xs
xsm
sm
md
lg

ซัดกรธ.ปิดห้องเขียนรธน. ส่อไม่ผ่านประชามติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

"สุริยะใส" จวก กรธ.ปิดห้องเขียนรัฐธรรมนูญโดยไม่ถามความเห็นของประชาชนตามที่เคยบอกไว้ ดักคอคงไม่ใช่เพื่อไม่ให้ผ่านประชามติ ขณะที่กรธ. นัดพิจารณาเรื่องนิติบัญญัติวันนี้ หาข้อสรุปเรื่องระบบการเลือกตั้ง ส.ส. เตรียมทำโพลสอบถามความเห็นประชาชน

นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ในขณะนี้ว่า เป็นการทำงานแบบปิดห้องเขียนรัฐธรรมนูญ โดยไม่ได้สอบถามความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ หรือไม่ได้เปิดเวทีให้สังคมมีส่วนร่วมอย่างที่เคยประกาศไว้ ทำให้การเขียนรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ถอยกลับไปเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญฝ่ายเดียว ซึ่งเมื่อเทียบกับบรรยากาศ และการมีส่วนร่วมในการเขียนรัฐธรรมนูญปี 2550 หรือในกระบวนการของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุด นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่อยู่ในช่วงรัฐบาลรัฐประหารเหมือนกัน ยังดูมีบรรยากาศ และผู้คนมีส่วนร่วมมากกว่านี้
ทั้งนี้ กรธ.ต้องไม่ลืมว่า การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จะผ่านหรือไม่ อาจไม่ใช่ปัจจัยเรื่องเนื้อหาของรัฐธรรมนูญอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องความรู้สึก เป็นเจ้าของด้วย

แม้ร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังยกร่าง จะเป็นเพียงร่างแรกก็ตาม แต่บทเรียนที่ผ่านมา ผู้ร่างรัฐธรรมนูญมักจะถือเอาร่างแรกเป็นหลัก เพราะมาจากความคิด และความต้องการของตนเอง จะไม่ค่อยมีการปรับแก้ใดๆ ภายหลังจากไปรับฟังความเห็นมาแล้วก็ตาม ทำให้น่าเป็นห่วงว่า อารมณ์ร่วมของสังคมที่มีต่อการร่างรัฐธรรมนูญจะลดน้อยถอยลง จนส่งผลให้ไม่ผ่านประชามติ หรือคนไม่ไปลงประชามติก็เป็นไปได้ เว้นเสียแต่ว่า กรธ.ไม่อยากให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

และที่น่าเป็นห่วงอีก หาก กรธ.และ สปท.ไม่มีกลไกทำงานเชื่อมโยงกัน อาจทำให้กระบวนการปฏิรูปเกิดปัญหา สังคมสับสน ไม่รู้จะฟังใครดี ฉะนั้นมีความจำเป็นเร่งด่วนในการประชุมแม่น้ำ 5 สาย วันที่ 28 ต.ค.นี้ จะต้องหาข้อยุติอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ การกำหนดประเด็นปฏิรูปเร่งด่วนที่ไม่ต้องรอรัฐธรรมนูญ การสร้างกลไกขับเคลื่อนร่วมกัน และการออกแบบการมีส่วนร่วมของประชาชน

