ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สัญญาณแปลก! “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่ง “เนติบริกร” นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะยาสามัญประจำรัฐบาล วางแผนสู้ศึก 12 คดี ที่รัฐเป็นจำเลย 6 คดี และเป็นโจทก์ 6 คดีเต็มสูบ
เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ!!!
แน่นอนโดยอาการทุกรัฐต้องทำหน้าที่ดังกล่าวแน่ แต่ท่าทีของ “บิ๊กตู่” เหมือนมีอะไรในกอไผ่มากกว่านั้น โดยเฉพาะหากพลิกแฟ้ม 12 คดีหนังหมา ที่ลิสต์รายชื่อกันออกมา นอกจากมูลค่าที่เจ๊งไม่บันยะบันยัง ตัวละครที่เกี่ยวพันกับเรื่องนั้นๆ หลายคนยังโลดแล่นอยู่บนฟลอร์การเมือง โดยเฉพาะสองขั้วการเมืองใหญ่อย่าง “เพื่อไทย - ประชาธิปัตย์”
มหากาพย์ปล้นกลางแดด
มหากาพย์เรื่องแรก “ดอนเมืองโทลล์เวย์” เป็นเรื่องเป็นราวหลังจาก “บริษัทวอลเตอร์ บาว” ที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญาอะไรกับกรมทางหลวง แต่เป็นเพียงหนึ่งในผู้ถือหุ้นในบริษัทเอกชนที่เป็นผู้รับสัมปทานจากรัฐ ซึ่งขายหุ้นในมือออกไปนานโขแล้วด้วยซ้ำ ลุกขึ้นมาฟ้องรัฐบาลไทย จนต้องห้ำหั่นกันในชั้นอนุญาโตตุลาการและศาลปกครองสูงสุด โดยเรื่องนี้อุบัติขึ้นในปี 2532 โดยกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ได้เปิดให้เอกชนเข้ารับสัมปทานก่อสร้างและให้บริการทางยกระดับดินแดง - ดอนเมือง ระยะทาง 15.4 กม.มีอายุสัญญา 25 ปี สิ้นสุดในปี 2557
จากนั้นเริ่มมีปัญหาเรื่องสัญญามาเรื่อยๆ ระหว่างรัฐกับเอกชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า หรืออัตราค่าทางด่วน “รัฐ” ต้องอ้อนแอ้นแก้ไข “สัญญาทาส” มาหลายยุค แบบขายผ้าเอาหน้ารอด ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน-ชวน หลีกภัย-บรรหาร ศิลปอาชา-ชวน 2-ทักษิณ ชินวัตร-พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ กระทั่งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
จะว่า ยุคที่บัดซบสุดๆ หนีไม่พ้นยุค “ทักษิณ” ที่ไม่ยอมอนุมัติให้ปรับค่าผ่าน แม้จะมีสัญญาสัมปทานล็อกคออยู่ก็ตาม โดยดื้อตาใสให้เก็บอัตราถูก ซึ่งแน่นอนเป็นเรื่องดีกับประชาชน แต่จุดประสงค์แห่งการ “ผิดสัญญา” ครั้งนั้น แท้จริงแล้วคือ เพื่อคะแนนนิยมในการเลือกตั้งครั้งต่อไปล้วนๆ ส่วนยุคไหนใครเป็นอย่างไร จุดประสงค์เพื่ออะไร ต้องย้อนไปถาม “รมว.คมนาคม” แต่ละสมัยผู้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ไปลงนามแก้ไขสัญญานั่นแล
โดยเฉพาะ “ซาเล้ง” โสภณ ซารัมย์ อดีต รมว.คมนาคม สายตรง “ยี้ห้อย” เนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย กรณีค่าทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ในสมัย “รัฐบาลมาร์ค” ที่ถูกประชาชนฟ้องศาลปกครองกลาง ซึ่งก็มีเหตุมาจากความเสียเปรียบเรื่องสัญญาที่แก้ไขไม่รู้กี่รอบแบบที่เอกชนรับพุงกาง ส่วนรัฐและประชาชนมองตาปริบๆ มีสัญญาล็อก ไม่ขึ้นก็เป็นเรื่องเป็นราวอีก เลยย่อมโดนประชาชนเขกกระโหลกด่าเช็ด แต่สุดท้ายศาลปกครองกลางเห็นว่า ขึ้นได้ เลยรอดตัวไปในชั้นนั้น
