xs
xsm
sm
md
lg

ก.วิทย์อัดงบพันล้าน ชง4มาตรการช่วย”เอสเอ็มอี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลังจากคณะรัฐมนตรี เห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอมาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ เอสเอ็มอี วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยความร่วมมือของกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อ (สสว.) และหน่วยงานอื่นเพื่อสร้างความเข้มแข็งของ เอสเอ็มอี สร้างผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์ และนวัตกรรมช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหา โดยคาดว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ทั้งสิ้น 100,000 ราย
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 986 ล้านบาท เพื่อเร่งดำเนินการ 4 โครงการสำคัญ ประกอบด้วย
1. โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย หรือ ITAP เพื่อสร้างความเข้มแข็งโดยแก้ไขปัญหาการเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้เอสเอ็มอี ได้รับการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึก มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์เดิม หรือ พัฒนาให้ได้ระบบมาตรฐาน โดยตั้งเป้าไว้ที่จำนวน 945 ราย ภายใน 1 ปี ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 416 ล้านบาท โ
2. โครงการคูปองนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเอสเอ็มอี สู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อสนับสนุนให้ เอสเอ็มอี 340 ราย นำองค์ความรู้หรือ ผลงานวิจัยมาสร้างนวัตกรรม และนำร่องสร้างต้นแบบเชิงพาณิชย์ ส่งเสริมเครือข่ายผู้ให้บริการนวัตกรรม 500 ราย โดยจัดสรรงบประมาณไว้ 515 ล้านบาท ซึ่งคาดว่า จะทำให้เกิดมูลค่าการลงทุนใหม่จากภาคเอกชนอีกไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานใหม่ในธุรกิจนวัตกรรมไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย และสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจอีกไม่ต่ำกว่า 2,550 ล้านบาท
3.โครงการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ หรือ Start-up Voucherเพื่อผลักดันธุรกิจให้เข้าสู่กระบวนการ "เร่ง" การเจริญเติบโต 50 ราย โดยให้คำปรึกษา รับการอบรมทั้งด้านการสร้างความคิด การพัฒนา การออกแบบด้านธุรกิจ การสร้างต้นแบบ การศึกษาตลาด การสำรวจตลาด รวมถึงการเชื่อมโยงธุรกิจให้เข้าถึงแหล่งทุนที่เหมาะสม การจัดเวทีประกวดนวัตกรรม ฯลฯ โดยจัดสรรงบประมาณไว้ 50 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าผู้เข้าร่วมโครงการจะสามารถสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท
4. โครงการ “หิ้งสู่ห้าง”30,000บาท ทุก IP ซึ่งเป็นการต่อยอดความสำเร็จของโครงการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ โดยเปิดให้ผู้สนใจเข้าถึงสิทธิในการใช้ผลงาน 3-5 ปี และ มีค่าธรรมเนียมเพียง 30,000 บาท ชำระเมื่อลงนามในสัญญา มีค่าตอบแทนการใช้สิทธิ หรือ Royalty Fee 2% ซึ่งสามารถนำค่าธรรมเนียมมาหักออกได้ เมื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์แล้ว ซึ่งในการดำเนินโครงการนี้ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 58 นี้ มีการจองเทคโนโลยี 72 ชิ้นจาก 82 ชิ้น โดยปี 2559 ตั้งเป้าใช้งบประมาณเพียง 5 ล้านบาท แต่จะก่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีได้ถึง 960 ราย
"นี่คือสิ่งที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะดำเนินการเสริมสร้างขีดความสามารถและสร้างความเป็นเลิศของเอสเอ็มอี ในการเพิ่มมูลค่าจากการต่อยอดและใช้ประโยชน์งานวิจัยและเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ" รมว.วิทยาศาสตร์ กล่าว
ด้านพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลออกมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับหมู่บ้าน โดยให้สินเชื่อกับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ที่ได้รับการจัดชั้นเป็นกองทุนระดับ A และ B จากสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ กองทุนละไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขไม่ให้กองทุน Refinance หนี้เดิม เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานให้กับกองทุนฯ กำหนดวงเงิน 60,000 ล้านบาท ประกอบด้วย วงเงินสินเชื่อของธนาคารออมสิน 30,000 ล้านบาท และวงเงินสินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 30,000 ล้านบาท โดยให้ดำเนินการทำนิติกรรมสัญญาให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธันวาคม 2558 นั้น ล่าสุด มีกองทุนยื่นขอรับการสนับสนุนแล้ว จำนวน 46,489 กองทุน จากเป้าหมาย 59,875 กองทุน คิดเป็นร้อยละ 77.64 โดยทั้งสองธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 38,683 กองทุน วงเงิน 37,458,705,114 บาท จากเป้าหมาย 60,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 62.43 มีผู้รับสินเชื่อโดยตรง จำนวน 2,382,117 ราย
สำหรับรายละเอียดผลการให้สินเชื่อ มีดังนี้ ธนาคารออมสิน มีกองทุนแจ้งความประสงค์ขอรับการสนับสนุน จำนวน 24,405 กองทุน อนุมัติสินเชื่อแล้ว 21,205 กองทุน วงเงิน 21,142,544,701 บาท สมาชิกได้รับประโยชน์ 1,362,413 ราย วัตถุประสงค์ของการให้สินเชื่อ เพื่อนำไปประกอบอาชีพเกษตรกรรม ค้าขาย รับจ้าง บริการ และบริการร้านค้า เป็นต้น ส่วนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มีกองทุนแจ้งความประสงค์ จำนวน 22,084 กองทุน อนุมัติสินเชื่อแล้ว 17,478 กองทุน วงเงิน 16,316,160,413 บาท สมาชิกได้รับประโยชน์ 1,019,760 ราย วัตถุประสงค์ของการให้สินเชื่อประกอบด้วย เพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม เพื่อประกอบอาชีพนอกภาคเกษตรกรรม และเพื่อความจำเป็นฉุกเฉิน
ขณะเดียวกัน สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติได้ประสานภาคีเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อออกติดตามตรวจสอบการนำเงินไปใช้ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ และร่วมกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จัดอบรมเรื่องการพัฒนาอาชีพ การบริหารจัดการเงิน และการตลาด รวมทั้งติดตามประเมินผลเพื่อพัฒนาปรับปรุงการดำเนินโครงการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้วางแผนจัดทำโครงการตลาดชุมชนเพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกที่ได้รับสินเชื่อนำผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโครงการมาจำหน่ายต่อไป รัฐบาลมั่นใจว่าโครงการนี้จะช่วยให้พี่น้องประชาชนมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อต่อยอดการประกอบอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคง เพิ่มความเข้มแข็งและช่วยกระตุ้น เศรษฐกิจในระดับฐานรากซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไปทั้งนี้ กองทุนฯ หรือประชาชนที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ 0 2100 4209 ต่อ 2410, 2462 และ 2459
--
กำลังโหลดความคิดเห็น