** แนะให้ส.ว.มาจากสรรหาทั้งหมด

พล.อ.นคร สุขประเสริฐ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และอดีต กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึง การร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ.ว่า การประชุม กรธ.วันนี้ (26 ต.ค.) จะเข้าสู่เรื่องนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ต้องออกแบบให้ดี รูปแบบของการเลือกตั้งส.ส. คงไม่พ้นรูปแบบเดิม ที่มีแบบเขตและบัญชีรายชื่อ อาจจะแตกต่างแค่รายละเอียด ส่วนการได้มาซึ่ง ส.ว. ส่วนตัวอยากให้เป็นแบบการสรรหาทั้งหมด เพราะหากมี ส.ว.ทั้งแบบสรรหา และเลือกตั้งเหมือนรัฐธรรมนูญปี 50 ก็จะกลายเป็นปลาสองน้ำ แบ่งแยกเป็นกลุ่มเป็นก้อนในการทำงานแบบที่ผ่านมา และ ส.ว.แบบเลือกตั้ง ก็จะมีฐานเสียงของพรรคการเมืองในพื้นที่ อาจถูกคุมอำนาจทำงานได้ ไม่เป็นอิสระ
ดังนั้นต้องแยกให้ชัดเจนไปเลย ส.ส. มาจากการเลือกตั้ง ทำหน้าที่ดูแลประชาชน ส่วน ส.ว.มาจากการสรรหา จากทุกกลุ่มอาชีพ มีหน้าที่กำกับดูแลองค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และกลั่นกรองกฎหมาย แต่ทั้งนี้ กระบวนการสรรหาต้องมีประสิทธิภาพ ไม่ถูกแทรกแซง และชี้นำได้ โดยมีตัวแทนจากคนทุกกลุ่มทุกอาชีพ และเมื่อในอนาคตประเทศเรามีความพร้อมทางการเมือง นักการเมืองมี จิตสำนึกและความรับผิดชอบก็ค่อยแก้ให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งแบบประเทศที่เขาพัฒนาแล้วใช้กัน

**ยังไม่สรุปเลือกตั้งเป็นสิทธิหรือหน้าที่

นายเธียรชัย ณ นคร กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึง การกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นสิทธิ หรือหน้าที่ ว่า กรธ.ยังมีความเห็นต่างในเรื่องนี้ โดยส่วนตัวมองว่า หากกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ แล้วประชาชนไม่ทำตามก็จะเจอมาตรการกดดัน เช่น ให้เสียสิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เหมือนที่ผ่านมา จะกลายเป็นว่าเราผลักให้ประชาชนที่ไม่ได้ไปเลือกตั้ง ออกจากกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองหรือไม่ จุดประสงค์ที่กำหนดการเลือกตั้งให้เป็นหน้าที่ เพื่อส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย ก็อาจจะตอบโจทย์ได้แค่ข้อเดียว คือ ทำให้ทุกคนที่มีสิทธิต้องไปเลือกตั้ง แต่ไม่ได้ส่งเสริมให้คนมีส่วนร่วมทางการเมือง

นายเธียรชัย กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวยังคาบเกี่ยวกับการบอยคอตการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 57 อันถือเป็นกรณีตัวอย่าง ที่จะต้องนำมาตั้งโจทย์ว่า เราจะแก้ปัญหาอย่างไรไม่ให้เกิดขึ้นอีก ซึ่งอาจทำได้ด้วยการกำหนดให้คะแนนงดออกเสียง หรือโหวตโน มีนัยยะในทางกฎหมาย คือ ส.ส. ที่จะได้รับเลือกตั้งต้องชนะคะแนนเสียงโหวตโนด้วย เพื่อทำให้ทุกคนอยู่ในระบบ ใครที่อยากบอยคอต หรือไม่อยากเลือกตั้ง ก็จะไปลงคะแนนงดออกเสียง
ด้าน พล.อ.นิวิต ศรีเพ็ญ สมาชิก สนช.และ กรธ. ในฐานะอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ กล่าวถึง การประชุมในวันที่ 26 ต.ค.ว่า อนุฯ จะทำการรายงานผลการศึกษาโครงสร้างอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งรูปแบบ ที่มา และจำนวน ให้ที่ประชุมรับทราบถึงปัญหา ข้อดีและข้อเสีย จากนั้นที่ประชุม ก็จะทำการอภิปรายกันว่า จะเห็นเป็นอย่างไร ก่อนจะทำการกำหนดเป็นโครงเบื้องต้นออกมา แล้วก็นำไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนว่า เห็นเป็นอย่างไร ดังนั้นโครงที่กำหนดออกมา ก็สามารถจะมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขได้อีก ส่วนตัวมองว่า โครงสร้างของฝ่ายนิติบัญญัติ ควร