ค่าปรับแสนล้านมหากาพย์ไอทีวี
“มหากาพย์ไอทีวี” อดีตอันขมขื่นของ “ไทยพีบีเอส” ก็เป็นเรื่องสัญญาอีกตามเคย สลับกันฟ้องระหว่างรัฐกับคู่สัญญา ย้อนกลับไปตอนปี 2547 “บริษัท ชินคอร์ปฯ” แจ้นไปยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการขอแก้ไขสัญญาขอลดค่าสัมปทานที่ต้องจ่ายให้รัฐ โดยสำออยว่า เอกชนรายอื่นจ่ายต่ำกว่า ก่อนจะกำชัยจากที่ต้องจ่ายปีละ 1 พันล้านบาท เหลือแค่ 230 ล้านบาท หนำซ้ำให้แก้ไขสัดส่วนการออกอากาศรายการสาระต่อรายการบันเทิง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการต่อศาลปกครองกลาง ก่อนเกมจะพลิก ศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของอนุญาโตตุลาการ
“ไอทีวี” ถูกพิพากษาให้เสียค่าปรับจากการผิดสัญญาสัมปทานและการเปลี่ยนแปลงผังรายการ โดยคิดรายวัน วันละ 100 ล้านบาท นับตั้งแต่เริ่มมีการปรับผังรายการ ระยะเวลา 2 ปี รวมแล้วราวๆ แสนล้านบาท ต่อมาเดือนก.พ.ในปี 2550 “ครม.สุรยุทธ์” มีมติเฉียบขีดเส้นตายให้จ่ายประมาณ 1 แสนล้านบาทได้ภายในวันที่ 7 มี.ค. ไม่อย่างนั้นเลิกสัมปทานทันที นักข่าวไอทีวียุคนั้นนำโดย “จตุรงค์ สุขเอียด” กับพวกรวม 4 คน กระเตงไปขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่ง แต่รับประทาน “แห้ว” เพราะศาลยกฟ้อง
อภิมหาค่าโง่คลองด่าน 1 หมื่นล้าน
อีกหนึ่งความอัปยศจากน้ำมือนักการเมืองขี้ฉ้อ กรณี “ทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน” ที่รัฐต้องจ่าย “ค่าโง่” ให้กับเอกชน ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ประมาณ 10,000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยวันละ 2 ล้านบาท ก่อนจะเจรจาลดหย่อนกันภายหลัง
ปฐมบทเรื่องนี้ย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ครม.มีมติเห็นชอบการจัดการน้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษ จ.สมุทรปราการ โดยกลุ่ม “บริษัทเอ็นวีพีเอสเคจี” ชนะการประมูล เพราะมีสเปกตรงกับของกรมควบคุมมลพิษแบบ “เป๊ะเฟร่อ”
ซึ่ง “กลุ่มบริษัทเอนวีพีเอสเคจี” ประกอบด้วย บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ของตระกูลชวนะนันท์, บริษัท สี่แสงการโยธา จำกัด ผู้ก่อตั้งคือ “บรรหาร ศิลปอาชา” ปัจจุบันเป็นของตระกูลวงศ์จิโรจน์กุล, บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง และบริษัท ประยูรวิศว์การช่าง จำกัด ผู้ก่อตั้งคือ นายวิศว์ ลิปตพัลลภ บิดาของ “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในขณะนั้น
