ริมฝั่งเจ้าพระยา
โดย...สุนันท์ ศรีจันทรา
เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา สมาพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติ ได้เดินทางยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เสนอให้แยกงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อความเป็นอิสระและป้องกันการแทรกแซงงานสอบสวน
สมาพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติ มีสมาชิกประมาณ 1,450 คน โดยเป็นพนักงานสอบสวนสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่กระจายอยู่ทั่วประเทศจากจำนวนทั้งหมดประมาณ 11,000คน ยศระดับนายร้อยตำรวจถึงระดับพันตำรวจเอก
เหตุผลที่ตำรวจกลุ่มนี้ออกมาเคลื่อนไหว เรียกร้องให้ตั้งงานสอบสวนเป็นหน่วยงานอิสระ แยกออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยอาจสังกัดกระทรวงยุติธรรมหรือขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น เนื่องจากปัจจุบัน พนักงานสอบสวนไม่สามารถดำรงความยุติธรรมได้
เพราะถูกผู้บังคับบัญชาแทรกแซง สั่งให้สรุปสำนวนการสอบสวนไปในทางใดทางหนึ่ง เปลี่ยนถูกให้เป็นผิดหรือ เปลี่ยนผิดให้เป็นถูกตลอดเวลา
ตำรวจที่ออกมาเคลื่อนไหว ต้องถือเป็นตำรวจน้ำดี ต้องการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตยุติธรรม และเบื่อหน่ายต่อบรรดา “นาย” ทั้งหลายที่ค้าคดี โดยเข้ามาครอบงำการสอบสวน
นายตำรวจซึ่งมีหน้าที่สอบสวนจำนวนกว่า 1 พันคน ในนามสมาพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติ ได้แสดงความกล้าหาญมีความกล้าหาญ เพื่อปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยไม่กลัวนายตำรวจใหญ่ ไม่หวั่นไหวถูกกลั่นแกล้ง ไม่กลัวจะถูกหมายหัว
และไม่กลัวว่าจะไปขวางทางการแสวงหาผลประโยชน์ของตำรวจด้วยกัน
งานสอบสวนเป็นช่องทางสำคัญในการทำมาหากินของตำรวจ โดยมีการค้าสำนวนเพื่อต่อรองเรียกรับผลประโยชน์ และจะทำสำนวนการสอบสวนอ่อน จนผู้กระทำความผิดลอยนวล หรือจะทำสำนวนรัดกุม จนผู้ทำความผิดดิ้นไม่หลุดก็ได้ แล้วแต่ว่าจะตกลงจ่ายผลประโยชน์กันอย่างไร
การแยกงานสอบสวน จึงเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะเมื่องานสอบสวนหลุดจากมือตำรวจแล้ว ช่องทางที่ตำรวจจะนำไปใช้ “ตบทรัพย์” ก็เหลือน้อยลง
นายตำรวจใหญ่ๆ ซึ่งมักจะไม่ใช่ตำรวจดี จึงดาหน้าสลอน ต่อต้านการแยกงานสอบสวน
ประวัติศาสตร์ขององค์กรตำรวจ ไม่เคยมีนายตำรวจรวมตัวกันแสดงพลัง ลุกขึ้นมาประกาศปลดแอกตัวเองจาก “นาย” ไม่เคยมีนายตำรวจกลุ่มใดออกมาประจานความเหลวแหลกของตำรวจ
และไม่เคยมีนายตำรวจหน้าไหน รวมตัวกันเรียกร้องปิดช่องทางทำมาหากินโดยมิชอบของตำรวจด้วยกันเอง
เพิ่งมีนายตำรวจที่เป็นสมาชิกสมาพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติเท่านั้นที่พลิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของคนในแวดวงเครื่องแบบสีกากี โดยขอให้ทำลายความชั่วร้ายในระบบตำรวจ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติล้มละลายในความศรัทธามานานแล้ว ประชาชนต้องการเห็นการผ่าตัดใหญ่ในองค์กรแห่งนี้ และเริ่มมีความหวัง เมื่อเกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2556
เสียงเรียกร้องการปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังมาตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุฬานนท์ ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ก็ไม่มีอะไรในกอไผ่
ไม่มีรัฐบาลชุดไหนกล้าแตะต้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ในช่วงรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่มีใครคาดหวังการปฏิรูปตำรวจกันอยู่แล้ว เพราะรัฐบาลภายใต้ระบอบทักษิณ ดึงตำรวจเข้ามาเป็นพวก ใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม และตำรวจก็ยอมก้มหัวรับใช้โดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรี
สิ่งที่น่ารันทดใจก็คือ นายตำรวจใหญ่ที่รับใช้รัฐบาลภายใต้ระบบทักษิณอย่างออกหน้าออกตาหลายคน ปัจจุบันกลับได้ดิบได้ดีเสียอีก
1 ปีเศษผ่านไป นับจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ วาระการปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดูเหมือนจะถูกเก็บไว้ในลิ้นชัก ไม่ค่อยถูกพูดถึงเท่าไหร่
และถ้าจับท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ ดูเหมือนว่า การปฏิรูปตำรวจ คงจะไม่เกิดขึ้นอีกตามเคย
ถ้ารัฐบาลทหาร ไม่กล้าแตะต้องตำรวจ ชาตินี้คงไม่มีรัฐบาลไหนปฏิรูปตำรวจแล้ว
สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะถูกปล่อยให้ฟอนเฟะ กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะการทุจริต เป็นศูนย์รวมของการประพฤติมิชอบ และเป็นต้นธารของความเลวร้ายต่างๆในสังคม ทำให้ประชาชนต้องทุกข์ตรมในความพฤติกรรม โดยยังไม่มีใคร่ใส่ใจช่วยปลดทุกข์ของประชาชน
วาระการปฏิรูปตำรวจถือว่าช้ามากเกินไปแล้ว ทั้งที่ไม่น่าจะมีอะไรติดขัด เพราะทุกอย่างพร้อมจะเดินหน้าได้ทันที ประชาชนก็สนับสนุนเต็มที่ ล่าสุดแม้แต่ตำรวจด้วยกันเอง ยังทนความทุเรศขององค์กรไม่ไหว และลุกฮือขึ้นมาทวงถามการปฏิรูปอีกแรง
ต้องย้อนกลับไปถามพล.อ.ประยุทธ์กันแล้ว จะว่าอย่างไรในวาระปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังติดขัดตรงไหนช่วยแจ้งให้ประชาชนรับทราบด้วย
ทุกฝ่ายพร้อมแล้ว ทุกฝ่ายออกมาขับเคลื่อนให้ปฏิรูปตำรวจกันหมดแล้ว หรือว่าเหลือพล.อ.ประยุทธ์เพียงคนเดียวที่ยังไม่พร้อม
เป็นไปได้หรืออดีต ผบ.ทบ. และหัวหน้า คสช.คนปัจจุบันจะกลัวตำรวจ เกรงใจตำรวจ จนไม่กล้าปฏิรูป