทศซึ่งรวมถึงดาราชื่อดังอย่าง Leonardo DiCaprio

ผมได้นำภาพสรุปสั้นๆ เกี่ยวกับอุณหภูมิของอากาศโลกไว้ด้วยครับซึ่งสรุปได้เป็น 2 กรณี

ถ้าประชากรทั้งโลกยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามปกติ (โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเลย) ในปี 2100 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกโดยเฉลี่ยจะสูงขึ้น 4.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้ได้สูงเกินไปแล้วประมาณ 0.84 องศาเซลเซียส

ถ้าทำตามแผนที่ได้ยื่นไว้แล้ว ตราบถึงวันที่ 21 ตุลาคม 58 ประเทศต่างๆ ได้เสนอแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไว้แล้ว อุณหภูมิจะลดลงมาเหลือ 3.5 องศาเซลเซียส แต่เป้าหมายที่ปลอดภัย คือ 2 องศา ดังภาพประกอบ

โดยสรุปก็คือ ถ้าทุกประเทศทำทุกอย่างตามที่ตนได้เสนอไว้สำหรับการประชุมคราวหน้ารวมกันแล้ว ยังคงทำให้โลกตกอยู่ในอันตราย ยังไม่ถึงระดับที่ปลอดภัย จึงต้องลดให้มากกว่าที่ได้เสนอมาแล้ว
 

 
ยังเหลือข่าวร้ายๆ อีก 2 ข่าวตามสัญญาครับ

ข่าวแรกเป็นผลงานวิจัยของอาจารย์มหาวิทยาลัย 3 คน จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และ University of California, Berkeley สหรัฐอเมริกา ซึ่งผลงานดังกล่าวเพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature (วารสารวิทยาศาสตร์แบบสหวิทยาการ ของประเทศสหราชอาณาจักร เริ่มตั้งแต่ปี 1869) เมื่อ 21 ตุลาคม 2558 ในชื่อเรื่อง “Global non-linear effect of temperature on economic production” โดย Marshall Burke (ภาควิชาวิทยาศาสตร์ระบบโลก), Solomon M. Hsiang (เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ)& Edward Miguel (ภาควิชาเศรษฐศาสตร์)

เป็นการศึกษาถึงผลกระทบต่อผลิตภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Productivity) อันเนื่องมาจากอุณหภูมิของโลก ในปี 2100 หรืออีก 85 ปีข้างหน้า เป็นการศึกษาด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ โดยใช้ข้อมูลด้านเศรษฐศาสตร์ และอุณหภูมิประมาณ 190 ประเทศ

ผมได้อ่านวิธีการศึกษาของเขาแบบผ่านๆ แล้วครับ จะถูกจะผิดประการใด ผลงานได้ผ่านการตรวจสอบจากนักวิชาการแล้วครับ ในที่นี้ผมขอนำผลการศึกษาเป็นรายประเทศซึ่งปรากฏอยู่ในแผนที่แล้วครับ

โดยภาพรวม การศึกษาพบว่า ในประเทศที่มีอากาศหนาว อุณหภูมิที่สูงขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจจะดีขึ้นโดยที่อุณหภูมิที่เหมาะที่สุดอยู่ที่ 13 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิสูงกว่านี้ผลิตภาพทางเศรษฐกิจจะลดลงทั้งด้านแรงงาน และการเกษตร โดยสรุปการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจะปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจของโลกใหม่ ประเทศในเขตหนาวจำนวนไม่กี่ประเทศจะดีขึ้น ในขณะที่ประเทศที่อุณหภูมิปานกลาง และร้อนจะแย่ลง 

เมื่อพยากรณ์ไปถึงปี 2100 พบว่า รายได้ของประชากรโลก (ในสถานการณ์ที่เกิดโลกร้อน) จะลดลง 23% เมื่อเทียบกับรายได้ที่ไม่มีสถานการณ์โลกร้อนการศึกษานี้ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น พายุ เป็นต้น ซึ่งผมได้กล่าวถึงในบทความเมื่อสัปดาห์ก่อน