ต้องดูว่า ที่ผ่านมาคนไทยชอบ พอใจ และเข้าใจ แบบไหน ไม่ควรไปเอาตามแนวทางของฝรั่ง

พล.อ.นิวัติ กล่าวด้วยว่า ตนจะเป็นตัวแทนของ กรธ. ร่วมลงพื้นที่กับโครงการ สนช. พบประชาชน วันที่ 31 ต.ค.นี้ ที่ จ.อุบลราชธานี เพื่อร่วมรับฟังความคิดเห็นและชี้แจงข้อมูลการดำเนินการของกรธ. ต่อการร่างรัฐธรรมนูญ แต่อาจจะไม่ได้ไปร่วมด้วยทุกครั้ง เนื่องจากเรามีบุคคลากรและเวลาที่จำกัด อย่างไรก็ตาม กรธ.ก็ยังมีอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น เปิดกว้างรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายทุกช่องทาง

ส่วนการประชุมแม่น้ำ 5 สาย ในวันที่ 28 ต.ค. นี้ กรธ.คงจะไม่ต้องรายงานความคืบหน้าอะไร เพราะโฆษกฯ ได้ชี้แจงทุกวันอยู่แล้ว อีกทั้งวาระการประชุมทั้งหมดนั้น อยู่ที่นายกรัฐมนตรี

**อนุฯกรธ.เตรียมชงระบบเลือกตั้ง ส.ส.

นายเจษฎ์ โทณะวณิก ที่ปรึกษา กรธ. ในฐานะอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติ เปิดเผยถึงผลการพิจารณาของอนุกรรมการฯ เพื่อเตรียมเสนอข้อมูลให้ที่ประชุม กรธ.ในวันนี้ว่า นายประพันธ์ นัยโกวิท กรธ. ฐานะประธานอนุกรรมการฯ พร้อมด้วยเลขานุการ อนุกรรมการฯ จะเป็นผู้เตรียมประเด็นที่จะนำเสนอ ส่วนตนฐานะที่ปรึกษา จะคอยช่วยเสริมข้อมูลหรือให้รายละเอียด กรณีที่มีการซักถามเพิ่มเติม ขณะที่การศึกษาโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติของอนุกรรมการฯ ที่ผ่านมาได้รวบรวมระบบเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก ทั้งการเลือกตั้งเฉพาะเขต, การเลือกตั้งเฉพาะระบบบัญชีรายชื่อ , การเลือกตั้งระบบเขตผสมกับบัญชีรายชื่อ , ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม และพิจารณาถึงข้อดี ข้อเสีย จุดอ่อน จุดแข็งของการเลือกตั้งส.ส. ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อนำเสนอข้อมูลทั้งหมดให้ที่ประชุม กรธ.พิจารณา และตัดสินใจเลือกระบบที่เหมาะสมกับสังคมไทย และเพื่อให้เกิดระบบปกครองที่เป็นสากล รวมถึงได้รับการยอมรับ ดังนั้นขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่า กรธ. จะเลือกระบบเลือกตั้งส.ส.แบบใด

ทั้งนี้ ระบบนิติบัญญัติตามข้อมูลทั่วไป ที่จะประกอบด้วย เรื่อง ส.ส., ส.ว., บทที่ใช้ร่วมกันของสองสภาฯ, การตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ , การตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หรือการทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารนั้น อนุกรรมการฯยังไม่ได้พิจารณาในส่วนอื่นนอกจากประเด็นของ ส.ส. เพื่อให้เป็นไปตามที่ที่ประชุมกรธ. มอบหมายให้เน้นการศึกษาเรื่องส.ส.เป็นหลัก

**กรธ.ใช้วิธีทำโพลถามความเห็นปชช.

นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในฐานะ ประธานอนุกรรมการประชาสัมพันธ์และสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการทำงานว่า หลังจากนี้ ทางอนุกรรมการฯ จะเริ่มทำการสำรวจความคิดเห็นกับประชาชนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ (โพล) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงาน และติดต่อกับสำนักโพลในการขอความร่วมมือมาร่วมทำการสำรวจความคิดเห็นในครั้งนี้ ส่วนรูปแบบของคำถามก็จะเน้นคำถามหลักๆ ที่น่าสนใจ อาทิ ระบบการเลือกตั้ง เป็นต้น

