xs
xsm
sm
md
lg

ราคาที่แนวรถไฟฟ้าพุ่ง75% สีม่วงฮอตแตะ2.4แสน/ตร.ว.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ศูนย์ข้อมูลฯประเมินผลจากมาตรการลดค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนอง หนุนเกิดการโอนทั่วประเทศ 1.5-1.6 แสนหน่วย มูลค่ารวม 4.7 แสนล้านบาท คาดรายได้รัฐลดลงไป 14,000 ล้านบาท ธนารักษ์ เผยราคาประเมินรอบบัญชีใหม่ คาดราคาประเมินทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 25% แรงหนุนจากเมืองท่องเที่ยว ส่วนกรุงเทพฯราคาเพิ่มขึ้น 15.78% พระโขนงเพิ่มสูงสุด ขณะที่ราคาประเมินตามแนวรถไฟฟ้าพุ่ง 75% โดยเฉพาะสายสีม่วงร้อนแรง เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.15-2.4 แสนบาทต่อตร.วา

วานนี้ (27 ต.ค.) ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ จัดสัมมนารายงานผลสำเร็จโครงการที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ณ โรงแรมพูลแมน กรุงเทพฯ โดยนายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ระบุถึงผลจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้อนุมัติเมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยจากแยกเป็นส่วนของการลดค่าธรรมเนียมการโอน(2%)และจดจำนอง(1%) เหลือ 0.01 % ของราคาประเมินนั้น

มีการคาดการณ์ว่า ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า (สิ้นสุดเดือน 30 เม.ย.59) จะมีประชาชนมาใช้สิทธิ์ซื้อขายโอนตามมาตรการทั่วประเทศ 1.5-1.6 แสนหน่วย เป็นที่อยู่อาศัยใหม่เกือบ 1 แสนหน่วย และที่อยู่อาศัยมือสอง 60,000 หน่วย มูลค่ารวม 4.7 แสนล้านบาท โดยที่ภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุนในส่วนนี้ตัวเลขกว่า 14,000 ล้านบาท ในส่วนของมาตรการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 20% โดยนำราคาบ้านที่ไม่เกิน 3 ล้านบาท มาหักลดหย่อนภาษีได้ในช่วง 5 ปี ซึ่งมีระยะเวลาสิ้นสุดมาตรการ 31 ธ.ค. 59 นั้น ประมาณการที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จพร้อมโอนเป็นบ้านหลักแรกทั่วประเทศอยู่ที่ 79,300 หน่วย มูลค่า 125,000 ล้านบาท หรือเป็นส่วนที่รัฐต้องเข้าสนับสนุนเฉลี่ย 25,000 ล้านบาทต่อปี แต่ทั้งนี้ ใช่ว่ารัฐต้องสนับสนุนทั้งหมด ขึ้นอยู่กับฐานภาษี

"เรื่องหักลดหย่อนภาษีนั้น ผมคิดว่า รัฐบาลพยายามไม่ประชานิยม แต่ทำอย่างไรที่จะให้เงินลงไปแล้วเกิดประโยชน์ ดูไม่ให้เกิดภาวะโอเวอร์ซัพพลาย ซึ่งในมาตรการนี้ รัฐบาลควักเงินน้อย อย่างไรก็ดี สิ้นไตรมาส 3 ดัชนีเชื่อมั่นของภาคอสังหาริมทรัพย์ดีขึ้น หลังจากร่วงมา 2 ไตรมาส"นายสัมมากล่าว

สำหรับสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยระหว่างเดือนม.ค. - มิ.ย. 58 มีโครงการที่อยู่อาศัยประเภทแนวราบและคอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างการขายประมาณ 3,500 โครงการทั่วประเทศ แยกเป็นบ้านจัดสรร 2,500 โครงการ และอาคารชุด 1,000 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 2.5 ล้านล้านบาท คิดเป็น 20% ของจีดีพี
ส่วนมูลค่าของหน่วยที่เหลือขายของโครงการที่อยู่ระหว่างการขายทั้งบ้านจัดสรรและห้องชุดรวมกันประมาณ 845,000 ล้านบาท

ในส่วนของตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีหน่วยในผังของโครงการที่อยู่ระหว่างการขายทั้งบ้านจัดสรรและห้องชุดรวม 402,000 หน่วย ทั้งนี้มีหน่วยเหลือขายรวม 134,400 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 467,900 ล้านบาท

อย่างไรก็ดีภาพรวมของตลาดที่อยู่อาศัยในรอบ 3 ปีล่าสุดนั้นพบว่ามูลค่าของหน่วยที่อยู่อาศัยที่เปิดขายใหม่ทั่วประเทศโดยรวมอยู่ที่ 400,000 -450,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนมูลค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างทั่วประเทศคาดว่าปี 58 จะทะลุ 3 ล้านล้านบาท ขณะที่มูลค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ในแต่ละปีประมาณ 500,000 ล้านบาทต่อปี คาดว่าปีนี้ สินเชื่อเฉียด 600,000 ล้านบาท