จุดเริ่มต้นของความบรรลัยเกิดจากกรณีที่ “วัฒนา อัศวเหม” อดีต รมช.มหาดไทย ไปขืนใจชาวบ้านให้ขายที่ดินแล้วมาย้อมแมวขายในราคาแพงต่อรัฐเพื่อทำโครงการในช่วงที่ตัวเองดำรงตำแหน่ง ต่อมาถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลพร้อมกับนายสุวัจน์ แต่เมื่อถึงชั้นศาลศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง “วัฒนา” รับไปโทษจำคุกไปเต็มเม็ดคนเดียว 10 ปี ก่อนจะเหาะหนี ขณะที่คนอื่นๆ รอดแบบค้านสายตาประชาชน กระทั่งเอกชนหอบเอาความทุกข์ไปร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้รัฐจ่ายค่าเสียหายจนชนะ
จนถูกขนานนามว่า เป็นคดีที่รัฐแพ้แบบ “โง่ๆ”
ประติมากรรมเสาปูนหมื่นล้าน
อนุสาวรีย์คอร์รัปชั่นที่ปักคาริมทางถนนวิภาวดีมาจนแทบจะเป็นสัญลักษณ์ของ “กทม.” อย่าง “โครงการโฮปเวลล์” หรือโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร ที่ถูกขนานนามว่า เป็นคดีทุจริต “รุ่นดึก” เริ่มต้นในยุคของ “น้าชาติ” พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน” ที่ต้องการแก้ปัญหาการจราจร ซึ่ง บริษัท โฮปเวลล์โฮลดิงส์ ของนายกอร์ดอน วู เป็นผู้ชนะการประมูล และมีการลงนามในสัญญาโดย “มนตรี พงษ์พานิช” อดีต รมว.คมนาคม
แต่ต้องมาถูกล้มใน “รัฐบาลอานันท์” หลังจากเข้าไปตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลของโครงการ ครั้นมาถึง “รัฐบาลชวน” ก็ยังพิศวาสไปปัดฝุ่นสานต่อใหม่ แต่ไปไม่รอด เพราะโครงการเดินไปอย่างล่าช้า เนื่องจากในสัญญาไม่ได้ระบุระยะเวลาในการดำเนินการเอาไว้ว่าจะเสร็จเมื่อไร รัฐเองก็ “ใบ้รับประทาน” เพราะ “เขลา” เองตอนทำสัญญา
จนมาถึงยุค “รัฐบาลบิ๊กจิ๋ว” ในปี 40 ได้สั่งให้ยกเลิกสัญญากับ “โฮปเวลล์” และมาเสร็จสิ้นใน “รัฐบาลชวน 2” เป็นอัน “อวสานเสาหิน” จนนำมาสู่การฟ้องร้องเรียนค่าเสียหายจากรัฐ ซึ่งเป็นอีกครั้งที่เอกชนชนะ หลังคณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดเมื่อปี 51 ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยคืนเงินชดเชยเป็นเงิน 1.1 หมื่นล้านบาท
ศึกของคนเคยรักกัน “เอไอเอส-ทีโอที”
ถูกเรียกตั้งสมญานามว่า สัมปทาน “น้ำผึ้งขม” เป็นเรื่องข้อพิพาทระหว่างบริษัท ทีโอที จำกัด มหาชน กับบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ “เอไอเอส” กรณีแก้ไขส่วนแนบท้ายในสัญญาสัมปทานที่ทั้งคู่ทำกันไว้จากทั้งหมด 7 ครั้ง โดยมีปัญหาในครั้งที่ 6 และ 7 ซึ่งครั้งที่ 6 มีการแก้ไขสัญญาปรับลดส่วนแบ่งรายได้จากระบบบัตรเติมเงิน (พรีเพด) ให้เหลือ 20% ตลอดอายุสัญญาสัมปทานที่จะสิ้นสุดลงใน 30 ก.ย.58 จากเดิมที่คิดส่วนแบ่งรายได้ต้องจ่ายในอัตราขั้นบันไดสูงสุดที่ 35% และครั้งที่ 7 คือ การให้เอไอเอสนำโครงข่ายไปให้ผู้ให้บริการรายอื่นร่วมใช้เครือข่าย (โรมมิ่ง) ได้ และให้เอไอเอสนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาหักออกจากรายได้ที่นำส่งตามจริง ซึ่งในครั้งนั้นเอไอเอสได้นำโครงข่ายของบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ดีพีซี) มาใช้