นอกจากนี้ เราก็จะมีการเปิดเว็บไซต์ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเสนอความคิดเห็นผ่านช่องทางดังกล่าวได้สะดวก ง่าย และรวดเร็ว รวมทั้งอาจมีการจัดเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกกลุ่มตามสถานที่ต่างๆให้มากที่สุด โดยกระบวนการทั้งหมดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ กรธ.ได้รับทราบว่าประชาชนคิดอย่างไร มีเหตุผลอย่างไร และเหตุผลของประชาชนกับ กรธ. เข้าใจตรงกันหรือไม่ รวมทั้งสามารถนำไปปฏิบัติได้แค่ไหน

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญเวลานี้คือต้องทำให้เกิดความเข้าใจที่แท้จริง และเกิดการยอมรับร่วมกัน มันคงไม่มีใครถูกหมดหรือผิดหมด แต่คำถามคือ สิ่งที่ดีที่สุด เป็นที่ยอมรับแบบมีเหตุและผลในแต่ละเรื่องนั้นควรจะมีรูปแบบอย่างไร

**จี้ สปท.จัดลำดับความสำคัญปฏิรูป

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง เรื่องของการร่างรัฐธรรมนูญ ของกรธ.ว่า ควรจะเก็บสิ่งที่เป็นสิ่งดีของคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุดนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ เอาไว้ด้วย แต่เรื่องใดที่มีความสุ่มเสี่ยง และอ่อนไหว กรธ.ก็ต้องยิ่งให้ความสำคัญ อาทิ เรื่องที่มานายกรัฐมนตรี ว่า กรธ. จะเอาอย่างไรก็ต้องหารือกัน ระบบการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร จะเป็นแบบสัดส่วนผสม หรือจะเป็นแบบหนึ่งคนหนึ่งเสียง พรรคประชาธิปัตย์ ก็พร้อมจะให้ความเห็นเพื่อประกอบการทำงานของกรธ. โดยคณะทำงานของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะเสนอความเห็นของพรรคไปยัง กรธ. ได้ภายในสัปดาห์หน้า

นายชวนนท์ ยังกล่าวถึง กรณีที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้เชิญอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เข้าไปชี้แจงเรื่องการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน ว่า ประชาชนทุกคนควรได้ทราบว่าวาระปฏิรูปที่ สปช. ส่งไม้ต่อไปยัง สปท. มีเรื่องอะไรบ้าง และมีเรื่องใดที่ สปท. จะลำดับความสำคัญ เพื่อให้มีแผนปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ทั้งนี้ สปท. มีจำนวน 200 คน ถ้าต่างคนต่างเสนอเรื่องที่ตัวเองให้ความสนใจ คิดว่าการปฏิรูปคงจะเดินหน้าไปไม่ได้ และจะต้องไปเริ่มต้นกันใหม่ทุกครั้ง

สำหรับประเด็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวนั้น ตนอยากให้สมาชิกสปท. ให้ความระมัดระวังในการให้ความเห็น อาทิ เรื่องนิรโทษกรรม ตนขอควรจะลำดับความสำคัญไปตามขั้นตอนของสปท. ขอแนะว่าอย่าให้สมาชิก สปท. คนใดหยิบยกเรื่องนี้มาเป็นพิเศษ เพราะอาจทำให้สังคมแคลงใจได้ เชื่อว่าหลายฝ่ายไม่ได้ปฏิเสธแนวทางของการนิรโทษกรรม แต่การนิรโทษกรรม ต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริงใจ และมีการหารืออย่างจริงจังในทุกฝ่าย ผู้ที่มีส่วนได้เสียกับเรื่องการนิรโทษกรรมยิ่งไม่ควรหยิบยกเรื่องดังกล่าวมาพูด เพราะจะเป็นจุดสุ่มเสี่ยงที่จะให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาได้