***ราคาประเมินที่ดินแนวรถไฟฟ้าเพิ่ม 75%

นายเอกวัฒน์ มานะแก้ว รองอธิบดีด้านบริหาร กรมธนารักษ์ กล่าวถึงการเตรียมประกาศใช้บัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินเพื่อใช้ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมปี 2559-2562 ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.59 นั้น ขณะนี้คืบหน้าไปกว่า 80% โดยคาดกว่าภาพรวมราคาประเมินที่ดินใหม่ทั่วประเทศปรับเฉลี่ยขึ้น 25% เช่น ในพื้นที่ภาคเหนือพบว่า จังหวัดน่านมีการปรับขึ้นเฉลี่ย 111 % โดยราคาประเมินรอบปัจจุบันสูงสุดอยู่ที่ 45,000 บาท/ตารางวา แต่รอบใหม่ปรับขึ้นสูงสุด 85,000 บาท/ตารางวา

ส่วนในภาคตะวันออกเฉลียงเหนือ พบว่า จังหวัดเลย มีการปรับขึ้นสูงสุดถึง82% โดยราคาประเมินรอบปัจจุบันสูงสุดอยู่ที่ 40,000 บาท/ตารางวา แต่รอบใหม่ปรับขึ้นสูงสุด 55,000 บาท/ตารางวา เป็นต้น

สำหรับพื้นที่ในกรุงเทพฯ มีการปรับขึ้นเฉลี่ยที่ 15.78% โดยอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาประเมินที่ดินในกรุงเทพฯพบว่า พระโขนง ราคาประเมินเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 33.54% รองลงมาเป็นจตุจักร 29.75% บางกะปิ 27.73% ลาดพร้าว 25.60% ลาดกระบัง 22.63% เป็นต้น

ในส่วนของพื้นที่แนวเส้นรถไฟฟ้าคาดว่าจะปรับขึ้นเฉลี่ย 75% แยกเป็น รถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อน จากตร.วาละ 1 แสนบาท เพิ่มเป็น 1.5-2.8 แสนบาทต่อตร.วา ราคาเฉลี่ย 2.15 แสนบาทต่อตร.วา รถไฟฟ้าสายสีเขียว โซนราชดำริ สีลม เพิ่มมาอยู่ที่ 7.5-9 แสนบาทต่อตร.วา ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 8.2 แสนบาทต่อตร.วา รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เพิ่มมาอยู่ที่ 1.5-1.9 แสนบาทต่อตร.วา ราคาเฉลี่ย 1.7 แสนบาทต่อตร.วา

โดยจะพบว่าบริเวณจรัญสนิทวงศ์ เพชรเกษม และประชาราษฎร สาย 2 ราคาเพิ่มมากที่สุด รถไฟฟ้าสายสีม่วง (กทม.-นนทบุรี) พบว่า มีการปรับขึ้นของราคาอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว โดยราคาประเมินปรับขึ้นมาอยู่ที่ 2.15-2.4 แสนบาทต่อตร.วา ราคาเฉลี่ย 2.75 แสนบาท รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม รถไฟชานเมือง (วิภาวดี-รังสิต) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.2-2.2 แสนบาทต่อตร.วา เฉลี่ย 1.7 แสนบาทต่อตร.วา และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ พบว่า ราคาประเมินเพิ่มขึ้นไม่มากมาอยู่ที่ 85,000 บาทต่อตร.วา

นอกจากนี้แนวโน้มราคาประเมินที่ดินในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ใน 6 จังหวัด เช่น มุกดาหาร มีการปรับขึ้น 38.12% สงขลา ปรับขึ้น 35% หนองคาย 37.17% ตาก เพิ่มขึ้น 42.65% สระแก้ว เพิ่มขึ้น 24.10% เป็นต้น

"ในขณะนี้กรมฯได้เร่งดำเนินการจัดทำราคาที่ดินรายแปลงเพิ่มขึ้นตามนโยบายของรัฐปัจจุบันทำเสร็จแล้ว 12.6 ล้านแปลงครอบคลุม 17 จังหวัด ยังคงเหลืออีก 19.4 ล้านแปลงที่ต้องเร่งแล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2559 ทั้งนี้คาดว่าต้องใช้งบดำเนินการประมาณ 1,000 ล้านบาท เพิ่มเติมจากงบปกติซึ่งแต่ละปีทำได้แค่ 4 ล้านแปลงต่อปี"
กำลังโหลดความคิดเห็น