เรื่องนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติชี้มูลว่า การแก้ไขสัญญาดังกล่าว อาจจะทำทีโอทีซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเสียผลประโยชน์ราว 77,000 ล้านบาท ซึ่งสถานการณ์ล่าสุดทั้งคู่เคลียร์กันไม่ลง “เอไอเอส” ไม่ยอม วิ่งไปพึ่งการตัดสินในชั้นอนุญาโตตุลาการ
น้ำผึ้งที่เคยหวานกันมายาวนานกลายเป็น “ขมสนิท”
ค่าโง่ทางด่วนบูรพาวิถี
เรื่องถนนหนทางมีปัญหากันทุกยุคทุกสมัย “คดีสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา-บางพลี-บางปะกง” หรือคดี “คดีค่าโง่ทางด่วนบูรพาวิถี” เรื่องนี้เป็นข้อพิพาทตั้งแต่ปี 2543 ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับกลุ่มบีบีซีดี ที่ "ช.การช่าง" ร่วมทุน ที่สร้างถนนเส้นนี้มากับมือ 25,193 ล้านบาท สืบเนื่องจากปัญหารอยร้าวในส่วนของฐานรากโครงการ ที่ตรวจสอบพบตั้งแต่วันเปิดใช้บริการ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2543 จน “ช.การช่าง” ต้องควักกระเป๋าซ่อมเองไปหลายบาท จนมีการเรียกร้องกันไปมา โดยทั้งคู่สู้กันหลายยกแบบพลิกไปพลิกมา ตั้งแต่อนุญาโตตุลาการ ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ และศาลฎีกาที่ตัดสินให้ กทพ.ชนะ และ “ช.การช่าง” ต้องจ่ายค่าเสียหาย
แต่ “ช.การช่าง” ไม่ยอมยื่นฟ้องศาลแพ่ง ก่อนจะคว้าชัยในศาลชั้นต้น โดยศาลตัดสินให้ กทพ.ชดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยมูลค่า 6.9 พันล้านบาท แต่ต้องพลิกกลับอีกครั้งเมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่า “ช.การช่าง” ยอมรับความเสี่ยงเกี่ยวกับภาระค่าใช้จ่ายในการออกแบบและก่อสร้างที่เกิดขึ้นในภายหลังเอง
งานนี้สุดท้ายเลยต้องรอดู ผลออกมาใครจะเป็น “คนโง่”
“ภาษีบุหรี่” ตราบาปนักการเมือง
อีกคดีที่น่าสนใจเพราะคนเพื่อไทยอย่าง “เป็ดเหลิม” ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกรัฐมนตรี กระโดดเชียร์ให้รีบสางกับเขาด้วยคน หลังเคยอภิปรายไม่ไว้วางใจ “รัฐบาลอภิสิทธิ์” ตอนเป็นฝ่ายค้านมากับมือ กรณีบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด นำเข้าบุหรี่ ยี่ห้อมาร์ลโบโร่ และยี่ห้อแอลแอนด์เอ็ม จากประเทศฟิลิปปินส์ ระหว่างปี 2546 -2550 ซึ่งอยู่อัยการสูงสุด (อสส.) อยู่ระหว่างพิจารณาว่า จะฟ้องร้องทางอาญาและเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกรณีสำแดงการนำเข้าบุหรี่จากต่างประเทศอันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร จนเป็นเหตุให้รัฐเสียประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี 68,881 ล้านบาท
คดีนี้จัดเป็นคดีการเมืองไปแล้ว เป็นอาวุธลับที่ “พรรคเพื่อไทย” ไว้เจาะยางพรรคประชาธิปัตย์ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะ “เกียรติ สิทธีอมร” อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย ที่ถูกมองว่า ทำหน้าที่คล้ายกับทนายให้กับบริษัทดังกล่าว เข้าไปแทรกแซงจนอัยการมีความเห็นไม่สั่งฟ้องในช่วงนั้น ก่อนจะถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ยุคกิ้งก่าเปลี่ยนสี ปัดฝุ่นเอามาทำใหม่