เมื่อพิจารณาเฉพาะประเทศไทย พบว่า ผลิตภาพทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะลดลงถึง 90% จากกรณีที่ไม่มีปัญหาโลกร้อน ไม่ใช่จีดีพีในปัจจุบันนะครับสำหรับประเทศในเขตหนาว เช่น รัสเซีย สวีเดน แคนาดา จะเพิ่มขึ้น 200-419%
       
       
ที่น่าสนใจ คือ สหรัฐอเมริกาซึ่งได้ปฏิเสธไม่ยอมลงนามในพิธีสารเกียวโตเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาตลอด ผลการศึกษาพบว่า จีดีพีเฉลี่ยจะลดลง 36% ออสเตรเลีย และญี่ปุ่นก็ลดครับ 
 

 
มิน่าละ สหรัฐอเมริกาดูท่าทางเอาจริงเอาจังต่อการประชุมสหประชาชาติที่จะเริ่มขึ้นในสิ้นเดือนนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแผนพลังงานสะอาดของประธานาธิบดีโอบามา

ผลงานวิจัยนี้ยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจอีกมากครับ สมควรอย่างยิ่งที่นักวิชาการในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์มหาวิทยาลัยจะได้ศึกษาให้ลึกซึ้ง และวิพากษ์วิจารณ์แล้วนำไปสอนลูกศิษย์ลูกหา สำหรับผมเองเกษียณมาหลายปีแล้วครับ

ต่อไปเป็นข่าวร้ายชิ้นที่สองครับ เรากำลังพูดถึงปัญหาโลกร้อนซึ่งเกิดจากการใช้พลังงานฟอสซิล ผมจึงจะขอนำเสนออุณหภูมิที่ร้อนที่สุดในโลกประจำเดือนตุลาคมปีนี้ แต่กลับพบว่าเป็นปีที่ร้อนที่สุดตั้งแต่มีการจดบันทึกในประวัติศาสตร์ คือร้อนถึง 48.4 องศาเซลเซียส เกิดขึ้นที่ประเทศแอฟริกาใต้ครับ ผมนำกราฟมาให้ดูเป็นหลักฐานเพื่อตอกย้ำว่านี่เป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เพ้อเจ้อ (ผมไม่อยากใช้คำว่า “มโน” เพราะจริงๆ แล้วเป็นคำที่มีความหมายในทางที่ดี แต่ถูกทำให้มีความหมายไปในด้านลบ เช่นเดียวกับชื่อ “ประสาท”)
 

 
มาถึงบทสรุปครับ ผมได้เริ่มต้นด้วยความไม่คืบหน้าในการปฏิรูปพลังงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งๆ ที่ประชาชนไทยได้เรียกร้องอย่างแข็งขัน ยาวนาน ได้เห็นความก้าวหน้าของชาวโลกโดยการประสานของสหประชาชาติ และการกดดันขององค์กรภาคประชาชนทั่วโลก เราได้เห็นความก้าวหน้าเชิงนโยบาย ได้เห็นผลงานวิจัยที่ออกไปทางน่ากลัวมากๆ ได้เห็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์

ผมขอเพิ่มผลสรุปที่เป็นข่าวดีอีก 2 ชิ้นสั้นๆ คือ รัฐบาลจีนกำลังจะยกเลิกการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ในช่วง 2016-2020 และงานวิจัยของธนาคารเพื่อการลงทุน, Goldman Sachs ของสหรัฐอเมริกาว่าความต้องการถ่านหินจะลดลง และไม่มีทางกลับมาฟื้นใหม่ได้อีก
 

 
แต่ประเทศไทยเรากำลังจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่อีก 9 โรง 8,000 เมกะวัตต์ ท่านนายกฯ ช่วยคิดหน่อยครับ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น