ทั้งนี้ตนเชื่อว่า สปท.ไม่มีอำนาจเสนอการนิรโทษกรรมได้ด้วยตัวเอง ก็ต้องไปดูกันว่าที่ประชุม สปท. ได้จัดลำดับความสำคัญของเรื่องนี้ไว้อย่างไร และที่ผ่านมาที่ประชุม สปช.ได้หาข้อสรุปเรื่องนี้ไว้อย่างไร

** สปท.เตรียมตั้งกมธ.วิสามัญ 5 คณะ

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และกมธ. ยกร่างข้อบังคับการประชุม สปท. กล่าวว่า ขณะนี้ สปท. ยังไม่ได้มีการพูดคุยถึงผู้ที่จะมาเป็นประธาน กมธ.ปฏิรูปแต่ละคณะ คาดว่าจะมีการหารือในเรื่องดังกล่าวภายหลังมีกฎข้อบังคับของสปท. แล้ว ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการร่างฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 2 พ.ย.นี้ จึงจะได้ทราบว่ามีคณะ กมธ.ที่จะดำเนินการปฏิรูปในเรื่องใดบ้าง

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กมธ.ยกร่างข้อบังคับ สปท. ก็มีการพูดคุยถึงเรื่องนี้ โดยคาดว่าจะมี 11 คณะ ตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ระบุไว้ อีกทั้งจะมีการเพิ่มคณะ กมธ.วิสามัญเพื่อมาดำเนินงานเรื่องเร่งด่วน 5 คณะ ส่วนจะมีเรื่องใดบ้างก็ต้องรอให้ที่ประชุม สปท. ลงมติ ในส่วนขั้นตอนของการคัดเลือกสมาชิกเพื่อให้ปฏิรูปในด้านต่างๆ นั้นจะเปิดให้สมาชิก สปท.ลงสมัครเพื่อเลือกว่าตนจะปฏิรูปในด้านใด ซึ่งหากคณะใดที่สมาชิกลงสมัครเกินจำนวนที่กำหนดไว้ก็อาจจะต้องกำหนดวิธีการพิจารณาคัดเลือกและเฉลี่ยสมาชิกให้ไปดำเนินงานอื่นๆ ตามความสามารถและความเหมาะสม

** "บิ๊กตู่"ถกแม่น้ำ5สายเดินหน้าปฏิรูป

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง การประชุมแม่น้ำ 5 สาย ประกอบด้วย คสช. คณะรัฐมนตรี (ครม.) และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 28 ต.ค.นี้ ที่รัฐสภา ว่า เนื่องจาก ทั้ง กรธ. 21 คน และ สปท.200 คน ซึ่งมีการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว ) พ.ศ.2557 ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมนั้น ยังไม่เคยพบกันเลย รวมถึงงานทั้งหมดของรัฐบาลนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องก็พูดกันผ่านสื่อเท่านั้น จึงจำเป็นต้องพบกัน ซึ่งทางพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช. ต้องการส่งสารอะไรบางอย่าง เพื่อบอกความประสงค์ว่าที่เข้ามาขับเคลื่อนนั้น เป็นอะไร อย่างไร เพราะ สมาชิกสภาบางคน มีภาระในหน้าที่หนักหน่วงมาก

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง จุดประสงค์ในการนัดประชุมดังกล่าวว่า ต้องการที่จะนำเสนอข้อมูลซึ่งกันและกัน เพื่อให้การปฏิบัติงานของแม่น้ำ 5 สาย สอดคล้องกัน ซึ่งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)จะต้องนำไปวางแผนต่อ โดยการวางแผนต้องนำข้อมูลเดิมของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มาเป็นหลัก นอกจากนี้ แต่ละส่วนของแม่น้ำแต่ละสาย จะมีวิปเพื่อประสานงานกันและจะมีวิปเพิ่มขึ้นมาอีก1 คณะ เป็นวิปร่วม 3 สายคือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสปท. เพื่อให้การทำงานประสานสอดคล้องกัน และ
เป็นไปในทิศทางเดียวกัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น