“จำนำข้าว” สถิติอภิมหาความพินาศ
ขณะที่คดีใหม่ๆ แผลสดๆ เมื่อไม่นานมานี้ คงต้องยกให้คดีละเว้นไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวจนก่อให้เกิดความเสียหายหลายแสนล้านบาท และดูท่าจะไม่หยุดนิ่งถ้าข้าวขายไม่ออกไปเรื่อยๆ ของ “หนูปู” น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ “รัฐบาลบิ๊กตู่” เล็งๆ จะออกคำสั่งทางปกครองยึดทรัพย์อยู่วันนี้วันพรุ่ง ขณะนี้ยังไม่รู้แน่ชัดว่า ยอดเท่าไหร่ แต่หากดูจากความพินาศแล้ว ทั้งจากที่ป.ป.ช.ชี้มูล และอนุกรรมกรปิดบัญชีที่สรุปมากี่ทียอดพุ่งปรี๊ด บอกเลย แสนล้านต่ำๆ สำหรับนายกฯหญิงคนแรก
จีทูเจี๊ยะย่อยเป็น 3 กรณี
คาบเกี่ยวกับการเจ๊งของข้าว ต่อด้วย “เจี๊ยะทูเจี๊ยะ” ในโครงการเดียวกัน ที่ “บุญทรุดศิษย์เจ๊ ด.” บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ กับพวก สมรู้กันแอบอ้างบริษัทจากจีนที่แท้จริงไม่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐบาลจีนเลยมาซื้อข้าวแบบจีทูจี แต่ที่ไหน ล่องหน เพราะเวียนเทียนกันอยู่ในต่างประเทศ ตอนนี้รอกระทรวงพาณิชย์เคาะออกมา
รายที่จะโดนหามไปชดใช้หนี้บาป ยังมี “ภูมิ สาระผล” อดีตรมช.พาณิชย์ ที่ว่ากันว่าเป็นตัวเป้งเหมือนกัน ก็รอสรุปว่า จะโดนเท่าไหร่
ส่วนอีกท่อนหนึ่งเป็นภาคเอกชนที่ร่วมหอลงโลงกับขบวนการ “เจี๊ยะทูเจี๊ยะ” ต่อคิวจ่ายค่าเสียหายแยกกันที่ “ศาลแพ่ง” คนละวิธีกับ “บุญทรง” เพราะไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ รอสรุปตัวเลขที่ชัดอีกครั้งเหมือนกัน และต้องว่ากันยาวในชั้นศาล
คดีกองทัพ-พวกพ้องอย่าตกหล่น
รวมๆ แล้ว 12 คดี มูลค่ามันสูงพอที่จะนำไปพัฒนาประเทศในหลายๆ ด้านได้อย่างสบาย หากไม่ต้องสูญเสียไปกับการฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือความไร้สำนึกรับผิดชอบของคนบางคนหรือกลุ่มคนบางกลุ่ม
กระนั้น สิ่งที่น่าจับตายิ่งกว่าคือ นอกจากการต่อสู้คดีเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศแล้ว เรื่องนี้มันกำลังเป็นส่วนหนึ่งของจุดเปลี่ยนการเมืองไทยหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อมันคาบเกี่ยวกับนักการเมืองในปัจจุบัน หรือนี่อาจกำลังเป็นความต้องการล้างบางของใครบางคน หรือเป็นเพียงแค่การข่มขู่เพื่อให้นักการเมืองผวาในชนักปักหลังที่ตัวเองมีเท่านั้น
อย่าลืมว่า ยังมีอีก 40 กว่าคดีที่รอจะต่อแถวจาก 12 คดีนี้ ที่รัฐบาลเตรียมจะพิจารณา ซึ่งแน่นอนว่า มันจะเกี่ยวข้องกับการเมืองหลายยุคหลายสมัยที่ล้วนแต่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งในปัจจุบัน
เพียงแต่ว่า ใน 40 คดีที่เหลือ มันจะเจาะจงนักการเมืองเกินไปหรือไม่ เพราะในอดีตสิ่งที่ไม่ชอบมาพากลในกองทัพก็ไม่น้อยเหมือนกัน มันจะเห็นเจตนากันชัด
ไม่รู้ว่า งานนี้คนดีจะกลัว “ความดี” ตัวเองด้วยหรือเปล่า.